© 2017 Copyright - Haijai.com
ซีสต์ที่เต้านม
ซีสต์เป็นคำที่คนไทยรู้จักและได้ยินกันมาก แต่มีคนไทยไม่น้อยที่ไม่รู้จริงเนื่องจากได้ยินเผินๆ มาจากสื่อจากการเจ๊าแจ๊ะ จากการพูดคุยกับช่างเสริมสวย จากไลน์ ทำให้หลายคนกลัวโรค “ซีสต์” บางคนปวดเต้านมตามรอบเดือนปกติแล้ว ได้ยินเพื่อนในลานแอโรบิกบอกว่าอาจจะเป็นซีสต์ ทำให้วิตกรีบไปหาหมอ บีบหมอ 30 บาท ให้ตรวจแมมโมแกรม
ความชุก
ซีสต์ หมายถึง ถุงน้ำที่เกิดขึ้นในเนื้อเต้านม อาจจะมีขนาดตั้งแต่ตามองไม่เห็นไปจนถึง 20-30 ซีซีก็มี และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในเนื้อเต้านม ซีสต์ก้อนที่ใหญ่หน่อยจะคลำพบได้ประมาณกันว่าในผู้หญิงทุกๆ 14 คน จะพบก้อนแบบนี้ 1 คน และ 50% พบว่ามีหลายถุงหรือมีถุงที่กลับเป็นซ้ำขึ้นมาใหม่
มะเร็งที่เกิดในซีสต์หายากมาก มีคนเคยศึกษาพบว่ามีแค่ 3 ใน 3,000 (0.1%) รายที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งจากน้ำที่ดูดออกมาจากซีสต์ นักวิจัยคนอื่นๆ ที่เคยศึกษาก็ยืนยันสถิตินี้ จึงสรุปได้ว่าไม่มีหลักฐานว่าซีสต์เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมและตัวซีสต์เองก็ไม่ใช่มะเร็ง
การตรวจรักษา
ก้อนที่คลำได้ที่เต้านมอาจจะพิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นถุงน้ำ โดยการตรวจด้วยอัลตราซาวน์ หรือโดยวิธีใช้เข็มเจาะดูด ถ้าได้น้ำและก้อนซีสต์ยุบลงก็ยืนยันว่าเป็นซีสต์หรือถุงน้ำ เมื่อคนไข้ไปหาศัลยแพทย์ด้วยเรื่องก้อน แพทย์จะทำการดูดก้อนซีสต์ที่คลำได้ หรืออาจส่งไปทำอัลตราซาวนด์ก่อนก็ได้ แต่การทำอัลตราซาวนด์ อาจจะเห็นซีสต์เพิ่มจากที่คลำได้ แต่ซีสต์ที่คลำไม่ได้มักจะมีขนาดเล็กเหมือนฟองน้ำในแก้วน้ำที่เราเขย่า ซึ่งไม่มีความสำคัญต่อสุขภาพหรือการรักษา
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเมื่อเต้านมคนไข้เกิดซีสต์แล้วมักจะเกิดพังผืดหรือเนื้อเยื่อเหมือนแผลเป็นขึ้นรอบๆ ซีสต์ สภาวะซีสต์บวกพังผืดนี้เรียกว่า Fibrocystic disease บางคนเห็นว่ามันไม่ใช่โรค จึงใช้คำว่า Fibrocystic change แทน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักจะพบในหญิงอายุ 40-50 ปี ซึ่งหลังจากหมดประจำเดือนแล้วอุบัติการณ์จะลดลง
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งขึ้นๆ ลงๆ ในแต่ละรอบเดือน และการเปลี่ยนแปลงนี้บางรายเกิดขึ้นมากผิดปกติ จากอิทธิพลของฮอร์โฒนในกระแสเลือดหรือที่ผลิตขึ้นที่เต้านมและปัจจัยอื่นที่ทำให้เซลล์งอกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่เต้านมคือ อาการปวด กดหรือแตะเจ็บ เป็นก้อนคลำได้ตะปุ่มตะป่ำ อาการนี้มักเกิดก่อนระดูอาการปวดเต้านมนี้ เป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิง เนื่องจากทำให้เกิดความกลัวว่าจะเป็นเพราะมะเร็งหรือเปล่า แต่จากการศึกษาพบว่าอาการปวดเต้านมส่วนมากไม่ได้เกิดจากมะเร็งเต้านม การศึกษาของผู้เชี่ยวชาญเรื่องเต้านมพบว่าในคนไข้มะเร็งเต้านม มีแค่ 5.4% เท่านั้นที่มาด้วยเรื่องปวดเต้านม แต่คนไข้ที่มีอาการปวดเต้านมและคลำก้อนได้ที่เต้านมมักจะกลัวเกรงมะเร็งมากขึ้น จึงทำให้แพทย์ต้องตรวจสืบค้นหาสาเหตุของโรคให้มากขึ้น
