
© 2017 Copyright - Haijai.com
ความผิดปกติของดวงตา คุณก็สังเกตได้
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญหลักของร่างกาย ช่วยให้เราได้เปิดโลกกว้างเรียนรู้กับสิ่งต่างๆ ได้รอบตัว แต่ถ้าดวงตาสวยๆ เกิดเป็นอะไรขึ้นมาเราจะมีวิธีสังเกตอย่างไร ทั้งลักษณะดวงตา การมองเห็น หรือแม้กระทั่งสีของขี้ตา ก่อนที่กระต่ายจะตื่นตูม มีวิธีสังเกตมาฝากค่ะ
ส่วนประกอบหลักของดวงตามีอะไรบ้าง
1.กระจกตา เป็นส่วนนอกสุดของดวงตา ทำหน้าที่รวมแสงให้ไปตกที่จุดรับภาพหรือจอประสาทตา หากส่วนนี้มีปัญหา จะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัด เป็นฝ้าขาว
2.เลนส์แก้วตา ทำหน้าที่รวมแสงให้ไปตกที่จุดรับภาพที่จอประสาทตาเช่นเดียวกับกระจกตา ถ้ามีปัญหา การมองเห็นภาพจะไม่ชัด เป็นฝ้าขาวเช่นกัน
3.จุดรับภาพ (จอประสาทตา) เป็นจุดรับภาพของกระจกตาและเลนส์แก้วตา หากจุดรับภาพมีปัญหาจะทำให้เห็นภาพมืดเป็นจุดๆ เป็นบางส่วนหรืออาจมืดไปทั้งหมด
4.เส้นประสาท ทำหน้าที่รับภาพจากจอตาที่ดวงตา เพื่อไปแปลผลที่สมอง ถ้ามีปัญหาอาจบอดได้
ดวงตาบอกอะไรคุณบ้าง
ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ค่อยมีใครสังเกตดวงตาตนเองเท่าไหร่นัก ถ้าวันหนึ่งไม่รู้สึกเจ็บหรือเคืองตาขึ้นมา ก็จะไม่มีวันหยิบกระจกขึ้นมาส่องดูความผิดปกติของดวงตา (ยกเว้น คุณสาวๆ ที่อาจจะหยิบขึ้นมาดูตลอดทั้งวัน เพื่อสังเกตว่ามีริ้วรอยอะไรที่ดวงตาบ้างไหม) แต่รู้หรือไม่ว่า ความผิดปกติของดงตาและบริเวณโดยรอบ สามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของคุณได้
ขอบตาคล้ำ
เห็นขอบตาเป็นหมีแพนด้าแบบนี้ใช่จะตัดสินว่า เกิดจากากรนอนน้อยเสมอไป เพราะขอบตาคล้ำมีสาเกตุมากกว่านั้น
1.โรคภูมิแพ้ ด้วยตัวโรคทำให้เราต้องขยี้ตาบ่อยครั้ง และคนเป็นโรคภูมิแพ้ เส้นเลือดที่อยู่รอบตาจะมีมากกว่าคนปกติ และผิวบริเวณดวงตาค่อนข้างบาง จึงทำให้ตาดูคล้ำ
2.การพักผ่อน เป็นสีที่เกิดจากหลอดเลือดขยายตัว เมื่อพักผ่อนน้อยทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เส้นเลือดดำขยาย ขอบตาจึงคล้ำ
วิธีป้องกันรักษา ถ้าเป็นภูมิแพ้ อาจรักษาไม่ค่อยได้ เนื่องจากเป็นที่ตัวโรค และโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ส่วนขอบตาคล้ำจากพักผ่อนน้อยก็เพียงพักผ่อนให้เพียงพอมากขึ้น รอยคล้ำก็จะหายไป
หนังตาบวม
ส่วนใหญ่พบได้ในโรคภูมิแพ้ เนื่องจากเส้นเลือดขยายเพราะการไหลเวียนของเลือดไม่ดี เมื่อเส้นเลือดขยายหนังตาก็จะบวมไปด้วย และคนที่เป็นภูมิแพ้เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นทำให้เกิดการหลั่งสารที่ชื่อ “ฮีสตามีน” จึงทำให้เกิดการบวม หากสังเกตว่าตาบวมนานๆ ร่างกายอาจเกิดการแพ้สารบางอย่าง จึงต้องได้รับการตรวจว่าแพ้สิ่งใด
วิธีป้องกันรักษา ถ้ารู้สาเหตุว่าแพ้จากอะไร ก็ควรเลี่ยงสิ่งกระตุ้นนั้นๆ หรือใช้ความเย็นประคบให้เส้นเลือดหดตัว
ตาเหลือง
พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ หรือโรคดีซ่าน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เป็นโรคดีซ่านจะมีภาวะเหลืองทั้งตัว ทำให้ดวงตาเหลืองตามไปด้วย ลักษณะของโรคเกิดจาก บิลลิรูบิน (Biirubin) หากรักษาโรคดีซ่านหรือเรื่องตับให้ดีขึ้นได้ ดวงตา ก็จะหายเหลืองด้วยเช่นกัน
ตาแดง
