Haijai.com


โรคไต คืออะไร


 
เปิดอ่าน 22114

โรคไต คืออะไร

 

 

ไต เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายมนุษย์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำรงชีวิต คนเราปกติจะมีไตอยู่ด้วยกัน 2 ข้าง วางอยู่บริเวณกลางหลังข้างละ 1 อัน ไต ทำหน้าที่กลั่นกรองน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการ พร้อมทั้งยังทำการคัดหลั่งของเสียออกจากร่างกาย ในรูปของน้ำปัสสาวะผ่านกรวยไตลงไป เก็บกักในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้พร้อมในการกำจัดทิ้งออกทางท่อปัสสาวะ นอกจากนี้ ไตยังทำหน้าที่ปรับสมดุลของน้ำและเกลือแร่ กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด ทำการสร้างฮอร์โมนอีกหลากหลายชนิดในร่างกาย และควบคุมความดันโลหิต

 

 

โรคไต หมายถึง โรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของไต ในการทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย นั่นก็คือ ไตไม่สามารถรักษาความสมดุลของเกลือ และน้ำร่างกายได้เหมือนปกติ โรคไตมีหลายประเภท อาทิเช่น โรคไตวายฉับพลัน โรคไตวายเรื้อรัง โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคถุงน้ำที่ไต เป็นต้น

 

 

ความดันโลหิตสูง ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมาก ยิ่งผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมานาน และไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้นั่น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตมากกว่าปกติ

 

 

อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคไตมีดังนี้

 

ผู้ป่วยโรคไต มักมีอาการปัสสาวะผิดปกติ เนื่องจากไต และกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่สัมพันธ์กัน ดังนั้น เมื่อไตทำหน้าที่ผิดปกติ จึงส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติไปด้วย เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบก ต้องออกแรงเบ่ง ปัสสาวะกะปริบกระปรอย ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นฟองมากเกินธรรมดา และผู้ป่วยโรคไตส่วนมาก มีอาการบวมตามที่ต่างๆ ของร่างกาย เช่น บวมที่บริเวณใบหน้า บวมที่เท้า หากใช้นิ้วกดไปตรงบริเวณที่บวมแล้วมีรอยบุ๋มลงไป นอกจากนี้ยังมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง เอว กระดูกและข้อ ประการสำคัญ

 

 

ความดันโลหิตสูงก็เป็นอาการสำคัญที่บอกให้เราได้รู้ว่า เรามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ยิ่งผู้ป่วยเป็นความดันโลหิตสูงมากนาน และไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิต ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้ นั่นก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไตมากกว่าปกติ

 

 

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่อ้วนเกินไปจะทำให้ไตทำงานหนัก และทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น ควรพักผ่อนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

 

 

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของโรคไต

 

 โรคไตที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital) เช่น มีไตข้างเดียว ไตมีขนาดไม่เท่ากัน โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ เป็นต้น

 

 

 โรคไตที่เกิดจากการอักเสบ (Inflammation) เช่น โรคของกลุ่มเลือดฝอยของไตอักเสบ (glomerulonephritis)

 

 

 โรคไตที่เกิดจากการอุดตัน (Obstruction) เช่น โรคไตที่เกิดจากการอุดตันจากก้อนนิ่ว โรคไตที่เกิดการอุดตันจากมะเร็งปากมดลูกไปกดท่อไต เป็นต้น

 

 

 โรคไตที่เกิดจากการติดเชื้อ (Infection) ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไตเป็นหนอง กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น

 

 

 โรคไตที่เกิดจากการมีเนื้องอก ที่ไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเนื้องอกที่ไตนี้ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด

 

 

การป้องกันการเกิดโรคไต

 

1.หมั่นสนใจสุขภาพของตนเอง และไปรับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เช่น วัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดหาระดับของเสียในร่างกาย

 

 

2.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และปรุงสุกสะอาด หลีกเหลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง ไม่รับประทานโปรตีนมากจนเกินไป และไม่รับประทานอาหารน้อยจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารรสจัด ไม่ควรรับประทานอาหารที่เค็มมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ลดปริมาณอาหารมื้อเย็น โดยเฉพาะมื้อดึก ให้ความสำคัญกับอาหารมื้อแรกของวัน

