© 2017 Copyright - Haijai.com
ปวดมือ ปวดข้อมือ อย่าละเลย ระวัง 4 โรคมือสุดฮิตคนทำงาน
ปัจจุบัน การดูแลสุขภาพ ตรวจหาร่องรอยของโรค การดูแลและป้องกันกลับให้ความสำคัญกับอวัยวะหลักๆ ภายในอย่าง หัวใจ ปอด กระเพาะอาหาร แต่ถ้าเป็นอวัยวะภายนอกก็จะมุ่งไปที่ความสวยงามของรูปร่าง ไขมันส่วนเกินบริเวณต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีความผิดใดๆ เพราะไม่ว่าจะส่วนใดของร่างกายก็ล้วนมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายทั้งสิ้น แต่คุณลืมไปหรือไม่ หากอวัยวะที่ใช้อยู่เป็นประจำเกิดอาการปวดขึ้นมา จากความละเลยการดูแล จะส่งผลต่อชีวิตคุณอย่างไรบ้าง
มือ (Hand) อวัยวะที่สำคัญของร่างกายใช้ในการหยิบจับสิ่งของ ในหนึ่งวันเราแทบไม่ได้หยุดใช้งานมือเลย โดยมีเพียงตอนหลับเท่านั้นที่มือได้พักนานที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันมือกลายเป็นอวัยวะที่มีชั่วโมงการทำงานต่อเนื่องมากกว่าแต่ก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามาในชีวิตประจำวัน การใช้โทรศัพท์มือถือในการสื่อสาร หรือใช้แท็บเล็ตเพื่อความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงลักษณะการทำงานที่รูปแบบงานต้องผูกติดกับคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้มือของคุณป่วยได้ไม่รู้ตัว และถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจรุนแรงถึงขั้นผ่าตัด หรือทำให้มือไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์แบบเช่นเดิม
4 โรคของมือที่พบบ่อย
1.นิ้วล็อก (Trigger’s finger)
เป็นอาการของมือที่ไม่สามารถขยับนิ้วได้ เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ในการงอนิ้วมือที่บริเวณโคนนิ้วมือ ซึ่งการอักเสบจะทำให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้นและเกิดเป็นตุ่มขึ้นมาคล้ายเป็นปลอกล็อกเอ็น ทำให้เกิดอาการขัดและเจ็บเวลางอและเหยียดนิ้วมือ โดยเริ่มแรกผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดก่อน หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดเสียงกึกกักเวลาขยับหรืองอนิ้ว หลังจากนั้นหากไม่รับการรักษาอาจมีอาการงอนิ้วไม่ได้เลย พบในผู้ป่วยวัยกลางคนเพศหญิงมากกว่าชาย เป็นโรคที่พบร่วมกับภาวะนี้บ่อย ได้แก่ เบาหวาน ในสตรีมีครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด โรคข้อนิ้วติดอาจเกิดขึ้นกับนิ้วใดๆ ก็ได้ และอาจเกิดพร้อมกันได้หลายนิ้ว
อาการนิ้วล็อกเกิดจากการใช้งานนิ้วมือมากเกินไปทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นงอนิ้วมือ แต่ก่อนจะพบบ่อยในอาชีพที่ใช้มือเยอะ เช่น แม่บ้าน ช่างเย็บ เสื้อผ้า ช่างไม้ เป็นต้น แต่ปัจจุบันกลุ่มอาชีพที่มีโอกาสเกิดอาการเพิ่มมากขึ้น เพราะปริมาณการใช้มืออย่างต่อเนื่อง และการใช้งานมืออย่างไม่ถูกต้อง เช่น การใช้งานของมือที่ต้องงอนิ้วมือ กำ บีบ หรือหิ้วสิ่งของติดต่อกันเป็นเวลานาน
เมื่อ “นิ้วล็อก” ควรจะ
ควรหมั่นสังเกตอาการมือ หากมีอาการปวด เคลื่อนไหวลำบาก หรือมีเสียงกึกกักในข้อนิ้ว ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยจากอาการ ดูตำแหน่งที่เจ็บก่อนให้การรักษาตามอาการของโรค แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนถึงขั้นล็อกแล้วปวดมาก งอและเหยียดไม่ออกก็ควรเข้รารับการผ่าตัด เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจจะสูญเสียมือไปเลย
