© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำไมน๊า ลูกถึงไม่ยอมทานอาหาร
“ลูกจ๋าถึงเวลา หม่ำ หม่ำ ข้าวกับไข่ตุ๋นกันแล้วนะคะ อะ อะ ทำไมลูกจ๋านิ่ง ไม่ยอมอ้าปากล่ะคะ บางครั้งลูกก็อมข้าว หรือไม่ก็บ้วนข้าวทิ้ง หรือว่าอาหารที่แม่ทำไม่อร่อยกันแน่นะ ?” ปัญหาลูกไม่ค่อยยอมทานข้าว ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องนั่งป้อนข้าวนานเป็นชั่วโมง เป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่อึดอัดใจอยู่ไม่น้อย เพราะอาหารที่ลูกรับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อนั้น มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และการเจริญเติบโตของสมองลูก
ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะทราบถึงวิธีรับมือกับปัญหาลูกไม่ยอมทานข้าวนั้น เรามาดูสาเหตุของปัญหาที่ว่า ทำไมกันนะ ลูกถึงไม่ค่อยยอมทานข้าว หรือในบางครั้งก็อมๆ เคี้ยวๆ ทำท่าจะกลืนข้าว ทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้คอยนั่งลุ้นกันไปพักใหญ่ ลงท้ายลูกก็คายอาหารออกมา เรามาดูกันคะว่าสาเหตุของปัญหานี้ คืออะไรกันแน่
สาเหตุที่ลูกไม่ยอมทานข้าวมีหลายสาเหตุด้วยกัน เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิก ลักษณะ เพศ และอายุ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมจากการดูแลของครอบครัว
ซึ่งสาเหตุทำให้ที่ลูกไม่ยอมทานข้าว คือ
1.ลูกเจ็บป่วย ปัญหาการทานข้าวยากที่เกิดจากลูกเจ็บป่วย เมื่อลูกไม่สบายจึงทำให้ไม่ยากทานข้าว และลูกยังเด็กเกินไปที่จะบอกคุณแม่ว่าเขาป่วยนะ คุณแม่ควรสัมผัส เพื่อตรวจดูความผิดปกติของอุณหภูมิร่างกายว่า ลูกมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ หลังจากนั้นให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรักษาอาการเจ็บป่วย เมื่อลูกหายป่วยก็จะสามารถทานข้าวได้เป็นปกติ
2.ลูกห่วงเล่นของเล่น หรือห่วงดูโทรทัศน์ในขณะทานข้าว ทำให้ไม่สนใจที่จะทานข้าว เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเรียนรู้ด้วยการเล่นของเล่นต่างๆ เมื่อถึงเวลาทานอาหารคุณพ่อคุณแม่ควรเก็บของเล่นออกไปก่อน และไม่ควรเปิดโทรทัศน์ขณะทานอาหาร เพื่อให้ลูกสนใจทานอาหารที่อยู่ตรงหน้า โดยไม่ห่วงเล่น หรือสนใจดูโทรทัศน์จนไม่อยากทานอาหาร และที่สำคัญควรหาเมนูอาหารที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ถึงลูกจะรับประทานได้ในจำนวนน้อยแต่อาหารก็เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ
3.ลูกฟันขึ้น ฟันผุ หรือมีแผลในช่องปาก สาเหตุต่างๆ นี้ ทำให้ลูกไม่อยากรับประทานอาหาร เพราะในขณะที่ลูกเคี้ยวอาหาร ลูกจะรู้สึกปวดฟัน คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจดูสุขภาพภายในช่องปากลูก หากลูกมีแผลเล็กน้อยภายในปากคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอาหารเหลวจืดที่ลูกสามารถทานได้ง่าย ถ้าลูกฟันกำลังจะขึ้น เมื่อฟันขึ้นพ้นจากเหงือกแล้ว ลูกก็จะอยากทานอาหารที่มากขึ้นเองค่ะ
3.ช่วงเวลาทานอาหารไม่ตรงกับความต้องการรับประทานอาหารของลูก เช่น คุณพ่อคุณแม่รีบป้อนข้าวลูกตามเวลาความต้องการของตนเอง เพราะจะรีบไปทำงาน แต่ลูกกลับยังไม่หิว ไม่อยากทานอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรจัดอาหารตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละวัน โดยให้ลูกทานอาหารเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ วันละ 3-4 มื้ออาหาร และอาหารมื้อว่างวันละ 2-3 ครั้งในปริมาณที่ไม่มาก เพื่อช่วยให้ลูกปรับเวลาหิว กับเวลาทานอาหารที่กำหนดได้ แต่ไม่ควรมีขนมที่ลูกสามารถทานเล่นได้ตลอดทั้งวัน เพราะจะทำให้ลูกไม่สามารถทานข้าวในเวลาที่กำหนดได้
วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมทานข้าว
1.ทุกคนๆ ในบ้านต้องรักษาระเบียนวินัยในการรับประทานอาหาร เพื่อไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยการไม่ทานอาหารหน้าโทรทัศน์ แต่ควรทานอาหารเป็นเวลา หากสามารถทานพร้อมกันทั้งครอบครัวในเวลาเดียวกันจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นในครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ
2.สร้างบรรยากาศในการรับประทานอาหารให้สบายๆ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเข้มงวดกับลูก ด้วยการว่ากล่าว หรือแสดงอาการไม่พอใจ จนทำให้ลูกเครียด ควรสร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกมีความสุข และอยากนั่งอยู่ที่โต๊ะทานข้าว
3.ไม่ควรติดสินบนลูก เพื่อให้ทานข้าว เช่น ถ้าลูกทานข้าวได้เยอะๆ คุณพ่อคุณแม่ซื้อของเล่นให้เป็นรางวัล เพราะการติดสินบนลูกจะทำให้พฤติกรรมการทานข้าวยากของลูกยังเกิดขึ้นต่อไป
4.คุณพ่อคุณแม่ควรตักอาหารให้ลูกแบบพอดี ไม่ตักอาหารมากจนเกินไป จนลูกรู้สึกว่าไม่สามารถทานอาหารได้หมด และทำให้ไม่อยากทาน หากลูกทานหมดแล้วยังไม่อิ่มค่อยตักเพิ่มให้ทีหลัง
5.เปิดโอกาสให้ลูกสามารถเลือกหยิบอาหารทานเองได้ เช่น ลูกอยากใช้มือหยิบลูกชิ้นทานเองคุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกหยิบอาหารป้อนเข้าปากเอง ถึงจะเลอะเทอะบ้างก็ช่วยให้ลูกทานอาหารได้มากขึ้น
วิธีการแก้ปัญหาลูกทานอาหารยาก คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นค่อยๆ หาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ว่า เพราะอะไรลูกถึงไม่ค่อยทานข้าว เมื่อหาสาเหตุพบแล้วควรให้เวลาลูกในการปรับตัวที่จะทานอาหารได้มากขึ้น และที่สำคัญควรสร้างบรรยากาศในการทานอาหารให้มีความสุข และมีความอบอุ่นของสมาชิกทุกคนภายในครอบครัว
หนังสือสารพันปัญหาเด็กเล็กกับเคล็ดวิธีดูแลอย่างถูกวิธี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)