
© 2017 Copyright - Haijai.com
โฆษณาเกินจริง รู้ทันไม่เป็นเหยื่อ
ทำไมประเทศไทยถึงปล่อยให้ไอ้โฆษณาลวงโลกมีเต็มไปหมด ที่พูดเนี่ยไม่อยากเห็นใครต้องมาตายเหมือนคุณแม่ มันไม่มีเหตุผลที่คนต้องมาตายเพราะโฆษณา ตายเพราะถูกฆ่า ตายเพราะหกล้มหัวฟาดพื้นเรายังรับได้ แต่นี่เราตายเพราะความโง่ เราถูกหลอก มันเจ็บปวด
พี่ปั่น (นามสมมติ) ถอนหายใจอย่างอ่อนล้า พร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าสลดใจถึงการจากไปของคุณแม่อย่างมีเงื่อนงำ ก่อนวัยอันควรด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“คุณแม่พี่อายุ 59 เป็นเบาหวาน ปกติพี่จะพาคุณแม่หาหมอที่โรงพยาบาลทุกครั้ง คุณหมอบอกว่าโรคเบาหวานของคุณแม่ไม่น่าเป็นห่วง อาการทั่วไปยังดีอยู่มาก เพราะคุณแม่รับประทานยาตลอด จนประมาณ ซัก 4 เดือน ที่แล้ว คุณแม่เห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง ผ่านรายการทีวีจานดำ ซึ่งอ้างสารพัดว่าสามารถรักษาผู้ป่วยอาการหนักได้ เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคเรื้อรังต่างๆ กินแล้วหายหมด พิธีกรยังไปสัมภาษณ์แม้กระทั่งพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ”
“ในที่สุดคุณแม่พี่ก็โทรศัพท์ไปสั่งซื้อกับตัวแทนจำหน่าย ราคากล่องละ 2,500 บาท เป็นราคาที่แพงมากสำหรับชาวบ้านที่มีอาชีพทำไร่ทำนาอย่างเรา แต่ก็อย่างว่านะ คนป่วยที่อยากหายจากโรคก็ต้องลงทุนเป็นธรรมดา หมอบอกว่าโรคเบาหวานรักษาไม่หาย แต่ไอ้โฆษณานี่มันให้ความหวังเราว่า รักษาเราให้หายได้ แล้วใครล่ะที่จะไม่เชื่อ”
“หลังจากกินผลิตภัณฑ์ตัวนี้แล้ว คุณแม่ก็เริ่มไม่ไปหาหมอตามนัด เนื่องจากเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ จากนั้นไม่นาน ประมาณ 2 เดือน คุณแม่ก็ทรุดหนัก และไปเสียชีวิตอย่างกะทันหันที่โรงพยาบาล หมอสรุปว่าเสียชีวิตจากอาการไตวาย”
เหยื่อโฆษณา
ทุกวันนี้เราจะเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเผยแพร่ผ่านทางวิทยุในชุมชน เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมมากมาย แม้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วก็ตาม แต่จากการสำรวจกลับพบว่าโฆษณาที่เผยแพร่ส่วนใหญ่นั้น มีการแอบเพิ่มเติมข้อมูลที่เกินจริงเข้าไปในโฆษณาที่ได้รับอนุญาตแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารกลับโฆษณาสรรพคุณว่าเป็นยา โอ้อวดว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้ หรือผลิตภัณฑ์ยาก็มักโอ้อวดสรรพคุณที่เกินจริงเช่นกัน เช่น กล่าวอ้างว่าสามารถรักษามะเร็งหรือโรคเรื้อรัง เบาหวาน ไขมัน ความดันโลหิต ได้อย่างชะงัด นอกจากนี้พบว่ามีการใช้วิธีโน้มน้าวต่างๆ เข้าไป เพื่อเสริมในการโฆษณาอีกด้วย เช่น กล่าวอ้างว่ามีผู้ป่วยหลายรายที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้แล้วอาการดีขึ้น หรือหายขาดจากโรคดังกล่าว วิธีการดังกล่าวเหล่านี้ยิ่งทำให้ผู้ป่วยหรือบุคคลที่ได้รับสื่อโฆษณาหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อไปซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ หรือบางรายถึงกับหยุดการรักษาทางการแพทย์ที่ตนเคยได้รับ และหันมาใช้แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเดียว เหยื่อโฆษณาสามารถมีได้ทุกเพศทุกวัย แต่ผู้สูงอายุนับว่าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อวดอ้างเกินจริงล้วนเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเรื้อรัง ที่มักจะพบในผู้สูงอายุ อีกทั้งผู้สูงอายุหลายรายขาดการศึกษาอย่างเพียงพอ มีความเชื่อมั่นในการแพทย์ทางเลือก และมีทิฐิคิดว่าตนเองถูก ทำให้ผู้สูงอายุมักจะเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรมนี้อยู่เสมอๆ
วิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบโฆษณาที่เป็นเท็จ
เพื่อป้องกันมิให้เราตกเป็นเหยื่อของโฆษณา ยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลอกลวง มีวิธีง่ายๆ ในการตรวจสอบว่าโฆษณาดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังนี้