นิ้วล็อก รักษาอย่างไร
• พักผ่อน และเปลี่ยนพฤติกรรม หยุดการใช้งานมือ แช่น้ำอุ่น จะลดอาการอักเสบได้
• หลีกเลี่ยงการใช้มือจับ หรือเกร็งอะไรเป็นเวลานานๆ
• รับประทานยากลุ่มแก้อักเสบ และใช้ยาทานนวดบริเวณที่ปวด
• ถ้าไม่หาย แพทย์จะทำการฉีดสเตียรอยด์เข้าทางปลอกหุ้มเอ็น บริเวณที่มีการอักเสบ
• หากรับการรักษาตามข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้น ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อตัดปลอกหุ้มเอ็นที่มีปัญหาออก หลังการผ่าตัดออกจะดีขึ้น ใช้มือได้เป็นปกติ ไม่มีผลข้างเคียง
2.มือชาหรือพังผืดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome)
เป็นกลุ่มอาการที่เส้นประสาทถูกกดรัดที่บริเวณข้อมือ ทำให้เกิดอาการมือชาหรือเป็นเหน็บ ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับ 3 นิ้ว คือ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง บางครั้งอาจมีอาการปวดชาร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้ ถ้ามีอาการมากขึ้นจะมีอาการปวดชาที่แขนมาก ทำให้มืออ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ได้ หากทิ้งไว้จะทำให้เกิดอาการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อมือบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ
สาเหตุที่เส้นประสาทถูกกดรัดเกิดขึ้นหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบบวมของเส้นเอ็นจากการใช้งานมือมาก การหนาตัวของเนื้อเยื่อพังผืด (Retinaculum) ที่ข้อมือจากการใช้งาน โดยเฉพาะงานที่มีการสั่นสะเทือนหรือมีการกระดกข้อมือซ้ำๆ ภาวะบวมน้ำจากโรคตับ ไต หรือจากการตั้งครรภ์ โรคเบาหวาน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในหญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น
เมื่อ มือชา ควรจะ
หยุดการใช้มือข้างที่มีอาการ พบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจว่าเกิดจากพังผืดทับเส้นประสาท หรือเหน็บชาจากการกดทับชั่วคราว ตรวจร่างกายจากประวัติเป็นหลัก โดยแพทย์จะให้ทำการพับมือ ถ้าพับมือไม่ถึงนาทีมีอาการชา แสดงว่าพังผืดทับเส้นประสาท หากอาการไม่แน่ชัด สามารถตรวจเรื่องของเส้นประสาทได้
พังผืดทับเส้นประสาทข้อมือรักษาอย่างไร
• หยุดการใช้งานข้อมือข้างที่มีอาการ
• ใช้ยาต้านการอักเสบ (ในกรณีที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มเส้นเอ็น) และรับประทานวิตามินบี1 บี6 บี12
• ใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือ และแพทย์อาจใช้ยาสเตียรอยด์ ฉีดเข้าในอุโมงค์ข้อมือ
• หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อประเมินการผ่าตัดเนื้อพังผืด (Retinaculum) ทางด้านหน้าของข้อมือที่กดรัดเส้นประสาท
มือชาจากเส้นประสาทถูกกดทับป้องกันได้
หลีกเลี่ยงการใช้งานของข้อมือต่อเนื่องนานกว่าปกติ เช่น ใช้งานข้อมือ 1 ชั่วโมงควรพักทุก 15-20 นาที รับประทานอาหารที่มีวิตามิน บี1 บี6 และ บี12 เช่น ตับ เนื้อสัตว์ ข้าวซ้อมือ ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น
3.เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quevain’s)
