Haijai.com


หน้าร้อนต้องระวัง อาการท้องเสีย


 
เปิดอ่าน 4930

หน้าร้อนต้องระวัง อาการท้องเสีย

 

 

ปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยในช่วงร้อน คือ ท้องเสีย เนื่องจากอากาศร้อนส่งผลให้อาหารบูดเน่าได้ง่าย อีกทั้งเป็นฤดูที่มีแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคจำนวนมาก และเป็นช่วงวันหยุดยาวที่ผู้คนนิยมเดินทางท่องเที่ยว ความเสี่ยงที่จะเจออาหารที่ไม่สะอาดมีค่อนข้างสูง จึงทำให้ท้องเสียได้ง่าย

 

 

ในความเป็นจริงแล้ว อาการท้องเสียในผู้สูงอายุกับคนวัยอื่นนั้น มีสาเหตุและอาการไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าร่างกายของผู้สูงอายุ จะทนต่ออาการเสียน้ำได้ไม่ดีเท่าคนหนุ่มสาว การปรับสภาพของร่างกายทำได้ช้า บางทีท้องเสียเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ระดับเกลือแร่ในเลือดลดต่ำลงได้ คนใกล้ชิดจึงควรสังเกตให้ดี ยกตัวอย่างอาการที่แสดงถึงภาวะขาดน้ำ เช่น ริมฝีปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง ตาโหล ซึม และอาจมีความดันโลหิตต่ำในกรณีที่เป็นมาก

 

 

สำหรับผู้สูงอายุเมื่อท้องเสีย 1-2 ครั้ง ควรเริ่มรับประทานผงเกลือแร่สำเร็จรูปสำหรับผู้ป่วยท้องเสียได้แล้ว โดยใช้สูตรเดียวกับคนทั่วไปแทนการดื่มน้ำเปล่า เพราะการดื่มน้ำเปล่า ร่างกายจะได้รับแค่น้ำแต่ไม่ได้รับเกลือแร่ชดเชย ทำให้เกิดภาวะเกลือแร่ในเลือดต่ำได้เช่นกัน ดังนั้น หากท้องเสีย สิ่งสำคัญที่ควรนึกถึงเป็นอย่างแรก คือ การดื่มเกลือแร่ ซึ่งเป็นการดูแลเบื้องต้นที่ดีที่สุด แต่ถ้าผู้ป่วยมีไข้ร่วมกับท้องเสีย หรืออุจจาระมีเลือดปน ควรพาไปพบแพทย์

 

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลควรทราบ คือ ไม่ควรชดเชยน้ำและเกลือแร่ โดยเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่ สำหรับการสูญเสียเหงื่อ จากการออกกำลังกาย เครื่องดื่มบำรุงกำลังอื่นๆ หรือ เครื่องดื่มที่ได้จากการผสมเกลือลงในน้ำอัดลม แทนการดื่มผงเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย เพราะจะไม่ได้รับปริมาณเกลือแร่ที่สูญเสียไปตามสัดส่วนที่ร่างกายต้องการ

 

 

เกร็ดน่ารู้ สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย

 

 หลังหายจากท้องเสียใหม่ๆ ระบบย่อยอาหารในผู้สูงอายุ (รวมทั้งผู้ใหญ่วัยอื่นด้วยเช่นกัน) มักจะไม่ค่อยดี ท้องเสียจะอืดเฟ้อ อาหารบางอย่างจะย่อยไม่ได้ ดังนั้นหลังจากท้องเสีย 1 สัปดาห์ ควรระวังเรื่องอาหารการกินมากขึ้น อย่าพึ่งรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือมีลม/แก๊สเยอะๆ เช่น น้ำอัดลม ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะคนที่ดื่มนมแล้วท้องมักจะอืด ให้งดก่อน ควรเลือกอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายๆ เช่น เกาเหลา แกงจืด โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น

 

 

 หลายคนสงสัยว่าควรรับประทานยาหยุดถ่ายดีหรือไม่ โดยปกติไม่จำเป็นต้องรับประทานยานี้ ควรปล่อยให้ถ่ายไป เพราะเมื่อร่างกายขับของเสียของสกปรกออกมาจนหมดแล้ว ก็จะหยุดถ่ายไปเอง แต่ถ้าอยู่ในกรณีฉุกเฉิน เช่น อยู่ระหว่างการเดินทาง จำเป็นต้องนั่งรถทางไกลนานหลายชั่วโมง กลัวไม่สะดวกอาจรับประทานยาหยุดถ่าย 1 เม็ด ก็ได้ แต่ไม่ใช่รับประทานทันทีที่ท้องเสียเพียงครั้งแรก เพราะเมื่อยาหยุดถ่ายหมดฤทธิ์ ร่างกายจะขับถ่ายของเสียที่ยังคงค้างอยู่ต่อเอง

 

 

 ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทาน ผงคาร์บอนหรือผงถ่าน เพราะไม่ค่อยมีประโยชน์ไม่ได้ช่วยอะไร แต่ถ้าเชื่อและต้องการรับประทานก็สามารถทำได้ เพราะก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียหายใด ต่อร่างกาย

 

 

 ในกรณีที่ท้องเสียมากๆ ผู้สูงอายุอาจจะแสบก้นหรือก้นเปื่อย ให้ใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ทาบริเวณดังกล่าว จะช่วยลดอาการแสบได้

 

 

 

หลังจากท้องเสีย 1 สัปดาห์ ควรระวังเรื่องอาหารการกินมากขึ้น อย่าพึ่งรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรือมีลม/แก๊สเยอะๆ เช่น น้ำอัดลม ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม โดยเฉพาะคนที่ดื่มนมแล้วท้องมักจะอืดให้งดก่อน ควรเลือกอาหารอ่อนๆ ย่อยง่ายๆ เช่น เกาเหลา แกงจืด โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น

 

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เกิดท้องเสีย ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ถ้าเป็นกับข้าวที่ซื้อเก็บไว้ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงอาหารตามร้านค้า หรือแผงลอยที่มีแมลงวันตอม ผักผลไม้ต้องล้างให้สะอาด ล้างให้ทั่วตั้งแต่ปลายใบจนถึงโคนต้น อย่าเน้นเพียงส่วนหนึ่งส่วนใด สำหรับผลไม้ หากกังวลมาก แนะนำให้ปอกเปลือกก่อนรับประทาน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)