 

 

3.เลือกออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอและอย่างเหมาะสม การออกกำลังกายจะสามารถลดระดับความดันโลหิตลงได้ ลดไขมันส่วนเกิน ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้อีกด้วย ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม ไม่ควรออกกำลังกายเมื่อร่างกายไม่พร้อม

 

 

4.ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ 8 แก้วต่อวัน การดื่มน้อยไปจะทำให้ไตเสื่อม แต่ก็อย่าดื่มมากจนเกินไป

 

 

5.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่อ้วนเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนัก และทำให้ความดันภายในไตสูงขึ้น

 

 

6.พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน

 

 

7.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานๆ และบ่อยครั้งจนเกินไป จากงานวิจัยพบว่า การกลั้นปัสสาวะนานๆ เป็นต้นเหตุให้เชื้อโรคแทรกซึมเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และเกิดการอักเสบของท่อทางเดินปัสสาวะ

 

 

8.หลีกเลี่ยงสารเสพติดให้โทษ รวมถึงบุหรี่และสุราด้วย การดื่มแอลกอฮอล์ จะมีผลเสียทั้งตับและไต และการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายได้รับสารพิษมากกว่า 50 ชนิด และทำให้ไตของผู้ที่สูบจะเสื่อมหน้าที่เร็วขึ้น 2 เท่า

 

 

9.อย่าหลงเชื่องมงาย กับคำโฆษณาของยาบำรุงไต ในท้องตลาดอาหารเสริมบางอย่าง มีเกลือผสมอยู่มาก จนทำให้เกิดโทษในผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังและโรคความดันโลหิตสูงได้

 

 

10.หลีกเลี่ยงกลุ่มยาที่อาจมีผลต่อไต เช่น ยาแก้ปวดข้อ ปวดเส้น ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งมักจะเป็นยาในกลุ่ม “ยาเอ็นเสด (NSAIDs)” ซึ่งเป็นยาลดการอักเสบที่มีฤทธิ์แรงมาก อย่างไรก็ตามควรใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

 

 

การรักษาโรคไต

 

สำหรับการตรวจค้นหา เพื่อการวินิจฉัยโรคไตที่เหมาะสมนั้น เราควรตรวจค้นหาให้ได้ในระยะต้นๆ ของโรคจะเป็นการดีที่สุด ยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไร ก็ย่อมมีโอกาสได้รับผลการรักษาดีกว่าการเข้าวินิจฉัยล่าช้า ในการรักษาจะเป็นการรักษาที่สาเหตุของโรคไต เช่น การรักษานิ่วไต การหยุดยา ซึ่งเป็นพิษต่อไต การควบคุมโรคเบาหวาน การควบคุมความดันโลหิตสูง และการใช้ยาที่เหมาะสมกับโรคเนื้อไตอักเสบ แต่ละชนิด เป็นต้น

 

 

อย่างไรก็ตามแม้แพทย์จะรักษาสาเหตุของโรคไตแล้ว แต่ผู้ป่วยจำนวนมาก อาจมีการทำงานของไตที่เสื่อมลงกว่าปกติ นั่นก็เป็นเพราะว่า เนื้อไตบางส่วนถูกทำลายไป และไตส่วนที่ดี ซึ่งเหลืออยู่จะต้องทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่า จนทำให้ไตเสื่อมการทำงานมากขึ้นตามระยะเวลา ดังนั้น การชะลอการเสื่อมของไต ก็เป็นการรักษาไตอีกอย่างหนึ่งด้วย เช่น การควบคุมอาหารให้เหมาะสม กับการทำงานของไตที่เหลืออยู่ การใช้ยาเพื่อช่วยปรับสาระต่างๆ ที่เป็นพิษต่อไต และการควบคุมความดันในโลหิตให้สม่ำเสมอ เป็นต้น

 

 

อนึ่งการล้างไต และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นการรักษาโรคไตในระยะสุดท้าย เมื่อไตวายมากขึ้น จนเข้าระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา ด้วยการล้างไตหรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

(Some images used under license from Shutterstock.com.)