อาการตาแดงสามารถแยกออกได้หลายสาเหตุ เนื่องจากเกิดได้หลายปัจจัย ซึ่งโดยมากอาการนำของดวงตาก็มักจะทำให้เกิดตาแดงก่อนเช่นกัน เกิดจากเส้นเลือดที่ขยายตัวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก
• ตาแห้ง เกิดจากการอักเสบ ทำให้ตาแดง สามารถหยอดน้ำตาเทียมบรรเทาได้
• ติดเชื้อ ทำให้ตาแดงเนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในเยื่อบุตา ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ รักษาได้โดยการให้ยาฆ่าเชื้อ
ตาดำขุ่น
ส่องกระจกทีไรเห็นตาดำขุ่นผิดปกติไป เกิดจาการมีแผลที่กระจกตา ซึ่งแผลที่กระจกตาเกิดจาก การติดเชื้อ ทำให้เกิดแผลเป็นที่กระจกตา ในคนไทยส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 เกิดจากการติดเชื้อจากคอนแทคเลนส์ มักพบได้ในผู้ที่เป็นกรรมกร คนตัดหญ้า เนื่องจากมีเศษ ดิน หิน เข้าในตา ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเป็นแผลเป็น
วิธีป้องกันรักษา ไม่มีความเจ็บใดๆ เนื่องจากแผลเหล่านี้เป็นแผลเป็นไปแล้ว แต่มีผลกระทบคือ จะทำให้มองไม่ชัด ซึ่งหากแผลเป็นอยู่ในจุดที่อยู่ในบริเวณของการมองเห็น จะต้องเปลี่ยนกระจกตาใหม่ แต่หากอยู่ในจุดที่ไม่มีบทบาทในการมองเห็นก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกระจกตา
ตาดำที่มีสีเขียว
พบได้ในโรควิลสัน (Wilson’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากทองแดงในเลือดสูงเกินไป ทำให้ทองแดงเกิดการสะสมอยู่ในจุดต่างๆ เช่น ตับ สมอง ไต เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาจึงมีอาการทางสมองและตับร่วมด้วย หากสังเกตได้ว่ารอบตาดำมีสีเขียวๆ ล่ะก็ แสดงว่าเป็นโรควิลสัน
อย่าเพิ่งวิตกกังวลไป สีเขียวรอบดวงตาไม่มีผลกระทบต่อการมองเห็นใดๆ สามารถมองเห็นได้ตามปกติ เป็นเพียงข้อสังเกตที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเท่านั้น
เส้นเลือดฝอยในตาแดง
เกิดจากเส้นเลือดที่อยู่ภายในเยื่อบุตาขยายตัว มีสาเหตุดังนี้
1.โดนกระแทก
2.เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ
3.เกิดการเสียดสี
เส้นเลือดฝอยก็สามารถแตกได้แม้แต่ไอแรงๆ หากตาแดง 2 ข้าง มักเกิดจากการติดเชื้อ หรือตาแห้ง หากตาแดงข้างเดียว ก็อาจติดเชื้อข้างเดียวก่อนได้เช่นกัน แล้วเชื้อจึงลามไปติดดวงตาอีกข้างหนึ่ง
สังเกตความผิดปกติจากการมองเห็น
• มองเห็นฝ้าขาว หากเห็นฝ้าขาวเหมือนมีหมอกอยู่ตลอดเวลา อาจเกิดจากต้อกระจก แต่หากเกิดฝ้าเพียงบางครั้งนั้น อาจเกิดจากตาแห้งได้ ซึ่งการหยอดน้ำตาเทียมจะทำให้อาการดีขึ้น
• มองเห็นดวงไฟ อาจเกิดจากต้อกระจกบางชนิด แต่หากเป็นไฟแลบร่วมด้วย เรียกว่าอาการ แฟลชชิ่ง ส่วนใหญ่พบว่าจอประสาทตามีปัญหา บอกถึงการถูกดึงรั้งที่จอประสาทตา
• มองเห็นภาพเล็กเกินไป หรือข้างหนึ่งมองภาพใหญ่ แต่อีกข้างหนึ่งมองเห็นเป็นภาพเล็ก แสดงให้เห็นว่ามีปัญหาที่จุดรับภาพ
• มองเห็นภาพซ้อน มี 2 แบบ ซึ่งมักเจอได้บ่อย ในคนอายุมาก อาจเกิดจากต้อกระจกได้เช่นกัน
• มองเห็นภาพซ้อนทั้งสองข้าง เช่น ปิดตาข้างหนึ่งแล้วไม่เห็นภาพซ้อน แต่เมื่อมองสองข้างจะเห็นภาพซ้อน เกิดจากปัญหาของดวงตาเข
• มองเห็นภาพซ้อนข้างเดียว เช่น ปิดตาข้างหนึ่งเห็นภาพซ้อน เปิดตาก็ยังเห็นภาพซ้อน อาจเกิดจากต้อกระจก
