© 2017 Copyright - Haijai.com
มันแน่นอกต้องยกออก การตรวจเต้านม
ปัญหาของสตรีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยท้องนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแล้ว พบว่าบ่อยครั้งมักเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเต้านม เพราะถึงแม้จะเป็นอวัยวะที่อยู่ต่างที่ แต่ต่างก็ตอบสนองต่อฮอร์โมนจากรังไข่เหมือนๆ กัน
ปัญหาของเต้านมที่พบส่วนใหญ่ มักไม่ใช้มะเร็ง และในแต่ละช่วงอายุก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสามารถจำแนกความผิดปกติของเต้านม แบ่งตามกลุ่มอายุออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
วัยเจริญพันธุ์ตอนต้น (อายุระหว่าง 15-25 ปี)
พยาธิสภาพของเต้านมที่พบได้บ่อยในวัยนี้ ได้แก่ เนื้องอกชนิดธรรมดา ที่เรียกว่า fibroadenoma ซึ่งตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ไม่สัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม โดยอาจพบเป็นก้อนเดี่ยวหรือหลายก้อนก็ได้ ขนาดมักโตไม่เกิน 2-3 เซนติเมตร แต่ในบางกรณีอาจมีขนาดใหญ่มากได้ (giant fibroadenoma) เมื่อคลำดูจะพบว่าเป็นเนื้อตันๆ ค่อนข้างแข็ง ผิวด้านนอกเรียบ แต่มักคลำพบร่องที่ผิว กลิ้งไปมาได้ และไม่ทำให้เกิดการบุ๋มของหัวนม หรือผิวหนังโดยรอบ พบว่าเนื้องอกชนิดนี้ ครึ่งหนึ่งสามารถยุบไปได้เอง แต่หากตรวจติดตามอาการแล้วพบว่า เนื้องอกมีขนาดโตขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ทำการตัดชิ้นเนื้อ โดยใช้เข็มเจาะดูด (fine needle aspiration : FNA หรือ core needle biopsy; CNB) หรือตัดทั้งก้อนออก เพื่อส่งตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาต่อไป
วัยเจริญพันธุ์ตอนกลาง (อายุระหว่าง 25-40 ปี)
พบว่าเนื้องอก fibroadenoma ยังคงเป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยในวัยนี้ และเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาที่พบได้บ่อยที่สุดของเต้านมอีกด้วย นอกจากเนื้องอกแล้ว ปัญหายอดฮิตในวัยนี้ ก็คือ อาการเจ็บเต้านม (mastalgia) จากข้อมูลทางสถิติพบว่า 3 ใน 4 ของสตรีทั้งหมดต่างก็เคยประสบปัญหานี้กันมาแล้ว โดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ดังนั้น อาการเจ็บเต้านม จึงมักสัมพันธ์กับรอบประจำเดือน ที่เรียกว่า cyclic mastalgia ซึ่งมักพบในช่วงก่อนมีประจำเดือน และอาจกินระยะเวลายาวนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ได้ โดยมักมีอาการคัดตึง หนัก ถ่วง และเจ็บที่เต้านมทั้งสองข้าง โดยทั่วไปหากตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แพทย์ก็มักให้การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ลดการบริโภคชา กาแฟ และช็อกโกแลต การใส่ชั้นในชนิดที่ช่วยโอบพยุงเต้านม รับประทานน้ำมันพริมโรส รับประทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs และหยุด รับประทานยาฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น ส่วนกรณีที่อาการเจ็บเต้านม มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมนโปรแลคติน แพทย์มักให้การรักษาด้วยการรับประทานยา bromocriptine และอาจจำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป
วัยเจริญพันธุ์ตอนปลาย (อายุระหว่าง 35-55 ปี)
อาการเจ็บเต้านม (mastalgial) ยังคงพบได้ประปรายในสตรีวัยนี้ แต่ไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน จึงเรียนกว่า noncyclic mastalgia โดยมักมีอาการปวดแสบเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคกับอาการปวดจากสาเหตุอื่น เช่น กล้ามเนื้อหน้าอกอักเสบ กระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกอักเสบ และภาวะอักเสบติดเชื้องูสวัด เป็นต้น การรักษาอาการเจ็บเต้านมชนิดนี้ที่ได้ผลดีก็คือ การรับประทานยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs
ความผิดปกติของเต้านมอีกประการที่พบได้บ่อยในวัยนี้ ได้แก่ ถุงน้ำในเต้านม (fibrocystic change) ซึ่งตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงมักพบว่ามีหลายก้อนในเต้านมทั้งสองข้าง ร่วมกับอาการเจ็บเต้านมตามรอบประจำเดือน การตรวจวินิจฉัยในกรณีนี้ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจดูลักษณะก้อน โดยใช้อัลตราซาวนด์ หรือเอกซเรย์แมมโมแกรม ซึ่งหากตรวจพบลักษณะที่น่าสงสัย ต้องตรวจยืนยัน ด้วยการดูดน้ำจากภายในก้อนออกมาส่งตรวจทางเซลล์วิทยา (FNA) และหากน้ำที่ดูดออกมาได้มีลักษณะผิดปกติ หรือพบก้อนเนื้ออยู่ภายในถุงน้ำ หรือก้อนยังคงไม่ยุบ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป โดยทั่วไปภาวะนี้ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดซ้ำได้จนกว่าสตรีจะเข้าสู่ภาวะวัยทอง หรือเกิดซ้ำได้ในช่วงวัยทองหากสตรีผู้นั้น รับประทานฮอร์โมนทดแทน ดังนั้นสตรีทุกคนที่มีประวัติถุงน้ำในเต้านม จึงควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้ง โดยแนะนำให้ตรวจภายหลังจากประจำเดือนหยุด หากคลำพบก้อนหรือถุงน้ำในเต้านม ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
อาการเจ็บเต้านมที่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือนที่เรียกว่า cyclic mastalgia มักพบในช่วงก่อนมีประจำเดือน โดยมักมีอาการคัดตึง และเจ็บที่เต้านมทั้งสองข้าง โดยทั่วไปหากตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แพทย์ก็มักให้การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การใส่ชั้นในชนิดที่ช่วงโอบพยุงเต้านม ลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ลดการบริโภคชา กาแฟ และช็อกโกแลต เป็นต้น
เทคนิคการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
การตรวจเต้านมด้วยตนเองนั้นมีความสำคัญ เพราะช่วยให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้อย่างทันท่วงที โดยพบว่าราวครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ได้รับการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้ในขณะที่ร้อยละ 40 ได้รับการวินิจฉัยด้วยการตรวจเอกซเรย์แมมโมแกรม และอัตราซาวนด์ และมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์
เทคนิคการตรวจเต้านม
1.ยืนหรือนั่งอยู่หน้ากระจก สังเกตลูกดูลักษณะเต้านมทั้งสองข้างว่าสมมาตรกันหรือไม่ มีรอยบุ๋มที่หัวนมหรือผิวหนังโดยรอบหรือเปล่า การยกแขนขึ้นเหนือศีรษะหรือเอามือวางบนสะโพก จะช่วยให้เห็นรอยบุ๋มได้ชัดเจนขึ้น
2.คลำเต้านมในท่าโน้มตัวมาด้านหน้า โดยใช้นิ้วชี้นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือด้านตรงข้าม เริ่มคลำตั้งแต่บนลงล่าง จากระดับกระดูกไหปลาร้าลงมาจนถึงใต้ราวนม และจากด้านในออกด้านนอก เริ่มจากกระดูกหน้าอกจนถึงสีข้างและบริเวณรักแร้ โดยคลำอย่างทั่วถึงทั้งสองข้าง
3.พบว่าช่วงเวลาที่สะดวกและเป็นส่วนตัว เหมาะแก่การตรวจเต้านมด้วยตนเองคือ ขณะอาบน้ำ
นอกเหนือจากอาการผิดปกติ ซึ่งแยกประเภทตามกลุ่มอายุดังกล่าวข้างต้นแล้ว ความผิดปกติที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในทุกกลุ่มอายุ ได้แก่ การมีสารคัดหลั่งไหลออกจากหัวนมหรือท่อน้ำนม อาจมีลักษณะเป็นน้ำเหลือง น้ำนมหรือเลือด ซึ่งมีสาเหตุแตกต่างกันไป ทั้งจากพยาธิสภาพในเต้านม ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ และการรับประทานยาบางชนิด นอกจากนี้ความผิดปกติที่พบได้บ่อยอีกประการ ก็คือ ภาวะอักเสบติดเชื้อหรือฝีที่เต้านม ซึ่งพบได้บ่อยในสตรีที่ให้นมบุตร โดยหากเป็นเพียงการอักเสบติดเชื้อ ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาปฏิชีวนะและให้นมบุตรต่อไปได้ แต่หากเกิดเป็นฝีหนอง อาจมีความจำเป็นต้องกรีดเอาหนองออกและต้องงดให้นมบุตร ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัย โดยละเอียดและให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
โดยสรุป ปัญหาความผิดปกติของเต้านมส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของมะเร็ง อย่างไรก็ตามการรู้จักสังเกต อาการผิดปกติและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยความผิดปกติทั้งหลายได้อย่างรวดเร็ว และในกรณีที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งก็สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
(Some images used under license from Shutterstock.com.)