โรคเอ็นข้อมืออักเสบ เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานบ่อยๆ ซ้ำๆ และข้อมืออยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง เกิดการสีไปมาค่อนข้างบ่อย ทำให้สะสมบาดเจ็บ ถ้ายังมีการใช้งานของเอ็นนี้ อยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้เกิดการอักเสบ โดยเอ็นภายในมือมีจำนวนมาก แต่เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังฝั่งนิ้วหัวแม่มือจะพบได้บ่อย โดยอาการจะเริ่มจากเมื่อใช้ข้อมือไปในทิศทางที่เอ็นมีการยืดตัวก็จะทำให้เจ็บ เช่น เดียวกันถ้าเคลื่อนไหวมาทางตงกันข้าม ทำให้เกิดอาการเจ็บที่เอ็นได้เช่นกัน
สังเกตอาการ “เอ็นข้อมืออักเสบ”
• เจ็บเมื่อกระดกนิ้วโป้ง และเมื่อขยับนิ้วโป้งมาที่กลางฝ่ามือ
• เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น ใต้รอยต่อข้อมือ ถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
• มีการอักเสบของเอ็น หากกดคลำ อาจพบว่าร้อนกว่าบริเวณอื่น
• กล้ามเนื้อที่ยึดต่อกับเอ็นนั้น อาจมีอาการเกร็ง แข็ง หรืออาจมีอาการอักเสบ
• หากเป็นเรื้อรัง อาจส่งผลต่อระบบประสาท ซึ่งจะทำให้เส้นประสาทตึงตัว และเคลื่อนไหวส่วนบนและคอได้ไม่เต็มที่
เมื่อ “เอ็นข้อมืออักเสบ” ควรจะ
ควรทำการรักษาตั้งแต่เริ่มต้นพบอาการ โดยระยะแรกจะใช้การรักษาเช่นเดียวกับการบาดเจ็บทั่วๆ ไป ตรวจดูการประคบเย็นบ่อยๆ ตามด้วยการขยับเบาๆ เอ็นมีการยืดเล็กน้อยกระดกข้อมือเฉียงไปทางนิ้วหัวแม่มือ โดยให้รู้สึกแค่แตะอาการเจ็บเล็กน้อย ประมาณ 10-20 ครั้ง ไม่ทำรุนแรงและติดต่อกันจำนวนมากเกินไป ที่สำคัญต้องพักการใช้งาน หรือลดการใช้งานลง
4.ก้อนเนื้อ หรือ ถุงน้ำบริเวณข้อมือ (Carpal ganglion)
เป็นก้อนที่สามารถคลำพบได้ที่บริเวณข้อมือ ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณหลังข้อมือบ่อยกว่าทางด้านฝ่ามือ ส่วนใหญ่จะเป็นถุงมีน้ำข้นเหนียวลักษระเดียวกันกับน้ำไขข้อ ภายในอาจพบก้อนมีขนาดตั้งแต่เมล็ดถั่วจนถึงขนาดปลายนิ้วหัวแม่มือ อาจยึดแน่นอยู่กับข้อมือหรืออาจมีการเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย เมื่อกดหรือดันอาจมีอาการปวดที่ก้อนได้ เป็นการปวดตื้อๆ ที่ไม่รุนแรง แต่อาจมีอาการปวดและขัดมากขึ้นเมื่อใช้ข้อมือมากๆ โดยเกิดจากการเสื่อมของเนื้อเยื่อหุ้มข้อมือ จนทำให้น้ำหล่อเลี้ยงข้อมือรั่วออกมาเกิดเป็นถุงน้ำขึ้น
ถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ โดยก้อนเนื้อจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ก้อนเนื้อดี และก้อนเนื้อร้าย ถ้าเป็นก้อนเนื้อดีเกิดกระแทก จะไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต แต่ถ้าเป็นก้อนเนื้อร้ายอาจลุกลามเป็นมะเร็งได้ ยิ่งใช้งานเยอะๆ ก็จะยิ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อพบ ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำบริเวณ ข้อมือ ควรจะ
หมั่นสังเกตอาการตัวเอง หากพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจ เพราะอาจไม่ใช่แค่ก้อนเนื้อหรือถุงน้ำทั่วไป แต่ถ้าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำธรรมดา อาจยุบหรือหายไปเอง ด้วยการนวดหรือเจาะดูดน้ำออก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้ ถ้าอยากหายขาดสามารถเข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำออกจากบริเวณเยื่อหุ้มข้อมือ งทำให้มีโอกาสเกิดถุงน้ำขึ้นใหม่ได้น้อยลง
นายแพทย์ศุภเดช ประภากรวิทย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ และเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมมือ
โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)