Haijai.com


เขย่าลูก ความตายที่คาดไม่ถึง


 
เปิดอ่าน 2869

เขย่าลูก ความตายที่คาดไม่ถึง

 

 

“บอย” เด็กน้อยวัยเพียง 5 เดือน ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลด้วยอาการซึม หยุดหายใจเป็นพักๆ อาเจียนและชัก ไม่มีประวัติอุบัติเหตุ การตกที่สูง แพทย์ตรวจพบว่า ไม่มีบาดแผล ไม่มีรอยฟกช้ำดำเขียว โคม่า ไม่สนองตอบต่อเสียง สนองตอบเล็กน้อยต่อความเจ็บ หายใจแค่ 14 ครั้งต่อนาที แถมชีพจรเต้นช้าเพียง 80 ครั้งต่อนาที มีเลือดออกในจอประสาทตา ทำCT พบว่า บอยมีเลือดออกในสมองเป็นจำนวนมาก ทางโรงพยาบาลต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ! แพทย์สงสัยว่าบอยจะโดนจับเขย่าอย่างรุนแรงหรือไม่?

 

 

หลังจากนั้นเพียงสองวันถัดมา เด็กน้อยก็เสียชีวิต

 

และแล้วคำตอบจากตำรวจสอบสวนก็ตรงกับคุณหมอ นั่นคือเด็กตายเพราะโดนพี่เลี้ยงจับเขย่าอย่างรุนแรง (Shaken Baby Syndrome) หลายๆ ท่านอาจนึกไม่ถึงว่า การกระทำดังกล่าวจะถึงกับทำให้เด็กต้องตาย ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา มีรายงานและมีสถิติเด็กถูกทำร้ายร่างกายด้วยการเขย่าเด็กอย่างรุนแรง (Shaken Baby Syndrome) ราวปีละ 1,200-1,600 คน จากสถิติพบว่า เด็กจำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต หรือ หากรอดชีวิตก็พบว่าอาจมักจะต้องพิการอย่างถาวร ซึ่งความพิการอย่างถาวรที่เจอได้มีปัญหาการเรียนรู้ สติปัญญา เป็นอัมพาต ลมชัก หรือมีโอกาสตาบอดได้

 

 

แต่ในไทยแลนด์แดนสไมล์ของเรานั้น กลับมีรายงานน้อยมาก แถมไม่มีสถิติตัวเลขที่แน่ชัด การทำทารุณเด็กจากคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ในกรณีนี้มักไม่มีการแจ้ง จึงกลายเป็นความลึกลับดำมืดของบ้านเราต่อไป (แม้กระนั้นก็กลับมีงานวิจัยที่พบว่า ชาวอเมริกันราวร้อยละ 25-50 ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวกับมหันตภัยของการเขย่าเด็ก)

 

 

การบาดเจ็บอย่างรุนแรง ความพิการ หรือความตายของเด็กในกรณีนี้ มักเกิดจากการโดนผู้ใหญ่เขย่าๆๆ ไปมาๆ อย่างไม่ปรานีปราศรัยอย่างรุนแรง และกระชากกลับอย่างรวดเร็ว (Vioently Shaken) เนื้อสมองของเด็กจึงกระแทกกระทั้นผนังด้านในของกะโหลกศีรษะไปมาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเด็กวัยขวบปีแรกนั้น มีกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่แข็งแรง มีเนื้อสมองที่ยังบอบบางมาก และมีน้ำในสมองมากกว่าเนื้อสมองประกอบกับเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ (ยิ่งเด็กโดนจับกระแทกกับที่นอนกับหมอนด้วย จะมีผลให้สมองได้รับแรงกระแทกเพิ่มขึ้นอีกถึง 50 เท่า! โอกาสจะกลายเป็นเด็กพิการหรือเสียชีวิตก็ยิ่งมีมาก บางรายแย่ยิ่งกว่านี้ นั่นคือ โดนจับกระแทกกับของแข็ง เช่น ขอบเตียง เก้าอี้ ทำให้เด็กแบเบาะกระดูกแขน ขา ซี่โครง หรือกะโหลกศีรษะแตกหัก)

 

 

หนำซ้ำสิ่งที่น่าเศร้าก็คือ อาการ Shaken Baby Syndrome นั้นมักไม่ค่อยเห็นร่องรอยบาดแผล หรือการบาดเจ็บหากมองจากภายนอกร่างกาย ในขณะที่เกิดการบาดเจ็บภายในสมองอย่างรุนแรงเส้นเลือดเล็กๆ ที่เชื่อมกันระหว่างเนื้อเยื่อของสมองแตกปริฉีกขาดมีเลือดออก (เขย่าไปด้านข้าง เลือดก็จะออกจากสมองด้านข้าง ถ้าเขย่าไปด้านหน้าเลือดก็จะออกจากสมองด้านหน้า) จะเปรียบไปก็เหมือนการขับรถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แล้วจู่ๆ ก็เหยียบเบรกกึกอย่างกะทันหัน ร่างกายของคนขับรถย่อมจะกระแทกกับตัวรถแล้วจะถูกแรงเหวี่ยงมาด้านหลังอีกครั้งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เปรียบได้กับตัวรถคือกะโหลกศีรษะ ส่วนตัวของเราเปรียบเหมือนสมอง อาการของ Shaken Baby Syndrome จึงเกิดขึ้นจากที่อธิบายข้างต้นครับ

