
© 2017 Copyright - Haijai.com
ครรภ์แฝด เสี่ยงกำลังสอง
เด็กแฝดดูจะเป็นอะไรที่น่ารักน่าเอ็นดู แต่กว่าจะออกมาเป็นเบื้องหน้าได้ ผู้เป็นแม่ก็ต้องผ่านเบื้องหลังที่เรียกว่ายากลำบากเลือดตาแทบกระเด็น ซึ่งถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอะไรเลย ก็อาจเป็นอันตรายได้ทั้งแม่และลูก ได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ สูติ-นรีแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้เกี่ยวกับครรภ์แฝดในด้านต่างๆ เพราะความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หรือในกรณีที่มีความผิดปกติก็สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
ครรภ์แฝดพบบ่อยแค่ไหน
อุบัติการณ์ของครรภ์แฝดบอกได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนชาติ บางชนชาติสตรีตั้งครรภ์ 20 คน มี 1 คนที่ตั้งครรภ์แฝด แต่บางชนชาติมีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 ต่อหลายร้อยคน การที่แม่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นแฝด ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ตั้งครรภ์แฝด สำหรับในประเทศไทย สมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีช่วยเรื่องการเจริญพันธุ์ อุบัติการณ์ของครรภ์แฝดอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 100 แต่ปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีมากขึ้น ตัวเลขตรงนี้จึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นพอสมควร
การตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงหรือไม่
ครรภ์แฝดมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์เกือบครบ ตั้งแต่มีโอกาสแท้งง่ายกว่า เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดง่ายกว่า ทารกในครรภ์อาจได้เลือดไปเลี้ยงไม่พอหรือเจริญเติบโตช้า โดยอาจเกิดได้กับคนเดียวหรือทั้งสองคน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อถุงน้ำคร่ำแตก ก่อนคลอดมากกว่าครรภ์เดี่ยว โอกาสที่เด็กแฝดในครรภ์จะอยู่ผิดท่าก็มีมาก ทำให้อุบัติการณ์ของการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น อนึ่งแฝดไข่ใบเดียวกันหรือแฝดเหมือน ซึ่งมีการใช้รกและเยื่อหุ้มรกร่วมกัน ก็มีโอกาสที่จะมีหลอดเลือดเชื่อมต่อ ถึงกันจนเกิดภาวะไหลเวียนเลือดระหว่างทารกสองคนที่ไม่สมดุล กล่าวคือคนหนึ่งอาจได้เลือดมากไป อีกคนอาจได้เลือดน้อยไป ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ทารกทั้งคู่เสียชีวิตในครรภ์ได้ สิ่งที่น่ากลัวอีกประการหนึ่งคือทารกครรภ์แฝดมีโอกาสที่จะมีอวัยวะผิดปกติสูงกว่าครรภ์เดี่ยว
แม่ที่ตั้งครรภ์แฝดมีความเสี่ยงที่จะเลือดออกหรือตกเลือดทั้งตอนที่ลูกยังอยู่ในครรภ์และตอนหลังคลอด ในช่วงสามเดือนแรก ระดับฮอร์โมนที่คอยประคับประคองการตั้งครรภ์ให้ดำเนินต่อไปอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้เกิดภาวะเลือดออก ได้แก่ การที่รกมีขนาดโตมากและอาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำ เมื่อมดลูกมีการบีบรัดตัว เลือดจะไหลออกมาได้ หรือกรณีที่ปากมดลูกจะเปิดเพราะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ส่วนการตกเลือดหลังคลอดมีสาเหตุจากการที่มดลูกของแม่มีการยืดขยายมากผิดธรรมชาติ (ที่ควรจะรองรับทารกได้เพียง 1 คน) เมื่อคลอดแล้ว กล้ามเนื้อที่ยืดจนผิดปกตินี้ ไม่สามารถหดตัวไปช่วยกดหลอดเลือดได้ดีพอ จึงทำให้เกิดการตกเลือด
