
© 2017 Copyright - Haijai.com
พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 2
เมื่อเด็กอายุโตขึ้น พัฒนาการทุกด้านของเด็กก็จะเติบโตตามไปด้วย เด็กจะมีทักษะในการทำทุกกิจกรรมได้แข็งแรงพอๆ กับผู้ใหญ่ ในเด็กบางคนมีทักษะทางด้านการเล่นกีฬาที่สามารถเอาชนะผู้ใหญ่ได้ ถึงแม้ว่าจะมีอายุแค่เพียง 9 ขวบ นั่นเป็นเพราะเด็กได้มีการฝึกฝน และมีการออกกำลังอยู่ทุกวัน ทำให้เด็กมีพละกำลังมากพอที่จะเล่นกีฬาประเภทแข่งขันได้อย่างสบาย เช่น การวิ่งแข่ง การแข่งวิ่งเปรี้ยว หรือกีฬาอย่างการว่ายน้ำ ถึงแม้ เด็กที่อายุเท่ากัน ก็จะมีความสามารถที่ไม่เท่ากัน บางคนว่ายได้เร็ว บางคนว่ายได้ช้า เพราะทักษะทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับการฝึกฝนและการสนับสนุนจากพ่อแม่
พัฒนาการด้านการร่างกายและการเคลื่อนไหว
ทักษะการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานจะเริ่มปรากฏมาตั้งแต่เด็กอายุได้ 2 ขวบ แต่พอหลังจากนั้นเมื่อเด็กอายุได้ 6 ขวบ ซึ่งถือเป็นช่วงวัยที่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว การใช้ร่างกายทุกส่วนจะมีความคล่องแคล่ว และสมดุลเป็นไปในทิศทางที่กำหนดมากขึ้น เด็กเริ่มเคลื่อนที่ได้มากขึ้น เดินได้อย่างมั่นคง นั่นเป็นเพราะความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขามีมากขึ้น เด็กสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ทุกกิจกรรม เช่น การวิ่ง กระโดด การแขย่งขาเดียว การปีนป่าย รวมทั้งทักษะการใช้มือก็มีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย เช่น การขว้างลูกบอล การรับลูกบอล จะมีความแม่นยำมากขึ้น
พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อใหญ่
เมื่อเด็กอายุได้ 6 ปีขึ้นไป เขาจะมีทักษะในการวิ่งได้อย่างคล่องแคล่วและวิ่งได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวิ่งๆ อยู่เด็กสามารถที่จะหยุดวิ่งได้ทันที หรือเมื่อต้องเล่นกีฬาอย่างการวิ่งรับบอล เด็กก็จะสามารถรับบอลที่กระเด้งจากพื้นได้ด้วยมือทั้งสองข้างอย่างรวดเร็วและแม่นยำ เด็กสามารถที่จะเดินบนเส้นขีดขนาดเล็กได้ เดินตามจังหวะการเคาะดนตรี เช่น เมื่อเคาะไม้ 2 ครั้งให้ย่ำเท้าทั้งสองข้าง เมื่อเคาะไม้สลับจังหวะไปมา เด็กก็จะต้องเดินย่ำเท้าให้ถูกจังหวะ ซึ่งตรงนี้เด็กจะต้องใช้ทักษะในเรื่องของสมาธิเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้การทำกิจกรรมผ่านไปได้ด้วยดี
สนับสนุนเด็กด้วยการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหว
• ควรให้เด็กได้เล่นกิจกรรมอย่างอิสระ แต่ต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่มีวิธีการเล่นที่ซับซ้อนจนเกินไป
• ให้เด็กได้เป็นผู้เริ่มหรือกำหนดกิจกรรมที่เขาอยากเล่นกับเพื่อนๆ เอง เช่น การเล่นมอนซ่อนผ้า การเล่นซ่อนแอบ การเล่นเป่าลูกโป่งจากฟองสบู่ การเล่นปีนต้นไม้ในระยะที่มีความสูงจากพื้นที่ไม่มากนัก(ทุกกิจกรรมควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่) เป็นต้น
• การเล่นที่มาจากสิ่งรอบตัวที่หาได้ เช่น การนำเอาหนังสือพิมพ์มาตัด ติดแปะ เป็นเสื้อผ้า ตามจินตนาการของเด็ก หรือนำมาทำว่าวกระดาษ เพื่อให้เด็กได้วิ่งเล่น เป็นการฝึกกำลังขา และเด็กก็ยังได้ใช้สายตา สมาธิในการกำหนดทิศทางของว่าวให้ไปตามลม
• เปิดเพลงที่เด็กชอบแล้วให้เด็กเป็นคนคิดท่าเต้น หรือท่ากายบริหารตามที่เด็กจะคิดได้
• ใช้สัญลักษณ์มาเป็นตัวกำหนดให้เด็กเล่นกิจกรรม เช่น การใช้สัญลักษณ์ของลูกศร เมื่อลูกศรชี้ไปทางซ้าย เด็กก็ต้องหันไปทางซ้าย เมื่อลูกชี้ไปข้างหลัง เด็กก็จะต้องถอยหลัง (คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มลูกเล่นเข้าไปในกิจกรรมนี้ได้ เพื่อให้เด็กเกิดความสนุกสนาน)
• เด็กมักจะชอบเล่นอะไรที่ต้องใช้ความคิด สมาธิ ซึ่งอีกหนึ่งกิจกรรมสนุกที่ควรจัดให้เด็กเล่นคือ เก้าอี้ดนตรี เพราะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสนุกที่เด็กจะได้เคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกายได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นไปตามจังหวะเพลง การวิ่งไปที่เก้าอี้เมื่อเพลงจบลง
การที่เด็กหนึ่งคนจะมีความพร้อม และมีทักษะที่ดี และเก่งได้ทุกเรื่องนั้น จะต้องมาจากฐากฐานที่แข็งแรง ซึ่งคนสำคัญที่จะช่วยเด็กได้ก็คือ พ่อแม่ และทุกคนในครอบครัว รวมถึงคุณครูด้วย ที่จะต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมให้เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมได้จากของจริง เพื่อให้เด็กได้สัมผัส และสามารถรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของสิ่งที่ได้ทำ การสอนเด็ก แต่ไม่ให้เด็กลงมือทำ ก็เท่ากับเป็นการไปปิดกั้นขีดความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็ก ไม่ให้พัฒนาไปในแนวทางที่ดีและถูกต้อง สุดท้ายเด็กก็ไม่สามารถที่จะไปแข่งขันกับใครได้ เพราะศักยภาพมีไม่เท่ากันกับเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ในวัยเดียวกัน ไม้ต่อที่จะส่งเสริมให้เด็กมึทักษะทางด้านร่างกายที่ดีนั้น ควรที่จะเริ่มส่งเสริมให้เด็กตั้งแต่ที่พวกเขายังเยาว์วัยนะคะ
ประโยคเด็ดชวนคิด
“ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง ลูกสามารถมีความสุขในแบบของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร”
“ไม่สำคัญว่าเวลามากหรือน้อย แต่ที่สำคัญคือทำให้ทุกนาทีที่อยู่กับลูก คือการเรียนรู้ ส่งมอบความรัก และปลูกรักลงไป เพื่อสร้างพื้นฐานแห่งความสุขอันยั่งยืนให้ลูก”
พญ. จิตรา วงศ์บุญสิน
หนังสือออกแบบความสุขให้ลูกรัก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)