Haijai.com


จิตใต้สำนึก


 
เปิดอ่าน 2091

จิตใต้สำนึก

 

 

ข้อเขียนต่อไปนี้ได้จากากรอ่านบทความเรื่อง Our Unconscious Mind เขียนโดย John A. Bargh ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยลตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ฉบับ เดือน มกราคม 2014 หากข้อเขียนเช่นนี้ปรากฏในที่อื่นคงไม่น่าแปลกใจอะไร แต่เมื่อพบในนิตยสารวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และได้รับคัดเลือกเป็นบทความเด่นขึ้นปก ย่อมน่าสนใจว่าบัดนี้วิทยาศาสตร์มองเรื่องจิตใต้สำนึกอย่างไร

 

 

ซิกมันด์ ฟรอยด์ พูดและเขียนถึงจิตใต้สำนึกเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน แม้ว่าจะเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลที่สุดแหงศตวรรษ และส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยจำนวนมากในหนึ่งร้อยปีถัดมา  แต่เขาและผลงานของเขามักได้รับการดูหมิ่นดูแคลนว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์เสมอ

 

 

ข้อเขียนนี้อ้างงานวิจัยเชิงพฤติกรรมมากมายที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เราตัดสินใจกระทำอะไร ด้วยจิตใต้สำนึกมากกว่าจิตสำนึก บ่อยครั้งกว่าที่เราเลือกที่จะทำอะไรบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล มหัศจรรย์กว่านั้นคือแม้ว่าบางครั้งเรามีเหตุผลที่ดีกว่าในสมอง แต่เราก็ยังคงเลือกกระทำโดยไม่มีเหตุผลอยู่ดี

 

 

สมองซึ่งมีน้ำหนักน้อยมาก เมื่อเทียบกับร่างกายทั้งร่างแต่บริโภคแคลอรีมากถึงร้อยละ 20 ของร่างกาย ทั้งหมดนี้ทำงานประสาอะไรกัน? และตรงไหนของสมองกันแน่ที่กินพลังงานมากมายเพียงนี้ แต่ช่างทำงานไม่มีประสิทธิภาพเสียเหลือเกิน!

 

 

แม้คนเราจะมีเหตุผลมากมายเต็มหัว แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนเราตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างลงไปภายใต้อิทธิพลของปรากฏการณ์จิตใต้สำนึก 4 แบบ ดังนี้

 

 

1.ความคิดอัตโนมัติ (Automatic thought) หมายถึง ความคิดที่เกิดทันทีที่รับรู้สิ่งเร้า แล้วส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเราทันควัน พูดง่ายๆ ว่าไม่เปิดโอกาสให้เราใช้เหตุผลเลย ตัวอย่างของความคิดอัตโนมัติที่เด่นชัดที่สุดคือ ความเกลียด เบากว่านี้คือ ความรู้สึก เหม็นขี้หน้า หลายครั้งที่เรารู้สึกเกลียดคนที่เราไม่เคยรู้จักอย่างรวดเร็วเพียงแค่มองหน้า ได้ยินเสียง หรือแม้กระทั่งเห็นการกระทำบางอย่างของเขาจากระยะไกล เพียงข้ามถนนสบหน้าก็เกลียดชัง นั่งรออาหารได้ยินเสียงคนคุยกันด้านหลังก็หมั่นไส้ ทั้งที่ชาตินี้ไม่เคยพบหรอรู้จักกันมาก่อนเลย มีเหตุผลที่ทำให้คนเราเป็นเช่นนั้นแน่ๆ เหตุผลนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เช่น ผู้เขียนสามารถไม่ชอบหน้า นาย ก ได้ ทันทีทันควัน แต่คนอื่นๆ มิได้จำเป็นต้องไม่ชอบหน้า นาย ก เหตุผลนี้ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกอย่างแน่นอน ปัญหาของนักวิทยาศาสตร์คือแล้วจิตใต้สำนึกนั้น มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ณ ที่ใด ภายในกะโหลกศีรษะ?

 

 

