© 2017 Copyright - Haijai.com
หวานแบบไหนไม่กระทบเบาหวาน
สารพัดปัญหาของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนอกจากโรคแทรกซ้อนต่างๆ แล้วก็เห็นจะเป็นเรื่องการรับประทานนี่แหล่ะ ซึ่งก็มักมีปัญหามาให้ถกกันเสมอว่าอะไรที่ทานได้และอะไรที่ทานไม่ได้ หลายคนควบคุมอาหารเป็นอย่างดี แต่ทำไมน้ำตาลยังพุ่งอย่างฉุดไม่อยู่ บางทีตัวการที่แท้จริงอาจจะเป็นผลไม้ก็เป็นได้
ผลไม้เป็นอาหารหลัก 5 หมู่ และมีรสชาติอร่อยอีกทั้งอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ แต่มีน้ำตาลแฝงอยู่ไม่น้อย ในเมื่อการรับประทานผลไม้ยังเป็นสิ่งจำเป็น การเลือกรับประทานอย่างระมัดระวัง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ้งกว่าในผู้ป่วยเบาหวาน ทั้งปริมาณที่ต้องจำกัด ชนิดของผลไม้ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
เบาหวานไม่จำเป็นต้องจำกัดผลไม้
หลายคนกังวลว่าผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ใกล้ชิดเรา จะได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินไป จึงคอยระวังหรือห้ามไม่ให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานผลไม้เลย แต่ความเป็นจริงแล้วสามารถรับประทานได้ แต่ไม่เกิน 2-3 ส่วนต่อวัน โดยผลไม้ 1 ส่วนมี คาร์โบไฮเดรต 10 กรัม ให้พลังงาน 40 กิโลแคลอรี หรือเทียบเท่าข้าวสวย 1 ทัพพี
ปริมาณของผลไม้ 1 ส่วนแต่ละชนิด
ประเภท |
ปริมาณ |
กล้วยน้ำว้าสุก |
1 ผลเล็ก |
กล้วยหอม |
½ ผล |
สับปะรด |
6 ชิ้น / คำ |
แตงโม |
10 ชิ้น / คำ |
แคนตาลูป |
8 ชิ้น / คำ |
มะม่วง |
½ ผล |
พุทรา |
2 ผล |
องุ่น |
10-12ผล |
มังคุด |
2 ผล |
ละมุด |
1 ผล |
ลางสาด |
5-6 ผล |
ฝรั่ง |
1 ผล |
ลำไย |
8 ผล |
ลิ้นจี่ |
3 ผล |
ทุเรียน |
1 เม็ดเล็ก |
ผลไม้สดรับประทานได้แต่น้ำผลไม้ต้องระวัง
น้ำผลไม้ทุกประเภทเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างหนีไม่ได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยเบาหวาน แต่สำหรับน้ำมะเขือเทศ 100% จะมีน้ำตาลอยู่เพียง 1% เท่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดื่มได้
สาเหตุสำคัญที่ต้องเลี่ยงน้ำผลไม้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้ม 100% คั้นสดหรือน้ำผลไม้ปั่น เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่ผสมอยู่มีปริมาณมาก และมักจะเป็นฟรุกโตส เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือด หากเป็นชนิดกล่องหรือกระป๋องควรอ่านฉลากโภชนาการที่กำกับไว้ก่อนเสมอ จะทำให้ทราบว่าปริมาณน้ำตาลที่แฝงอยู่มีมากและไม่ควรดื่ม แต่อย่างไรก็ตามการทานผลไม้มีไฟเบอร์ช่วยในการขับถ่ายและช่วยดูดซับไม่ให้น้ำตาลในเลือดขึ้นเร็ว
ผลไม้แทนข้าวดีจริงหรือ
ไม่ควรรับประทานผลไม้แทนข้าว เพื่อต้องการให้อิ่มจากผลไม้ เพราะจะได้ปริมาณน้ำตาลมากกว่าการรับประทานอาหารปกติ เนื่องจากผลไม้เพียง 2 ส่วน ไม่ได้ทำให้อิ่ม แต่หากรับประทานข้าว 2 ทัพพี (เท่ากับ ผลไม้ 2 ส่วน) ควบคู่กับผักและเนื้อสัตว์จะอิ่มและได้คุณค่าทางอาหารครบดถ้วนมากกว่า ดังนั้นควรรับประทานผลไม้ 1 ส่วน เป็นของว่างหรือตามหลังมื้ออาหาร แต่อย่าลืมว่าต้องทานไม่เกิน 2-3 ส่วนต่อวัน
3 ผลไม้อันตรายที่ควรระวัง
ทั้งทุเรียน ลำใย สับปะรด เมื่อรับประทานเพียงเล็กน้อย น้ำตาลในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไกลซีมิคอินเดกซ์ (GI) สูง จะเกิดอันตรายมากในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ดีอยู่แล้ว การเพิ่มระดับน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้
การได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย น้ำหนักลด แผลหายช้า และผลในระยะยาวจะเกิดหลอดเลือดแข็งตัวจนสมอง หัวใจ ไต มีปัญหาในที่สุด
หากน้ำตาในเลือดต่ำทำอย่างไร
หากผู้ป่วยเบาหวานมีน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดอาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น เหงื่อออกมาก กระสับกระส่าย แก้ไขได้โดยการดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำหวานปริมาณครึ่งแก้ว แล้วลองสังเกตอาการซึ่งควรดีขึ้นภายใน 10-30 นาที หากไม่ดีขึ้นให้รับประทานซ้ำหรือรีบพบแพทย์
คุมน้ำตาลก่อนตรวจ หลอกหมอไม่ได้นะจ๊ะ
สำหรับผู้ที่มาตรวจน้ำตาลตามนัดแล้ว หลอกคุณหมอโดยการงดอาหาร ของหวาน หรือขนามก่อนมาตรวจ เพื่อให้น้ำตาลในเลือดมีค่าน้อยลงนั้น ปัจจุบันเมื่อมาตรวจน้ำตาลที่โรงพยาบาลจะมีการตรวจ 2 แบบ คือ ตรวจค่าน้ำตาลของวันที่มาพบแพทย์และค่าน้ำตาลสะสม ที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbAlc) คือ ค่าน้ำตาลเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน เพราะฉะนั้นคุมอาหารหลอกๆ มาก็โกงคุณหมอไม่ได้นะคะ
แพทย์หญิงวรณัน เจริญหิรัญยิ่งยศ
อายุรแพทย์ระบบโรคต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลวิภาวดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)