ปกติอาการปวดเต้านมในผู้หญิงมักจะเกิดจากฮอร์โมนเพศจากรังไข่ อาการปวดมักจะเกิดเป็นรอบเดือน ตอนก่อนมีระดู อาการแบบนี้มักรักษาตามอาการ แต่บางคนปวดไม่สัมพันธ์กับระดู ในรายแบบนี้จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมจากการตรวจร่างกายอย่างเดียว มีอยู่บ่อยๆ ที่ก้อนถุงน้ำอย่างเดียวก็เป็นสาเหตุของอาการปวดเต้านมได้แล้ว หลังจากเจาะซีสต์ เอาน้ำในถุงออก ถุงซีสต์ยุบ อาการปวดก็หายไป ในคนไข้ที่มีซีสต์แบบธรรมดา เมื่อดูดยุบแล้วไม่จำเป็นต้องทำอะไรต่อ แต่ในรายที่มีถุงน้ำหลายถุงซับซ้อนบวกกับมีก้อนแข็งผสมด้วย ก็จำเป็นต้องตรวจแยกแยะว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ด้วยหรือไม่
คนไข้ที่มีซีสต์บวกก้อนมักจะคลำพบเนื้อเต้านมไม่นุ่ม แต่แข็งเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ การตรวจเพิ่มเติมคือการทำเอกซ์เรย์เต้านม (Mammogram) ร่วมกับการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ การตรวจแบบนี้เขาพบว่าในหญิงปกติวัย 35 ถึง 50 ปี จะตรวจพบถุงน้ำและพังผืดประมาณ 30% ซึ่งคลำด้วยมือไม่พบ แบบนี้ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ในหญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี และมากกว่า 60 ปี จะพบซีสต์ธรรมดาหรือซีสต์บวกก้อนพังผืดได้น้อย การตรวจพบแบบนี้มีอยู่บ่อยๆ ที่รังสีแพทย์ผู้ที่ตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ พูดให้คนไข้ฟังว่าเป็น “ซีสต์” ทำให้คนไข้หลายรายมีความวิตกกังวล เพราะคำว่า “ซีสต์” ทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องรีบวิ่งมาหาศัลยแพทย์
ก้อนซีสต์บวกพังผืดนี้ บางกรณีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ผิดปกติซึ่งนำไปสู่มะเร็งได้ ดังนั้นเมื่อมีก้อนซีสต์บวกพังผืดเป็นก้อนคลำได้ชัด จำเป็นต้องตรวจเพิ่ม เช่น โดยการเจาะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ดูว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีก็หมายความว่ามีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งได้ ทำให้จำเป็นต้องผ่าตัดก้อนที่คลำได้นั้นออกไปทั้งก้อน ซึ่งเป็นการรักษาส่วนหนึ่งและเป็นการตรวจก้อนทั้งก้อน เพื่อความละเอียดรอบคอบมากขึ้น
ซีสต์ที่เต้านมเป็นปัยหาที่พบได้บ่อย เป็นสิ่งที่ถ้าเรารู้จักมันดีแล้วเราจะไม่กลัวมันจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนต้องส่งไลน์ไปปลุกเพื่อนคนโน้นคนนี้ขึ้นมาปรึกษา
นพ.นริศ เจนวิริยะ
ศัลยแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)