
© 2017 Copyright - Haijai.com
น้ำหนักตัวแม่ถ้าขึ้นมาก ส่งผลต่อการตั้งครรภ์
การเป็นแม่นั้นต้องเตรียงพร้อมในหลายด้าน ทั้งศึกษาหาความรู้ เตรียมหาอุปกรณ์เลี้ยงดูเด็ก ระมัดระวังการกระทบกระเทือนครรภ์ ดูแลรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด และไม่น่าเชื่อว่าการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กดังรายงาน วิจัยในสก๊อตแลนด์ที่ครธผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลย้อนหลังของแม่จำนวน 12,740 คน ที่มาคลอดลูกครั้งแรกและครั้งที่ 2 ที่โรงพยาบาล Aberdeen Maternity เมืองแอเบอร์ดีน และหาความสัมพันธ์ระหว่างความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัวแม่ ที่มาตรวนเป็นครั้งแรกก่อนคลอดทั้งสองครั้ง กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งที่สอง ได้แก่ โรคครรภ์เป็นพิษระยะก่อนชักความดันเลือดสูงขณะตั้งครรภ์ การทำคลอดที่ต้องอาศัยการเหนี่ยวนำจากภายนอก การผ่าท้องทำคลอด การมีทารกตัวใหญ่หรือตัวเล็กกว่าเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังได้สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว แม่ระหว่างการตั้งครรภ์ทั้งสองครั้งกับน้ำหนักของรกอีกด้วย
ผลการศึกษาพบว่า การที่น้ำหนักตัวแม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (มากกว่า 3 หน่วยดัชนีมวลกาย) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์ เป็นพิษระยะก่อนชักความดันเลือดสูงระหว่างตั้งครรภ์ การผ่าท้องทำคลอดฉุกเฉิน ขนาดรกที่ใหญ่ผิดปกติ และทารกใหญ่กว่าปกติส่วนแม่ที่น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 1 หน่วยดัชนีมวลกายจากากรตั้งครรภ์ครั้งก่อน ก็มีความเสี่ยงที่จะคลอดลูกก่อนกำหนดมากขึ้น ตลอดจนได้รกที่มีน้ำหนักต่ำและทารกเล็กกว่าปกติ เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มแล้ว ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษระยะก่อนชักจะเห็นได้เด่นชัด ในกรณีที่แม่มีน้ำหนักตัวก่อนการคลอดครั้งแรกเกินเกณฑ์ (ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ตามเกณฑ์ของชาวตะวันตก) แล้วมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ ส่วนแม่ที่มีน้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ครั้งแรกน้อยกว่าเกณฑ์ (ค่าดัชนีมลกายน้อยกว่า 25) แล้วมีน้ำหนักตัวลดลง ก็มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุของผลการวิจัยดังกล่าว คณะผู้วิจัยคิดว่าน่าจะมาจากากรที่การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัวสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงภาวะโภชนาการของแม่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของรกและภาวะอื่นๆ ระหว่างการตั้งครรภ์
จากที่กล่าวมาทั้งหมด การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ในเกณฑ์ปกติจึงนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพของแม่และเด็กได้อีกด้วย ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยจึงควรใส่ใจที่จะดำเนินวิถีชีวิตสุขภาพ รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอดี หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์จนเป็นปัญหาสุขภาพในที่สุด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)