Haijai.com


เบลลี่แดนซ์คืออะไร


 
เปิดอ่าน 4364

เบลลี่ แดนซ์ พิชิตโรค Belly Dance Therapy

 

 

สาวๆ ที่รักการเวิร์คเอาท์แบบไม่จำเจ สมัยนี้ก็มีตัวเลือกและเทรนด์การออกกำลังกายต่างๆ มากมายมาให้เลือก หนึ่งในนั้นคงไม่พ้นกระแสการเต้นรำ และถ้าเป็นการเต้นระบำหน้าท้อง หรือ เบลลี่แดนซ์ ที่ช่วยบำบัดและฟื้นฟูร่างกายได้ด้วย ก็คงจะดีไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมคะ

 

 

What is Belly Dance?

เบลลี่แดนซ์คืออะไร

 

การเต้นเบลลี่แดนซ์ คือ การเต้นระบำหน้าท้อง ซึ่งมีประวัติมายาวนาน แต่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากำเนิดจากที่ใดกันแน่ เมื่อก่อนไม่ได้เรียกว่าเบลลี่แดนซ์ คำว่าเบลลี่แดนซ์เพิ่งถูกนำมาใช้ในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากคนอเมริกันไปเห็นนักเต้นใส่ชุดแบบเปิดหน้าท้อง คนอเมริกันจึงตั้งชื่อการเต้นชนิดนี้ว่า เบลลี่แดนซ์

 

 

เบลลี่แดนซ์บำบัดโรคได้อย่างไร

 

เนื่องจากเบลลี่แดนซ์เป็นการเต้นรำที่ไม่หนักหน่วง ไม่มีแรงกระแทกมากนัก และได้ใช้กำลังและกล้ามเนื้อแทบทุกส่วนของร่างกาย หากนำมาประยุกต์เข้ากับการออกกำลังกาย ก็น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพมากกว่าผลเสีย การเต้นรำบำบัดจึงเกิดขึ้น เมื่อโรงพยาบาลบีเอ็นเอชนำการเต้นระบำหน้าท้องมารวมกับการทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม กลายเป็นบีเอ็นเอชเบลลี่แดนซ์เซอร์ไซส์คลาส ในทุกวันนี้เป็นที่แรกในประเทศไทย

 

 

อลิซาเบธ ลิซ วิลเลียมส์ หรือครูลิซ ที่เต้นระบำหน้าท้องมากว่า 20 ปี และมีประสบการณ์สอนเต้นมามากกว่า 10 ปี เป็นผู้นำเต้นในคลาสนี้ โดยเน้นให้ได้ใช้ร่างกายครบทุกส่วน โดยเฉพาะคนไข้หลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม ก็จะมีท่วงท่าที่ครูออกแบบให้เหมาะกับนักเรียนกลุ่มนี้ อย่างท่าที่มีการใช้แขนก็จะช่วยบำบัดให้สามารถยกแขนได้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากจะได้ออกกำลังใช้กล้ามเนื้อ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตแล้ว ที่สำคัญคือการช่วยบำบัดฟื้นฟูจิตใจของคนไข้ด้วยเพลงจังหวะคึกคักที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน รวมกับท่าเต้นที่เย้ายวนมีเสน่ห์ ดึงดูดสายตา ทำให้คนไข้ยังคงรู้สึกมั่นใจในความเป็นผู้หญิงอยู่

 

 

ต่างจากเบลลี่ แดนซ์ ธรรมดาๆ อย่างไร

 

เบลลี่ แดนซ์ คลาสปกติทั่วไปจะเป็นคลาสที่ใช้ระยะเวลาในการ Warm up สั้นๆ และใช้จังหวะในการเต้นที่เร็ว ซึ่งอาจไม่เหมาะกับนักเรียนที่สุขภาพไม่พร้อม 100% เพราะหากเคลื่อนไหวเร็วเกินไปบางครั้งอาจส่งผลเสียแทน แต่บีเอ็นเอชเบลลี่แดนซ์เซอร์ไซส์ จะเน้นการเคลื่อนไหวในทุกส่วนของร่างกายในระดับที่เหมาะสม คอ แขน ขา ไหล่ สะโพก และหน้าท้อง ต้องได้ขยับอกกำลัง ครูต้องรู้ก่อนว่านักเรียนป่วยเป็นอะไร เพื่อที่ครูจะได้ดูแลเป็นพิเศษและเลือกใช้ท่าให้เหมาะสม และถ้าจะให้ดีนักเรียนที่อยู่ในระหว่างฟื้นฟูอาการป่วย ควรขอความเห็นจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง

 

 

สนุกไปกับการเต้นบำบัดโรคที่ไม่เหมือนใคร

 

คลาสเรียนจะแบ่งเป็น 2 คลาส คือ คลาสวันพุธสำหรับบุคคลทั่วไป เน้นการออกกำลังกายเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และคลาสวันพฤหัสบดีสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน ปวดหลัง ปวดไหล่ ฯลฯ หรือคนไข้โรงพยาบาลที่กำลังฟื้นตัวอยู่

 

 

นักเรียนไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก แต่งกายตามที่นักเรียนชอบแต่สำคัญต้องสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกตลอดทั้งตัว จะมีเข็มขัดผ้าร้อยเหรียญเงินผูกเข้าที่สะโพกให้ เวลาเต้นรำเกิดเสียงกรุ๊งกริ๊งเพิ่มความเร้าใจสนุกสนาน ยิ่งมีเสียงก็ยิ่งอยากส่ายสะโพก

 

 

เมื่อพร้อมแล้วครูลิซจะเริ่มต้นชั้นเรียนด้วยการวอร์มอัพหรืออบอุ่นร่างกายทุกครั้งราว 20 นาที เมื่อวอร์มอัพเสร็จก็เริ่มต้นเข้าสู่ท่าเต้นหลักต่างๆ ที่จังหวะเร็วขึ้นประกอบกับเพลงสนุกสนานอีกประมาณ 25-30 นาที และจบลงด้วยการคูลดาวน์กับเพลงที่จังหวะช้าลงมาอีกนิดอีก 10 นาที ท่าเต้นที่ครูใช้สอนไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูบำบัด ยังเน้นเรื่องของการยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วย จะช่วยในเรื่องให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายลดอาการปวดเมื่อยต่างๆ ลงได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ประกอบการเต้น อย่างเช่นพัดหรือหมวก และมีอะไรใหม่ๆ มาให้นักเรียนเสมอๆ ไม่เพียงแค่ฟื้นฟูบำบัดร่างกาย หรือทำให้ร่างกายแข็งแรงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูจิตใจหรือบำบัดความเครียดได้ด้วย เพราะนักเรียนจะได้แสดงออก ปล่อยพลังไปกับเพลงสนุกๆ และมีเพื่อนใหม่ๆ

 

 

อลิซาเบธ ลิซ วิลเลียมส์

ครูผู้สอน

โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

(Some images used under license from Shutterstock.com.)