
© 2017 Copyright - Haijai.com
บำบัดทดแทนไต บรรเทาโรคไตวายเรื้อรัง
Q : ตอนนี้ป่วยเป็นโรคไตครับ คุณหมอให้ระวังเรื่องน้ำท่วมปอด และภาวะแทรกซ้อนในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อป้องกันการเสียชีวิต คุณหมอแนะนำให้รับการบำบัดทดแทนไต เพื่อรักษาอาการแทรกซ้อนต่างๆ แต่ผมยังไม่รู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไรดีครับ
A : การบำบัดทดแทนไต เป็นกระบวนการรักษาเพื่อทดแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้เองอย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้มีการขจัดของเสียที่คั่งอยู่ในร่างกาย น้ำส่วนเกินจากร่างกาย รักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ต่างๆ และภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงของไตวายเรื้อรัง เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่รอดได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพอสมควร โดยปัจจุบันมี 3 วิธี ได้แก่
• การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) หรือ การฟอกเลือด
เป็นการนำเลือดจากหลอเลือดออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสียที่เครื่องไตเทียม เพื่อดึงน้ำและของเสียออกจากร่างกาย เลือดที่ถูกกรองแล้วจะไหลกลับเข้าร่างกาย ทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง โดยทั่วไปทำครั้งละ 4-5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
• การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis)
วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้องช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้องทางสายพลาสติก ที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาในช่องท้องทิ้งไป ของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยาจะถูกกำจัดจากร่างกาย ผู้ป่วยและญาติสามารถเปลี่ยนยาได้เองที่บ้าน โดยทั่วไปเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน ผู้ป่วยและญาติสามารถปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนถุงน้ำยาให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้ โดยขณะที่มีน้ำยาในช่องท้องผู้ป่วยสามารถทำงานและมีกิจกรรมได้ตามปกติ
• การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation)
คือ การนำไตดีของผู้อื่นที่เข้าได้กับผู้ป่วยมาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตของผู้ป่วยออกแล้ว เอาไตของผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ไตเดิม การผ่าตัดจะทำโดยการผ่าตัดไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย พร้อมต่อเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย
การปลูกถ่ายไตนี้ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิต้านทานตลอดชีวติ และจะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ตลอดไป โดยปัจจุบันการปลูกถ่ายไต ถือเป็นการรักษาภาวะไตวายขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงในระยะแรก แต่ผลที่ได้รับก็ดีกว่าการรักษาอื่น แพทย์จะต้องทำการตรวจพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย
ศ.นพ.โสภณ จิรสิริธรรม
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดและปลูกถ่ายไต
คลินิกศัลยกรรมและหลอดเลือด
โรงพยาบาลนนทเวช
(Some images used under license from Shutterstock.com.)