2.ความคาดหวังที่ถูกควบคุมไว้แล้ว (Collective controlled expectation) แบบนี้มักเกิดขึ้นในสถานที่ทำการสาธารณะเวลาเราไปรับบริการใดๆ เช่น ไปภัตตาคารก็จะคาดหวังว่าบริกรควรทำตัวอย่างไร ไปธนาคารก็จะคาดหวังว่าพนักงานที่เคาน์เตอร์ควรทำตัวอย่างไร บุรุษไปรษณีย์มาถึงหน้าบ้านเขาควรทำตัวอย่างไร ยกตัวอย่างได้สารพัดรวมทั้งหมอควรทำตัวอย่างไร นักการเมืองควรทำตัวอย่างไร ความคาดหวังเหล่านี้ผุดขึ้นในจิตใต้สำนึกก่อนเหตุผล เมื่อบุคคลเป้าหมายไม่ทำตามที่คาดหวัง เราจึงเกิดความขัดแย้งในใจอยากจะตื้บสักครั้งหนึ่ง ความขัดแย้งในใจเกิดขึ้นมิใช่ เพราะเราไม่สมหวังอย่างที่เข้าใจกัน แต่ความขัดแย้งในใจเกิดขึ้นเพราะที่แท้แล้วเราก็รู้อยู่เต็มอกว่าเรายังไม่ได้ใช้เวลาพิจารณาเหตุผลเลย ว่าเพราะอะไรเขาคนนั้นจึงไม่ทำตามที่เราคาดหวัง เช่น ภัตตาคารนี้จ้างบริกรจำนวนน้อยเกินไป เกินกว่าจะให้บริการลูกค้าได้ทัน เป็นต้น

 

 

3.ความกลัวคนที่ไม่เหมือนเรา (Xenophobia) จะแปลว่าความกลัวคนต่างชาติตามพจนานุกรมก็พอได้ แต่ในที่นี้หมายถึงความจริงของธรรมชาติมนุษย์ที่ว่าเราเป็นเผ่าพันธุ์ที่ไม่ชอบคนที่ไม่เหมือนเรา ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเลี่ยงยากมากที่จะไม่มีอคติต่อคนชาติพันธุ์อื่น หนักกว่านี้คือคนภาคอื่นหรือแม้กระทั่งคนสีอื่น การยกตัวอย่างแบบที่ 3 เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ได้แต่ให้ผู้สนใจทดลองนึกภาพชาวต่างชาติหรือคนต่างศักดิ์ ที่เราไม่ชอบเป็นทุนเดิมสักคนสองคน แล้วยอมรับความจริงเสียเถิดว่าบ่อยครั้งความไม่ชอบนั้น เกิดจากการเหมารวมที่ไม่มีเหตุผลเลย เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จิตใต้สำนึกเอาชนะเหตุผลได้อย่างหมดจด

 

 

 

4.พฤติกรรมเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม (When in Rome do as the Romans do) เข้าเมืองโรมก็ทำแบบที่ชาวโรมันขำ คำพังเพยนี้มีทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงแบบแผนของพฤติกรรมมนุษย์ที่ถ่ายทอดกันมาสาหมื่นปี นั่นคือนอกจากกลัวคนที่ไม่เหมือนเราแล้ว เราพร้อมจะทำอะไรเหมือนๆ คนหมู่มาก โดยไม่ตั้งคำถาม ตัวอย่างดีๆ เช่น การเข้าคิว เดินไปไหนเห็นคิวก็ต้องเข้าโดยไม่มีคำถาม จะว่าเป็นกติกาของสังคมก็ใช่ แต่พูดตรงๆ ว่านี่เป็นความคิดและการกระทำที่ไม่มีเหตุผล เพราะหากจะอ้างเหตุผลแล้วลัดคิวย่อมมีโอกาสดีกว่า ในขณะที่ในกรุงเทพฯ เริ่มมีปรากฏการณ์ยืนเข้าคิวเพื่อรอขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเป็นระเบียบ แต่แล้วก็มีบุคคลบางพวกที่เริ่มไม่ทำตามแบบแผนพฤติกรรมของมนุษยชาติ อาจจะเพราะเห็นแก่ตัว (ดังที่ถูกกล่าวหา ซึ่งก็คงจะถูก) หรือเพราะเขาเป็นคนมีเหตุผล (ซึ่งก็มีส่วนถูกอีก หากเหตุผลที่ว่าถูกนำมาใช้เพื่อเอาชนะ โดยไม่สนใจฟ้าดิน) คนที่เหลือซึ่งเป็นคนหมู่มากก็ยังยืนกันเฉยๆ ไม่มีใครกล้าทำอะไร ก็ด้วยคำอธิบายเดียวกัน “เข้ากรุงเทพฯ ก็ทำแบบที่ชาวกรุงเทพฯ ทำ”

 

 

จะเห็นว่าคนเรามีเหตุผลร้อยแปดในสมองแต่ไม่งัดออกมาใช้ เราตัดสินใจลงมือกระทำอะไรบางอย่างออกไป เพราะจิตใต้สำนึก 3-4 แบบ ดังที่ว่ามาเสียมากกว่า เหตุผลดีๆ มักผุดขึ้นไม่ทัน ครั้นเหตุผลผุดขึ้นทัน มักจะเป็นเหตุผลแย่ๆ เสียมาก เช่น ลัดคิวย่อมชนะ เป็นต้น

 

 

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)