© 2017 Copyright - Haijai.com
HPV ไวรัสร้ายใกล้ตัว ป้องกันได้ตั้งแต่วัยรุ่น
เชื้อเอชพีวี (HPV) หรือชื่อเต็มคือไวรัสฮิวแมนแพลพิลโลมา (Human Papillomanvirus) เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด โดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
HPV ชนิดก่อมะเร็ง มี 14 สายพันธุ์ทำให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสารพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31, 33
HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอกไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV สายพันธุ์ 6, 11
มะเร็งปากมดลูกร้ายแรงอย่างไร
มะเร็งปากมดลูกคือมะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก ซึ่งหากไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาได้ทันเวลา ก็อาจเกิดการลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญภายในช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ทำให้ยากแก่การรักษาและมีโอกาสเสียชีวิตสูง
มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ถึงปีละประมาณ 8,200 คน ครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิตภายใน 5 ปี ในแต่ละวันมีหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 12 คน
ผู้หญิงติดเชื้อ HPV ได้อย่างไร
เชื้อ HPV ติดต่อได้ง่ายผ่านทาง เพศสัมพันธ์เป็นหลัก หลังจากติดเชื้อจนเซลล์ปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งอาจใช้เวลานาน 10-15 ปี ซึ่งผู้หญิงที่ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เป็นระยะเวลานาน เมื่อมีอาการ เช่น เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน มะเร็งมักเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงแทบทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย และผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน โดยพบว่าวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่พบการติดเชื้อ HPV มากที่สุด ดังนั้นการป้องกันจึงควรทำตั้งแต่ก่อนเด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่น จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 50-80 ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อ HPV อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็มีโอกาสติดเชื้อได้ และแม้ว่าร้อยละ 90 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV แล้ว จะสามารถกำจัดเชื้อได้เอง แต่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้หญิงคนไหนสามารถกำจัดเชื้อร้ายนี้ได้ ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อจึงมีความสำคัญมาก
เราจะป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างไร
สามารถป้องกันได้ 2 วิธี คือ ฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อถึงวัย ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ แพทย์ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้
วัคซีน HPV ป้องกันได้อย่างไร
วัคซีน HPV จะกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อ HPV ปัจจุบันวัคซีน HPV มี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ซึ่งมีการเสริมสารกระตุ้นภูมิรุ่นใหม่ เน้นป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็ง (HPV 16, HPV 18 และ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งอื่นๆ) อีกชนิดเป็นวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูก (จาก HPV 16, HPV 18) และหูดอวัยวะเพศ (จาก HPV 6, HPV 11)
ลูกสาวเรายังเด็กเกินไป ที่จะรับวัคซีนหรือไม่
มะเร็งปากมดลูกไม่ใช่เรื่องไกลตัวเด็ก แม้ว่าโรคนี้มักพบในผู้หญิงช่วงวัยกลางคนขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่า ธรรมชาติของการเกิดโรคใช้เวลานาน 10-15 ปี หลังจากผู้หญิงเกิดการติดเชื้อจนพัฒนาไปเป็นมะเร็ง หมายความว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ ได้รับเชื้อตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรให้วัคซีนก่อนที่เด็กจะได้รับเชื้อ HPV นั่นคือ ควรให้วัคซีนในช่วงวัยรุ่นตอนต้น หรือก่อนการมีเพศสัมพันธ์นั่นเอง
เนื่องจากเด็กสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าผู้ใหญ่ การฉีดวัคซีนในเด็กหญิงช่วยอายุ 9-14 ปี จึงเป็นโอกาสดี เนื่องจากสามารถให้วัคซีนเพียง 2 เข็มได้ หากอายุมากกว่า 15 ปี ต้องฉีด 3 เข็ม การลดจำนวนเข็มที่ต้องฉีดลงจาก 3 เข็มเหลือ 2 เข็มนี้ มีข้อดี คือ ประหยัดกว่า สะดวกกว่า และเจ็บน้อยกว่า
โดยตารางการฉีดแบบ 2 เข็มนี้ ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว (เฉพาะวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์)
นอกจากนี้สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแหแงประเทศไทยได้มีคำแนะนำการให้วัคซีน HPV โดยเน้นให้ฉีดวัคซีน HPV ในเด็กหญิงช่วงอายุ 11-12 ปี (แนะนำให้ฉีด 2 เข็มที่ 0, 6 เดือน หรือ 3 เข็มที่ 0, 1 , 6 เดือน สำหรับวัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ สำหรับวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์แนะนำให้ฉีด 3 เข็มที่ 0, 2 , 6 เดือน) ทั้งนี้การฉีดวัคซีนตั้งแต่วัยเด็ก ก็เพื่อให้ลูกพร้อมรับมือกับเชื้อที่เข้ามา เมื่อถึงวัยแต่งงานหรือจะมีเพศสัมพันธ์ในอนาคต การให้ลูกฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยรุ่น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะให้การปกป้องแก่ลูกตั้งแต่วันนี้
เราแก่เกินไปที่จะฉีดวัคซีนหรือไม่
แม้ว่าวัคซีน HPV จะให้ประโยชน์สูงสุดในเด็กหญิง แต่การให้วัคซีนในผู้ใหญ่ก็ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จากการติดเชื้อตามธรรมชาติมาก ผลการศึกษาในผู้ใหญ่พบว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันรอยโรคก่อนมะเร็ง ผู้ใหญ่จึงยังได้ประโยชน์จากากรฉีดวัคเช่นกัน
ปัจจุบันวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ได้รับอนุมัติให้ฉีดในผู้หญิงตั้งแต่ อายุ 9 ปี ขึ้นไป สำหรับวัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ได้รับอนุมัติให้ใช้ในผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-26 ปี
วัคซีนปลอดภัยหรือไม่
การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีความปลอดภัยสูง ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ส่วนใหญ่อาการที่พบบ่อยได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดยา ซึ่งอาการดังกล่าว มักจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาประมาณ 3 วัน
ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลรามาธิบดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)