 

 

เราพอจะสังเกตอาการของเด็กน้อยที่โดนทารุณดังกล่าว (Shaken Baby Syndrome-SBS) จากการที่

 

 

 หากอาการไม่รุนแรงมาก ก็มักจะร้องไห้ไม่หยุด เซื่องซึม ไม่ยอมดื่มนม กระทั่งถึงกับหมดสติ หยุดหายใจเป็นช่วงๆ หมดสติ หรือชัก

 

 

 ส่วนอาการขั้นรุนแรง เมื่อผ่านการตรวจจากแพทย์แล้วมักพบว่า กระดูกแขน ขา หรือซี่โครงหัก กะโหลกศีรษะแตกหัก เลือดออกที่ม่านตาหลายจุด มีเลือดออกในสมองหรือบริเวณใต้เยื่อหุ้มสมอง ผลอันร้ายแรงจากโดนทารุณนี้มีโอกาสสูงที่จะทำให้ทารกน้อยมีพัฒนาการล่าช้า มีปัญหาการได้ยิน ตาบอด สมองบวม เป็นอัมพาต กระทั่งถึงเสียชีวิต

 

 

เหตุใดผู้ใหญ่ (บางคน) จึงเขย่า หรือจับเด็กกระแทกอย่างรุนแรง ?

 

“เงียบ เงียบๆๆๆๆ จะร้องถึงไหน” หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินถ้อยคำนี้จากปากแม่มาแล้ว ซึ่งนี่คือปฏิกิริยาของคนที่มีอาการเบรกแตก (บันดาลโทสะ, อารมณ์ชั่ววูบ) จนทนเสียงร้องไห้จ้าของทารกไม่ไหวอีกแล้ว บวกกับโดนรุมเร้าด้วยปัญหาต่างๆ ในชีวิต หรือกลัวว่าลูกจะเจ็บป่วยได้รับอันตราย ยิ่งบุคลิกเดิมเป็นคนใจร้อน ควบคุมความโกรธไม่ค่อยได้อยู่แล้ว เด็ก (แม้แต่เป็นลูกแท้ๆ ของตน) ก็ยิ่งมีโอกาสกลายเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย การมีผู้ช่วยไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่ผ่านการเลือกสรรอย่างดีแล้ว ไม่ใช่มาทำร้ายเด็กซะเอง) หรือมีญาติผู้ใหญ่มาช่วยโอ๋เห่กล่อมเมื่อเจ้าลูกน้อยแผดเสียงจ้า ในยามที่คุณแม่คุณพ่อเหนื่อยล้า ก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลงเป็นอย่างดี

 

 

อีกข้อหนึ่งซึ่งคู่สามีภรรยาหลายๆ คู่คงไม่เคยคิดถึง นั่นคือ การศึกษาถึงพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย จนมีความเข้าใจ ถือเป็นการเตรียมความพร้อม ทั้งร่างกายและจิตใจ ที่จะรับมือกับปัญหาที่รออยู่อย่างมั่นใจ เพราะปัญหา Shaken Baby Syndrome มักจะเป็นเด็กอ่อนวัยไม่เกิน 1 ขวบ คุณแม่คุณพ่อหรือคนที่เลี้ยงมักมีภาวะเครียดสะสมอยู่แล้ว ยิ่งลูกร้องจ้าลั่นบ้านบ่อยๆ ก็เลยทนไม่ไหวแล้วจับลูกเขย่าแรงๆ ได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บางทีการที่เด็กร้องไม่หยุด อาจเกิดเพราะเขากำลังไม่สบาย มีอาการเจ็บป่วย จึงควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาครับ ถ้าพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเกิดอาการหงุดหงิด ต้องพักสงบสติทันที มิฉะนั้นลูกน้อยอาจกลายเป็นเหยื่อระบายอารมณ์อย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึง การตั้งสติเป็นเรื่องสำคัญ เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ นับ 1-10 และเดินออกมานอกห้องให้เด็กร้องอยู่ในห้องที่ปลอดภัยคนเดียว หรือเรียกหาคนใกล้ชิดอื่นมาปลอบเด็กแทน หลังจากสงบสติอารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงกลับเข้าไปดูเด็กอีก

 

 

หลังจากเขย่าเด็กอย่างรุนแรง เราควรตั้งสติให้เยือกเย็นลง และจะรีบแก้ไขดังนี้ครับ พาเด็กไปรับการตรวจกับแพทย์ทันที จะต้องบอกคุณหมอนะครับว่าเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องและรักษาทันเวลา  เพราะอาการ Shaken Baby Syndrome อาจมีผลให้สมองเด็กได้รับอันตราย หรือเลือดออกในสมองเพราะการเขย่ารุนแรง ซึ่งต้องรีบทำการรักษา มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อเด็ก จนอาจไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทัน

 

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)