
© 2017 Copyright - Haijai.com
อาหารสมานแผล
เมื่อร่างกายมีบาดแผล ทั้งบาดแผลที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น บาดแผลจากการประสบอุบัติเหตุ บาดแผลผ่าตัดหรือบาดแผลทีเป็นเรื้อรัง เช่น บาดแผลกดทับ บาดแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน เป็นต้น นอกเหนือจากการเอาใจใส่ดูแลรักษาบาดแผลที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์แล้ว การรับประทานอาหารที่เหมาะสมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยสมานแผลได้เร็วขึ้น ลดการติดเชื้อของบาดแผล และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ โดยเร็วที่สุด
สารอาหารที่ได้รับการวิจัยว่ามีบทบาทสำคัญในการสมานแผล ได้แก่
โปรตีน
พบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วเมล็ดแห้ง และไข่ โปรตีน มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์และองค์ประกอบต่างๆ ของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังที่สร้างขึ้นใหม่มีความแข็งแรง โปรตีนยังเป็นองค์ประกอบของเซลล์และเอนไซม์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อ หากขาดโปรตีน ร่างกายจะติดเชื้อโรคง่ายและขาดวัตถุดิบในการสร้างผิวหนังมาปิดบาดแผล จนเกิดแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย
ความเชื่อที่ว่าเมื่อมีบาดแผลแล้วห้ามกินไข่ เพราะทำให้เกิดแผลเป็นนูนนั้น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะการเกิดแผลที่เป็นนูนเป็นผลจากพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนังในปริมาณมากเกินไป ในขณะที่แผลหาย นอกจากนี้ไข่เป็นโปรตีนประเภทสมบูรณ์ คือมีกรดอะมิโนชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด โดยทั่วไปจึงจัดว่าเมนูอาหารที่ทำจากไข่เป็ฯอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีบาดแผล
วิตามินเอ
เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน พบมากในผักที่มีสีเหลืองหรือสีส้ม มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการแบ่งเซลล์ในกระบวนการสร้างผิวหนังใหม่ และควบคุมสมดุลการเกิดการอักเสบภายในร่างกาย ไม่ให้น้อยหรือมากเกินไป โดยมีคำแนะนำว่าควรได้รับวิตามินเอต่อวัน ไม่เกินข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย คือ 700 ไมโครกรัมเรตินอลสำหรับผู้ชายและ 600 ไมโครกรัมเรตินอลสำหรับผู้หญิง โดยอาจประมาณคร่าวๆ เป็นการรับประทานแครอท 50 กรัม หรือเนื้อฟักทอง 200 กรัมต่อวัน
วิตามินซี
เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำพบมากในผักและผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นที่ทราบกันดีว่าวิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอนุมูลอิสระนี้จะเกิดขึ้นมากในขณะที่ร่างกายเกิดการอักเสบ และมีส่วนช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเสริมการสร้างเม็ดเลือดแดงทดแทนที่สูญเสียไปขณะมีบาดแผล วิตามินซียังเกี่ยวข้องกับการรักษาความแข็งแรงของผนังหลอดเลือดฝอย รวมไปถึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเส้นใยคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ปริมาณวิตามินซีที่ผู้ป่วยควรรับประทานเท่ากับ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน จะทำให้กระบวนการที่ส่งเสริมการสมานแผลนั้นเกิดขึ้นได้เป็นปกติ
สังกะสี
เป็นแร่ธาตุที่ผลการวิจัยทางการแพทย์พบความสัมพันธ์ ในการกระตุ้นการสมานแผล มีอยู่มากในอาหารจากเนื้อสัตว์ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ตับ เป็นต้น ธาตุสังกะสีทำหน้าที่ร่วมกับเอนไซม์หลายชนิดในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารพันธุกรรม สำหรับการแบ่งเซลล์ผิวหนัง ดังนั้น เมื่อร่างกายขาดธาตุสังกะสีจะทำให้บาดแผลหายช้า จึงควรมีการเสริมธาตุสังกะสีให้แก่ผู้ป่วยที่มีบาดแผลเรื้อรัง เช่น บาดแผลที่เท้า จากเบาหวาน เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วปริมาณธาตุสังกะสีที่ควรได้รับต่อวันเท่ากับ 7-13 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามการพิจารณาเสริมธาตุสังกะสีให้แก่ผู้ป่วยนั้น ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อจากร้านขายยามารับประทานเอง เนื่องจากการได้รับแร่ธาตุชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จะรบกวนสมดุลของแร่ธาตุชนิดอื่นในร่างกาย และส่งผลเสียต่อไปได้ในระยะยาว