• ตรวจสอบว่ามีเลขที่โฆษณาที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
ผลิตภัณฑ์สุขภาพ 3 ประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาตก่อนทำการโฆษณา ได้แก่ ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จะต้องแสดงเลขที่โฆษณาที่ได้รับอนุญาตนั้นให้ปรากฏในสื่อด้วย ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมาขออนุญาตก่อนโฆษณา เพียงแต่กำหนดว่าต้องโฆษณาภายในขอบเขตของกฎหมาย โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณามาบังคับใช้แทน ดังนั้น โฆษณาเครื่องสำอางจึงไม่มีเลขที่โฆษณาปรากฏให้เห็น
• ตรวจสอบว่าเนื้อหาของโฆษณาชิ้นนี้ตรงกับชนิดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ หรือไม่
ตามกฎหมายจะกำหนดลักษณะของยา อาหารเครื่องสำอางไว้อย่างชัดเจน แต่ก็พบว่าบางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เมื่อขออนุญาตและได้รับอนุญาตให้โฆษณาแล้ว เมื่อถึงเวลาโฆษณาก็จะเพิ่มเติมข้อความต่างๆ จนเกินจริง ดังนั้น หากเราพบยา อาหาร เครื่องสำอาง มีเนื้อหาในโฆษณาไม่ตรงกับความหมายตามที่กฎหมายกำหนด โฆษณาชิ้นนั้นย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน เช่น เป็นอาหาร หรือเครื่องสำอาง แต่กลับไปแสดงสรรพคุณในแง่การรักษา ป้องกันโรค อย่างนี้ถือว่าผิดกฎหมาย
จากประเด็นทั้งสองข้างต้นสามารถสรุปเป็นตารางประกอบการพิจารณาได้ดังนี้
ผลิตภัณฑ์ |
การระบุเลขที่ |
การแสดง |
การโฆษณา |
ยา |
ฆท.../... |
ไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากแต่ต้องแสดงเลขที่รหัสใบสำคัญการขึ้นทะเบียน เป็นตำรับยา |
สรรพคุณในการบำบัดบรรเทา รักษา ป้องกันโรค |
อาหาร |
ฆอ.../... |
เครื่องหมาย อย. พร้อมตัวเลข 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. |
กิน ดื่ม อม เป็นอาหารไม่สามารถอ้างถึงสรรพคุณ ในการรักษาหรือป้องกันโรค |
เครื่องมือแพทย์ |
ฆพ.../... |
ในกรณีเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือตรวจโรค คอนแทคเลนส์ ให้แสดงเครื่องหมาย อย. ในกรณีที่เป็นเครื่องมือที่ไม่มีความเสี่ยงสูง เช่น เครื่องนวด เครื่องบำบัดด้วยกระแสไฟฟ้า เต้านมเทียวซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย เตียงผ้าพันแผล ไม่ต้องแสดงเครื่องหมาย อย. แต่ ให้แสดงเลขที่แจ้งรายละเอียดเครื่องมือแพทย์ |
ไม่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ไม่แสดงการรับรองหรือ ยกย่องคุณประโยชน์ของเครื่องมือแพทย์ โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง |
เครื่องสำอาง |
ไม่ต้องมีเลขที่โฆษณา |
ไม่ต้องแสดง แต่ต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง ซึ่งประกอบด้วยตัวเลข หลัก |
ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาด สวยงาม ไม่สามารถอ้างถึงสรรพคุณในการรักษาหรือป้องกันโรค |
ที่สำคัญ หากพบว่าเนื้อหาโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดนั้น โอ้อ้วดสรรพคุณเกินจริง เสมือนเป็นยาเทวดา ย่อมต้องสงสัยไว้ก่อนว่าหลอกลวงแน่นอน คิดง่ายๆ คือ ถ้าผลิตภัณฑ์ดีจริงขนาดนี้ ทำไมในโรงพยาบาลไม่นำไปใช้ มาปล่อยให้โฆษณาแบบนี้ได้อย่างไร
เราสามารถช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยได้ หากเราพบโฆษณาหลอกลวง หรือโฆษณาที่น่าสงสัย เราสามารถร้องเรียนได้ที่ “ศูนย์เฝ้าระวัง และ รับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (สายด่วน 1556)” หรือ “กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด” แค่นี้ก็ถือว่าเรามีส่วนช่วยที่จะไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นๆ ต้อง “ทุกข์ล้นเหลือ เหยื่อโฆษณา” เหมือนที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ของพี่ปั่นที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)