© 2017 Copyright - Haijai.com
หนูน้อยเบิกบาน ร่าเริงแจ่มใส
บรรยากาศที่เป็นมิตร ผ่อนคลาย กิจวัตรประจำวันที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารว่างพร้อมบรรยากาศที่อบอุ่นไม่เร่งรีบ โดยผู้ใหญ่ที่ดูแลให้ความสำคัญ ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อย ส่งเสริมให้หนูน้อยวัย 2 ปีมีประสบการณ์ เพิ่มความมั่นใจที่ดีต่อตนเอง เด็กๆ เริ่มเรียนรู้ในการดูแลความต้องการเล็กๆ น้อยๆ ของตนเองมากกว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ เช่น หยิบจาน ช้อนทานข้าวของตนเอง หยิบกระดาษเช็ดปาก หยิบแก้วน้ำดื่มเอง เป็นต้น
การจัดบรรยากาศการรับประทานอาหารมื้อค่ำพร้อมเพรียงกัน (แทนที่ผู้ใหญ่บางคนจะแยกไปทานอาหารคนเดียวหน้าโทรทัศน์) เป็นการฝึกฝน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว เพื่อให้เด็กเรียนรู้และมีประสบการณ์ที่ดีในการที่ทุกคนจะมานั่งพร้อมเพรียงกัน เมื่อถึงเวลารับประทานอาหารมื้อค่ำเป็นประจำทุกวัน ถึงแม้เด็กๆ ในวัยนี้อาจไม่สามารถทำกิจกรรม หรือนั่งนิ่งๆ ได้เป็นเวลานาน แต่การได้นั่งรับประทานอาหารในช่วงสั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ฝึกฝน อย่างค่อยเป็นค่อยไปให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี
หนูนัอยวัยนี้ต้องการการจัดสิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนอย่างสม่ำเสมอ เด็กๆ ต้องการกิจกรรมที่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรคือกิจกรรมต่อไป เช่น พอตื่นนอนช่วงบ่าย คุณแม่จะพาไปเดินเล่น คุณพ่อกลับบ้านพร้อมพี่คนโต แน่นอนกิจกรรมใหม่ๆ ที่ชวนให้ตื่นเต้นก็มีความสำคัญไม่น้อย เช่น วันนี้คุณพ่อจะพาไปเดินเล่นที่ห้างแทน เนื่องจากวันนี้เป็นวันหยุด เป็นต้น
ถึงแม้เด็กในวัยนี้พยายามที่จะช่วยเหลือตนเองแต่ก็ยังไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก หากผู้ใหญ่จะผลักดันให้เด็กต้องทำอะไรได้เองตามความค้องการของผู้ใหญ่ เพียงหากได้รับการสนับสนุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น
• สนับสนุน ชมเชย ให้เวลาไม่เร่งรีบ เมื่อเด็กเรียนรู้ถึงการช่วยเหลือตนเองผ่านกิจกรรม ถอด ใส่เสื้อผ้าให้กับตนเอง การล้างมือ การเข้าห้องน้ำด้วยตนเองหรือแจ้งแก่ผู้ใหญ่เมื่อมีความต้องการ
• ชมเชย สนับสนุนให้พยายามทำต่อไป หากการกระทำยังไม่ประสบความสำเร็จเพื่อให้เด็กไม่รู้สึกผิดหวังในตนเอง และเกิดความมุ่งมั่นจนสามารถกระทำได้ สิ่งนี้มีผลอย่างยิ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับตนเองจนติดเป็นลักษณะนิสัยเมื่อเติบโต
• แสดงความชมเชยเมื่อหนูน้อยกระทำสิ่งเล็กน้อยในการช่วยเหลือตนเอง เช่น “โอ้ หนูใส่เสื้อได้เอง เก่งจังเลย!!!” หรือแนะนำสิ่งที่ต้องทำ เช่น เราทานข้าวเสร็จแล้ว เราออกไปเดินข้างนอกกันดีไหมจ๊ะ หมวกหนูอยู่ไหนลูก”
• ห้ามใจในการเร่งรีบให้หนูน้อยทำกิจวัตรประจำวัน หากหนูน้อยต้องการเวลานานขึ้น หักห้ามใจในการช่วยลูกในการทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเขาเอง เช่น ช่วยลูกติดกระดุม พร้อมทั้งพร่ำบ่น อย่าทำเด็ดขาด เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ทำลายความมั่นใจ และจิตใจหนูน้อยเป็นอย่างมาก หากอยู่ในสภาวะเร่งรีบ สิ่งที่คุณทำได้คือ เสนอความช่วยเหลือ เช่น “ให้แม่ช่วยหยิบถุงเท้าให้หนูไหมจ๊ะ”
(Some images used under license from Shutterstock.com.)