น้ำ
ไม่จัดเป็นสารอาหาร แต่น้ำเป็นองค์ประกอบหลักของอวัยวะทุกชนิดในร่างกาย รวมไปถึงผิวหนัง สมดุลของน้ำเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งต่อการสมานแผล ในสภาวะที่มีปริมาณน้ำบริเวณบาดแผลเหมาะสม ความชุ่มชื้นพอเหมาะ จะทำให้เซลล์ผิวหนังสามารถเคลื่อนที่จากขอบแผลมาปิดคลุมบาดแผลได้ดี ในขณะที่ภาวะขาดน้ำจะทำให้เซลล์ผิวหนังตายและเพิ่มความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยหรือการมีสารคัดหลั่งบริเวณบาดแผลมากเกินไป จะทำให้แผลเปื่อยยุ่ยและติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนั้นนอกเหนือจากการที่ผู้ป่วยดื่มน้ำเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ยังต้องเลือกใช้วัสดุปิดแผลที่เหมาะสมกับลักษณะและปริมาณสารคัดหลั่งของบาดแผล แต่ละชนิดด้วย
อาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง
ในการดูแลบาดแผลนั้น การเอาใจใส่เรื่องอาหารที่รับประทนในระหว่างฟื้นฟูบาดแผล ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ควรละเลย เรื่องคุณค่าอาหารที่เหมาะสม เพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูบาดแผลให้หายเร็วยิ่งขึ้น รายการอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีบาดแผลโดยทั่วไป สามารถใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิดมาประกอบอาหาร แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ จำพวกปลาร้า ลาบเลือด ลาบก้อย เพราะมีเชื้อจุลินทรีย์ปะปนอยู่ อาจจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยติดเชื้อแทรกซ้อนได้ ปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไม่เหนียว นำมาประกอบอาหารให้ผู้ป่วยได้ดี แต่ต้องระวังก้างและเกล็ด ส่วนผักและผลไม้ ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ทุกชนิด โดยเลือกให้เหมาะสมกับอายุและปัจจัยด้านสุขภาพอื่นๆ อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เพราะมีปริมาณของเกลือสูงและอาจมีสารตกค้าง เครื่องดื่มประเภทน้ำนม นมถั่วเหลือง หรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผสมน้ำตาลเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสม และให้คุณค่าอาหารที่ดีสามารถเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย
ข้อควรปฏิบัติอื่นๆ
สิ่งที่ควรตระหนักสำหรับผู้ป่วยที่มีบาดแผล นอกจากหลักโภชนาการที่ดีแล้ว ไม่ควรลืมการดูแลร่างกายในด้านอื่นๆ ได้แก่ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดของบาดแผลและส่วนต่างๆ ของร่างกาย เน้นสุขอนามัยที่ดี ใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ทำแผลที่สะอาดปราศจากเชื้อ หากผู้ป่วยไม่สามารถทำแผลได้เอง ควรไปใช้บริการในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมจะดีที่สุด ผู้ป่วยควรลดการใช้งานส่วนที่มีบาดแผล เช่น การคล้องแขนหรือการใส่เฝือก เพื่อลดการเคลื่อนไหวและทำให้เนื้อเยื่อบริเวณบาดแผล ใช้ออกซิเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงภาวะเครียด งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งขัดขวางกระบวนการสมานแผลตามธรรมชาติของร่างกาย หากสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมแล้ว จะทำให้กระบวนการสมานแผลเกิดขึ้นได้อย่างปกติ บาดแผลหายได้เร็ว ลดความเจ็บปวดและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยต่อไป
ภญ.ดร.ทพวรรณ ศิริเฑียรทอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)