• เห็นภาพชัดเวลากลางคืน มีอาการมองไม่ชัดในเวลากลางวัน เป็นอาการของต้อกระจก แต่เป็นต้อกระจกชนิดพิเศษ เนื่องจากม่านตาเปิด ทำให้แสงเข้าจำนวนมาก จึงมองเห็นชัดเวลาตอนกลางคืน พบได้จำนวนไม่มากนัก มีเพียงร้อยละ 10 ของคนที่เป็นต้อกระจก
• มีวุ้นในลูกตา เป็นภาวะวุ้นลูกตาเสื่อม วุ้นมีลักษณะเป็นก้อนเมื่ออายุมากขึ้น และจะเหลวเป็นบางส่วน ส่วนที่ไม่เหลวนี่เองที่เมื่อเรามองผ่านแสง จึงทำให้เห็นลักษณะเป็นก้อน จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และหากมองเห็นแสงวาบร่วมกับเห็นจุดดำลอยไปลอยมา อาจเกิดจากจอประสาทตาฉีกขาดได้
ใส่คอนแทคเลนส์อย่างไรให้ปลอดภัย
สิ่งที่สำคัญในการเลือกคอนแทคเลนส์ คือ ต้องดูว่าคอนแทคเลนส์ที่ใส่พอดีกับตาเราหรือไม่ ตรวจสอบได้จากจักษุแพทย์ที่ทำการวัด ซึ่งต้องไม่คับหรือหลวมจนเกินไป ต่อให้รักษาอย่างดี ดูแลอย่างถูกวิธีก็มีปัญหาต่อดวงตาได้ แต่การใส่ให้พอดีกับดวงตาแม้ต้องใส่นานๆ แต่ถ้าดูแลรักษาดีๆ ก็ไม่มีปัญหา สามารถใส่นานได้
• บิ๊กอาย คอนแทคเลนส์ยอดฮิตของสาวๆ ตัวช่วยให้ดวงตากลมโตแบ๊วเสมือนสาวญี่ปุ่นเกาหลีนั้น ก็เป็นคอนแทคเลนส์ชนิดหนึ่ง ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการใส่เป็นเวลานานเกินไป และการใส่นอนข้ามคืน
• ผลเสีย เนื่องจากกระจกตาจะได้รับสารอาหารอยู่ 2 ที่ คือ น้ำตา และน้ำในช่องบริเวณหน้าม่านตา บริเวณนี้จะมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกันอยู่เสมอ เมื่อใส่คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน ทำให้กระจกตาไม่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน เป็นผลให้การไหลของน้ำตาน้อยลง ยิ่งใส่นานๆ เท่าไร การแลกเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป ออกซิเจนที่ได้รับก็น้อยลง เกิดอาการบวม และถ้ามีสิ่งสกปรกไปเกาะ หรือเข้าตาขณะสวมคอนแทคเลนส์ ก็จะทำให้เกิดการขูดกระจกตาได้ กระจกตาจึงเป็นแผลในที่สุด
ซื้อยาหยอดตาเองได้หรือไม่
ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็น หากเป็นเพียงตาแห้งธรรมดาก็สามารถซื้อน้ำตาเทียมมาหยอดเองได้ ทำให้อาการตาแดงทุเลาลง แต่หากเกิดการติดเชื้อ สังเกตได้โดยมีอาการสัมพันธ์คือ มีขี้ตา ก็ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป ซึ่งสีของขี้ตาขึ้นอยู่กับเชื้อที่ติดแตกต่างกัน ขี้ตาสีเขียว เหลือง ติดเชื้อแบคทีเรีย ขี้ตาสีขาว ติดเชื้อไวรัส
ยืดอายุดวงตาคู่สวย
1.หมั่นหยอดน้ำตาเทียม โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นประจำ มักมีอาการตาแห้ง ทำให้ตาแดงอยู่เสมอ ควรหยอดวันละ 3-4 ครั้ง หรือหยอดทุกครั้งเมื่อมีอาการ
2.พักสายตาเมื่อใช้คอมนานๆ โดยทำงานครึ่งชั่วโมง ควรพักสายตา 2-3 นาที ไม่ควรใช้สายตาเกิน 45 นาที
3.หลีกเลี่ยงจากการใส่คอนแทคเลนส์ และใส่แว่นแทน
ฝึกบริหารสายตาง่ายๆ
หลายคนเข้าใจว่าการกระพริบตาถี่ๆ จะช่วยบริหารสายตา แต่ยิ่งกลับทำให้น้ำตาเคลือบตาไม่ทัน โดยปกติน้ำตาจะเคลือบตาตอนที่กระพริบตา การกระพริบตาถี่จะทำให้ตาแห้งกว่าเดิม การบริหารสายตาควร ฝึกการมองใกล้ มองไกล เช่น ถือปากกาเข้าใกล้ตา และยื่นออกให้ไกลดวงตา สามารถบริหารสำหรับผู้ที่เริ่มีสายตายาวได้ด้วยเช่นกัน
นายแพทย์ลักธพล ม้าลายทอง
จักษุแพทย์
โรงพยาบาลพญาไท 1
(Some images used under license from Shutterstock.com.)