Haijai.com


ฝึกเด็กสมาธิสั้น ด้วยดนตรีไทยบำบัด


 
เปิดอ่าน 1860

ฝึกเด็กสมาธิสั้น ด้วยดนตรีไทยบำบัด

 

 

การอยู่ร่วมกันของคนหมู่มากในสังคมปัจจุบันกับเรื่องบางเรื่อง อาจดูเป็นเรื่องยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ  ยังคิดว่าอยากที่จะอยู่ร่วมกัน   แล้วถ้าในกลุ่มคนที่มีความพิเศษ มีความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ  คงต้องบอกว่าโอกาสที่จะอยู่ร่วมกัน หรือมีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคนปกติ ก็คงจะเป็นเรื่องยาก หรือหากมองในด้านลบก็คงไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย  ความจริงแล้วไม่ว่ามนุษย์จะเป็นอย่างไรนั้น สิ่งหนึ่งและสิ่งเดียวที่จะสามารถทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขนั่นก็คือ การให้โอกาสซึ่งกันและกัน  การให้อภัย และ เปิดใจที่จะยอมรับข้อแตกต่างของกันและกัน   แล้วเอาจุดอ่อน จุดด้อย จุดแข็งของแต่ละคน มาปรับใช้เข้าหากันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองฝ่าย  เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้สังคมปัจจุบันของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

 

 

ในบางครอบครัวที่ตอนนี้อาจจะมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัวที่มีความไม่พร้อมสมบูรณ์ ทางด้านร่างกาย ด้านสติปัญญา ก็คงจะเข้าใจตรงจุดนี้ได้เป็นอย่างดี  เพราะความทุกข์ที่เกิดจากความสงสารลูกนั้นมีมากเป็นทวีคูณ ยิ่งพอรู้ว่าในอนาคตต่อไปลูกจะต้องออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกร่วมกันกับคนอื่นๆ  ย่อมเกิดความกังวลว่าลูกจะไปได้ดีเหมือนกับคนอื่นหรือเปล่า ลูกจะทำกิจกรรมต่างๆ  ได้เหมือนกับคนอื่นหรือไม่   แล้วคนรอบข้างจะให้โอกาสกับลูก เหมือนอย่างที่คนในครอบครัวให้หรือเปล่า ที่สำคัญลูกจะมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งพอที่จะยอมรับความบกพร่องของตัวเองได้หรือเปล่า หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ ย่อมเกิดคำถาม มีความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกอย่างแน่นอน

 

 

ปัญญาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่เราสามารถพบหรือสังเกตได้จากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กได้นั้น ก็คือในเรื่องของสมาธิ  ปัจจุบันมักพบเด็กที่มีปัญหาในเรื่องของสมาธิสั้น ซึ่งพบได้บ่อยขึ้นจากสาเหตุมากมาย ทั้งสภาพแวดล้อม พันธุกรรม ยีน เปลือกสมองเติบโตช้ากว่าเด็กทั่วไป  ปัญหาสมาธิสั้นที่เกิดกับเด็กนั้นได้สร้างความหนักใจและส่งผลต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการดำเนินชีวิต แต่ก็ไม่เท่าในเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้น เพราะปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตโดยตรงต่อเด็ก ที่ต้องมีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน หรือในเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่รอบข้างตัวเด็กไม่เข้าใจ และไม่พยายามที่จะหาทางแก้ไขให้กับเด็กได้อย่างถูกวิธี ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างมากแน่นอน

 

 

วิธีสังเกตอาการว่าลูกเป็นเด็กสมาธิสั้นหรือไม่นั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้เองก่อนที่จะนำข้อสงสัยนี้ไปปรึกษาต่อยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการดำเนินการรักษาบำบัดอาการสมาธิสั้นให้ดีขึ้น ซึ่งอาการของกลุ่มเด็กสมาธิสั้น สามารถที่จะสังเกตได้อยู่ 3 กลุ่มหลักๆ คือ

 

 

1.อาการซนมากกว่าปกติ (Hyper Activity) ลักษณะความซนจะมากกว่าเด็กทั่วๆ ไป ซนชนิดที่ไม่ยอมอยู่นิ่ง ลุกลี้ลุกลนอยู่ตลอดเวลา ไม่สนใจที่จะเล่นให้จบเป็นอย่างๆ ไป เล่นอันนี้แล้วก็วิ่งไปเล่นอันโน้นต่ออยู่ตลอดเวลา

 

 

2.มีความวอกแวกง่าย แม้แต่สิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เด็กเสียสมาธิได้ง่ายๆ  นอกจากนั้นยังแสดงออกในรูปของการทำงานไม่ค่อยสำเร็จ กว่าจะเสร็จได้ต้องใช้เวลานานมาก

 

 

3.อาการหุนหันพลันแล่น (Impulsive) เด็กมักจะแสดงออกในลักษณะที่รอคอยไม่เป็น เช่น เวลาที่พ่อแม่คุยกัน เด็กก็จะพูดแทรกขึ้นมา หรือเวลาที่พาไปข้างนอกด้วย ก็มักที่จะชอบวิ่งไปดูนั่นดูนี่ บอกให้รอให้เข้าแถวก็มักที่จะวิ่งผลีผลามออกไป

 

 

ในปัจจุบันนี้ได้มีการรักษา หรือบำบัดกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเรื่องของสมาธิสั้นออกมาในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยการใช้ยา การรักษาด้วยการใช้วิธีการบำบัดทั้งในรูปแบบของ อาชาบำบัด ศิลปะบำบัด วารีบำบัด และดนตรีบำบัด ฯลฯ ซึ่งวิธีต่างๆ เหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ เพื่อต้องการให้กลุ่มเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นได้มีอาการที่ดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิต และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนอื่นๆ ได้เป็นปกติ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)