Haijai.com


หน้าห้อยย้อยหลังดูดไขมัน หรือสลายไขมันที่หน้า


 
เปิดอ่าน 7005

ระวังทำหน้าเรียว แต่ได้หน้าย้อย

 

 

ผมได้อธิบายเรื่องการปรับโครงหน้า หรือ Facial Contouring ซึ่งมีทั้งการผ่าตัด และไม่ผ่าตัด ทั้งนี้การรักษาต้องขึ้นอยู่กับสภาพโครงหน้า สภาพผิวหนัง และอายุของคนไข้ หากรักษาผิดวิธี ผลการรักษ่ย่อมไม่ดีและอาจมีผลข้างเคียงตามมา ปัจจุบันผมพบคนไข้จำนวนมากที่มาปรึกษาปัญหาหลังจากการรักษาปรับรูปหน้า วันนี้ผมมีรายละเอียดมาเล่าสู่กันฟังครับ

 

 

หน้าห้อยย้อยหลังดูดไขมัน หรือสลายไขมันที่หน้า

 

ปัญหานี้พบบ่อยสำหรับผู้ที่อยากมีหน้าเรียวเล็กแบบทันใจ ด้วยการใช้วิธีการดูดไขมันที่แก้มออก แต่ปรากฏว่าหลังดูดออก หน้ากลับเสียรูปทรงและหย่อนห้อยลง บางรายไม่ได้ดูดไขมันออกโดยตรง แต่ใช้เครื่องโดยสอดท่อเข้าไปเพื่อกระตุ้นผิวให้กระชับ พร้อมสลายไขมันบางส่วนออก ผลลัพธ์ก็เหมือนกันคือหน้าจะห้อยย้อยลงมากกว่าเดิม อีกทั้งยังเสียรูปทรงที่สวยงามตามธรรมชาติไปด้วย กรณีเหล่านี้มักพบในคนไข้ที่อายุเกิน 35 ปี เพราะผิวหนังด้านบนเริ่มหย่อนคล้อย และเสียความยืดหยุ่น ดังนั้น เมื่อเอาไขมันที่ค้ำจุนด้านล่างออกไป ผิวด้านบนจึงย้อยลง สำหรับกรณีที่ไม่ได้ดูดไขมันออกโดยตรง เช่น การใช้เครื่องโดยสอดท่อเข้าไปเพื่อกระตุ้นผิวให้กระชับ หากทำไม่ดี อาจพบว่าหน้าบวมขึ้น และเป็นก้อน ซึ่งปกติก้อนบวมอักเสบใต้ผิวควรหายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่บางราย 2 เดือน ก็ยังบวมอยู่ สาเหตุก็คือการอักเสบชอกช้ำอย่างมากใต้ผิว และเกิดมีพังผืดขึ้นนั่นเอง แม้แต่การฉีดลดไขมันที่เรียกกันติดปากว่าเมโสแฟ๊ต ก็เช่น กัน หากมีการลดไขมันใต้ผิวจำนวนมากออกไป ในขณะที่ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ผลลัพธ์หลังการรักษาก็คงไม่ต่างกัน

 

 

ฉีดโบท๊อกซ์ลดกราม กลับได้แก้มหย่อน และโหนกแก้มสูง

 

คลินิกความงามเกือบทุกแห่ง นิยมฉีดโบท๊อกซ์ลดกราม เพื่อปรับให้หน้าเรียวเล็กเป็น V Shape ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและราคาถูกที่สุด อาจร่วมกับการฉีดลดไขมันหรือที่เรียก เมโสแฟ๊ต บางแห่งก็จัดแพ็คเกจ มีร้อยไหมที่แก้มให้ด้วย แต่ผลลัพธ์ที่พบในบางคนกลับปรากฏว่า พอ 1-2 เดือน หลังการรักษา แก้มด้านหน้าส่วนกระพุ้งแก้มกลับดูหย่อนย้อยลง ในขณะที่แก้มส่วนด้านหลังบริเวณหน้าหูกลับตอบ บางครั้งตอบมากจนทำให้ใบหน้าดูทรุดโทรมเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง แถมทำให้โหนกแก้มดูสูงเด่นขึ้นมาด้วย สาเหตุเพราะกล้ามเนื้อกราม (Masseter Muscle) ซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวค้ำจุนใต้ผิวฝ่อตัวลง ทำให้ไม่มีตัวค้ำยันแก้ม แก้มเลยย้อยมาด้านหน้า ในขณะที่แก้มส่วนหลังดูตอบลง เพราะเนื้อกรามหายไป และหากจุดฉีดโบท๊อกซ์สูงไป หรือใช้ยามากไป มันก็จะทำให้กล้ามเนื้อกรามส่วนบนในระดับข้อขากรรไกรหน้าหู (Temporomandibular Joint) ยุบตัวลงไปด้วย เลยทำให้กระดูกโหนกแก้มด้านข้าง (Zygomatic Arch) ดูสูงเด่นขึ้นนั่นเอง

 

 

กายวิภาคศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

 