แม่ที่ตั้งครรภ์แฝดย่อมเหนื่อยกว่าแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว หัวใจของแม่จะทำงานหนักขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกในครรภ์มากกว่าหนึ่งคน มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ไม่สบายตัว ปวดหลังมากกว่าครรภ์เดี่ยว แม่อาจเกิดภาวเลือดจาง ถ้าได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ
คุณแม่ครรภ์แฝดควรดูแลตัวเองอย่างไร
สำหรับแม่ทุกคน เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ให้รีบมาฝากครรภ์ทันที กรณีตรวจด้วยอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าเป็นครรภ์แฝด แพทย์จะได้ดูแลให้เหมาะสมกับภาวะที่เป็นอยู่ตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่าการมาพบแพทย์เมื่อมีอายุครรภ์มากแล้ว เพราะอาจมีภาวะเสี่ยงเกิดขึ้นแล้วก็เป็นได้ อนึ่งแม่ที่มีคภรร์แฝดจะได้รับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ถี่กว่าครรภ์เดี่ยว คือ ตรวจทุกสี่สัปดาห์ ยาบำรุงครรภ์ ได้แก่ ธาตุเหล็กและแคลเซียมก็ต้องรับประทานในปริมาณที่สูงขึ้น เพราะทารกต้องการสารอาหารจากเม็ดเลือดแดงที่แม่ส่งไปเลี้ยง แม่จึงต้องมีเม็ดเลือดแดงมากพอ หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ แม่จะมีภาวะเลือดจางได้ นอกจากนี้แคลเซียมของแม่ยังถูกดึงไปสร้างมวลกระดูกให้กับลูก ดังนั้นหากได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ มวลกระดูกของแม่อาจไม่หนาแน่นและเปราะบางได้ เพราะฉะนั้นการรับประทานยาบำรุงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
แม่ที่มีครรภ์แฝดยังควรลดความหนักของกิจกรรมทางกาย ลดหรืองดการเดินในระยะทางไกล หรือการแบกของหนักๆ แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการหยุดทำงานหรือนอนพักจะช่วยลดอุบัติการณ์ของการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่การออกกำลังมากเกินไปอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว
เมื่อคลอดออกมาแล้ว การติดตามอาการของเด็กแฝดจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เด็กอยู่ในครรภ์ ถ้าคลอดก่อนกำหนดก็ต้องอยู่ในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่ง เพื่อที่แพทย์จะได้ติดตามและรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าคลอดตามกำหนด มีน้ำหนักตัวเกิน 2,000 กรัมขึ้นไป ก็มีโอกสได้กลับ้านพร้อมกับแม่ได้ ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาในการดูแลเด็กแฝดคือการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ทารกโตช้าในครรภ์ การถ่ายเทเลือดระหว่างแฝดทั้งสองไม่สมดุล แพทย์ก็ต้องดูแลทารกในโรงพยาบาลนานขึ้นเช่นกัน
คำแนะนำแด่คุณแม่มือใหม่
การวางแผนก่อนการตั้งครรภ์เป็นสิ่งจำเป็น คู่สามีภรรยาที่ตั้งใจจะมีบุตรควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและโรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่อาจจะส่งผลต่อลูกน้อย เมื่อมั่นใจและตัดสินใจที่จะมีบุตร ควรใช้วิธีตามธรรมชาติ เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ควรไปกำหนดกะเกณฑ์ด้วยเทคโนโลยีว่าจะต้องได้ลูกเป็นเพศนั้นเพศนี้ เป็นแฝดไข่คนละใบ คนละเพศ เป็นต้นเพราะเป็นการเพิ่มทั้งความเสี่ยงและค่าใช้จ่าย บางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนสิ่งที่ลงทุนมาทั้งหมดกลายเป็นศูนย์ ดังนั้น ถ้าได้ครรภ์แฝดควรรีบมาฝากครรภ์ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และอย่าเครียดจนเกินไป เพราะจะเสียสุขภาพ ให้ตั้งใจดูแลครรภ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ร่วมกับแพทย์ผู้ดูแล
รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ
สูติ-นรีแพทย์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)