© 2017 Copyright - Haijai.com
รู้ทันยา ทานแล้วง่วงนอน ห้ามขับรถ
ก่อนจะขับรถไปที่ไหนๆ เรามักจะเช็คสภาพเครื่องยนต์ ถังน้ำมัน หรือลมยางอยู่เสมอจนลืมเช็คสภาพตัวเอง ทั้งความอ่อนล้าของร่างกาย การอดหลับอดนอน หรือการรับประทานยา เนื่องจากมียาบางประเภทที่รับประทานแล้วเกิดอาการง่วงนอน หลายคนละเลย รับประทานไปแล้วก็ลืมนึกถึง เพิ่มอันตรายจากการประสบอุบัติเหตุมากขึ้น
กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
• ยาลดน้ำมูก แก้แพ้
• ยาแก้เวียนศีรษะ แก้เมารถ
• ยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงโดยตรง เช่น กลุ่มยาคลายเครียด ยานอนหลับ
ยาแก้แพ้ รุ่นแรกจะมีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากกว่ายารุ่นใหม่ๆ ซึ่งยาที่ใช้กันบ่อยและคุ้นเคย ได้แก่
• ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก เช่น คลอเฟนนิรามีน Maxiphed, Actifed
• ยาแก้เวียนศีรษะ เช่น Stugeron, Dramamine ส่วนยาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่ง่วงน้อยกว่า เช่น Loratadine, Cetirizine
แน่นอนว่ายาดังกล่าวอาจเกิดอันตรายได้หากขับรถ มีสาเหตุเดียวคือ ง่วงนอน แต่อาการง่วงนั้นจะมากนอ้ยไม่เท่ากันในแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1.การได้รับยานี้มาก่อน เช่น ในกลุ่มคนที่เป็นภูมิแพ้และทานยาแก้แพ้รุ่นใหม่ที่ง่วงน้อยกว่าอยู่เป็นประจำก็อาจไม่รู้สึกง่วง สามารถขับรถได้
2.การพักผ่อนที่เพียงพอ ถ้าเราอดนอน พักผ่อนน้อย ก็จะทำให้ง่วงากกว่าปกติ
3.แอลกอฮอล์ ถ้าดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ง่วง จะทำให้อาการเพิ่มมากขึ้น
รู้ฤทธิ์ของยา เลือกเวลาทานก่อนขับรถ
ยาส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชั่วโมง และมีฤทธิ์คงอยู่อีกอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หากจำเป็นต้องทานยาแก้แพ้และต้องขับรถ ควรเลือกใช้ยากลุ่มที่มีผลทำให้ง่วงน้อย เช่น ยารุ่นใหม่กลุ่ม Loratadine และ Cetirizine
ใครเลยจะรู้นอกจากตัวเราเอง ว่ามีอาการง่วงอ่อนเพลียมากน้อยแค่ไหนขับรถไหวหรือไม่ ถ้าง่วงมากไม่ควรฝืนขับรถเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายกับตัวเองและเพื่อนร่วมทางอื่นๆ ได้
คณะแพทย์ โรงพยาบาลยันฮี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)