ใบหน้ามนุษย์เราประกอบด้วยส่วนที่เป็นโครงเนื้อแข็งอยู่ชั้นลึกที่สุด คือ โครงกระดูก และชั้นเนื้อเยื่ออ่อนด้านบนเป็นชั้นๆ เรียงลำดับจากลึกสุดไปบนสุดคือ ไขมันชั้นลึกซึ่งอยู่ติดกระดูก, ชั้นกล้ามเนื้อ, ชั้นไขมัน ใต้ผิวหนัง และผิวหนัง ทุกชั้นมีส่วนสำคัญขององค์ประกอบของโครงใบหน้า หากไม่คำนึงถึงโครงกระดูก ส่วนไขมันชั้นลึกนี่เองที่สำคัญที่สุด ที่เป็นส่วนค้ำจุนใบหน้าให้ได้รูป และเมื่อช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง เราพบว่าการฉีดฟิลเลอร์ลงไปที่ชั้นนี้ ช่วยทำให้เกิดการยกหน้า และแก้การหย่อนคล้อยของใบหน้าบางส่วนได้ นี่เองเป็นที่มาของสิ่งที่ผมพูดตลอดว่าฉีดฟิลเลอร์ต้องฉีดลงลึกถึงกระดูก ก็เพื่อให้ฟิลเลอร์ไปเติมเต็มส่วนนี้ ซึ่งอยู่ติดกับกระดูกนั่นเอง ดังนั้น การดูดไขมันที่ใบหน้า หากแพทย์ไม่ชำนาญจริง คือดูดเอาไขมันส่วนลึกออก หรือทำให้เกิดการยุบตัวของชั้นนี้ ย่อมทำให้เกิดการหย่อนคล้อยของใบหน้าตามมา สำหรับส่วนด้านข้างของใบหน้าบริเวณกราม บริเวณนี้ไม่มีไขมันชั้นลึก แต่มีกล้ามเนื้อกรามซึ่งหนาใหญ่ เกาะติดกระดูกขากรรไกรล่างเป็นตัวช่วยค้ำยันแก้มไว้ ดังนั้น ถ้าฉีดโบท๊อกซ์จนกล้ามเนื้อกรามหดเล็กลง จึงเป็นสาเหตุให้แก้มหย่อนตามมา โดยเฉพาะผู้ที่ผิวหนังหย่อน และขาดความยืดหยุ่นแล้ว

 

 

แนวทางการแก้ไข

 

ผู้ที่ฉีดโบท๊อกซ์ลดกรามจนแก้มห้อย หากเป็นไม่มากก็รอสัก 6-12 เดือน รอโบท๊อกซ์หมดฤทธิ์ กล้ามเนื้อกรามที่ยุบจากโบท๊อกซ์ก็อาจโตขึ้นมา แก้มที่ห้อยก็จะดีขึ้นเอง สำหรับผู้ที่ฉีดโบท๊อกซ์ลดกรามแล้วหลายครั้ง กล้ามเนื้ออาจฝ่อถาวร และไม่กลับไปเหมือนเดิม กรณีนี้อาจฉีดฟิลเลอร์ลงไปทดแทน โดยฉีดเข้าไปใต้เนื้อเยื่อ SMAS (Sub SMAS) ซึ่งจะไปวางอยู่บนกล้ามเนื้อกรามพอดี เทคนิคนี้สามารถใช้แก้ส่วนบนในระดับข้อขากรรไกรหน้าหู (Temporomandibular Joint) ที่ยุบตัวลงได้ด้วย ทำให้ลักษณะหน้าตอบ และโหนกแก้มที่สูงดีขึ้น

 

 

สำหรับกรณีดูดไขมันที่แก้ม หรือแม้แต่การใช้เครื่องมือที่ช่วยกระชับ และสลายไขมันที่หน้า แล้วเกิดปัญหาแก้มหย่อยย้อยนั้น การแก้ไขทำได้โดยการใช้ฟิลเลอร์เติมกลับเข้าไปที่ชั้นไขมันส่วนลึกก่อน แล้วจึงใช้ไหมละลายร้อยที่ใต้ผิวส่วนบน เพื่อช่วยดึงให้ผิวกระชับตึงเข้ารูปอีกที เคสแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องใช้ฟิลเลอร์จำนวนมากฉีดเข้าไปทดแทนไขมันที่หายไป ส่วนกรณีที่ฉีดสลายไขมัน หรือ เมโสแฟ๊ต ที่หน้านั้น มักเป็นการสลายที่ไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งเป็นไขมันชั้นบน การแก้ไขจึงอาจไม่ต้องฉีดฟิลเลอร์เข้าไปทดแทน กรณีแบบนี้อาจร้อยไหมให้ผิวกระชับตึงก็อาจเพียงพอในการแก้ไขการหย่อนคล้อย

 

 

บทสรุป

 

การปรับรูปหน้าให้เรียวเล็ก ด้วยการปรับโครงหน้า หรือ Facial Contouring นั้น ถือเป็นศาสตร์ชั้นสูงทางด้านความงาม ซึ่งต้องคำนึงถึงกายวิภาคศาสตร์ของใบหน้าเป็นหลัก และต้องพิจารณาสภาพโครงหน้าทั้งหมดของคไนไข้ตั้งแต่โครงกระดูก ชั้นไขมัน จนถึงผิวหนังชั้นนอก จานั้นจึงเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้คนไข้ การเลือกวิธีการรักษาที่ผิดอาจทำให้เกิดผลข้งเคียงตามมา ตัวคนไข้เองจึงควรศึกษาถึงผลดีผลเสียของแต่ละเทคนิควิธี ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา

 

 

นพ.พุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ

ผู้อำนวยการนานาชาติ สมาคมแพทย์เกาหลี

ผู้อำนวยการ AIC ศูนย์นวัตกรรมความงามกรุงเทพ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)