
© 2017 Copyright - Haijai.com
มหัศจรรย์เจ้าหนูลมกลด
เมื่อพัฒนาการของเด็กทารกระหว่างเดือนที่ 6-10 จากท่านอนคว่ำสู่การเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ เพื่อเริ่มต้นหัดคลานโดยหนูน้อยจะเริ่มต้นการเรียนรู้โดยการรักษาสมดุลของมือและเข่า และการเรียนรู้การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า การถอยหลัง โดยใช้เข่า ขา และฝ่ามือทั้งสองข้างในการขับเคลื่อน ไปตามทิศทางของความอยากรู้อยากเห็น การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้บันได เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้และเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้
พัฒนาการหัดคลานของเด็กแต่ละคนเริ่มต้นไม่เท่ากัน หนูน้อยบางคนอาจเริ่มคลานช้า หรือเร็วกว่า ในขณะที่เด็กบางคนอาจไม่คลานเลยแต่พัฒนาเป็นการเดินเลยก็มี ซึ่งพ่อแม่ต้องให้การสนับสนุนตามพัฒนาการที่เป็นไปตามธรรมชาติ อย่าบังคับจับให้ลูกคลานหากลูกยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากการพัฒนาของกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์เพื่อรองรับน้ำหนักของร่างกาย อย่างไรก็ตามโดยธรรมชาติแล้วเด็กจะใช้เวลาช่วงระยะหนึ่งในการเรียนรู้ สนุกกับการได้เคลื่อนไหว เป็นการได้ออกกำลังกาย การใช้การทำงานของกล้ามเนื้อทุกส่วน การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยตนเอง พร้อมกับการได้รับสนับสนุนให้การเรียนรู้เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ส่งเสริมให้พัฒนาเป็นไปอย่างมีศักยภาพทั้งการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจ
ในช่วงประมาณเดือนที่ 6-10 เด็กทารกมักจะมีพฤติกรรมคล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมดขึ้นอยู่กับพัฒนาการการเคลื่อนไหวของเด็กแต่ละคน
• ภายในเดือนที่ 6-7 หนูน้อยสามารถนั่งได้ด้วยตนเองนานขึ้น โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องประคอง สามารถหันศีษะมองไปรอบตัวได้เอง และหยิบคว้าสิ่งที่สนใจ หากอยู่ในท่านอน หนูน้อยจะกลิ้งไปด้านข้าง ด้านหน้า โดยสามารถยกใบหน้า และศีรษะขึ้นได้ด้วย
• เมื่ออยู่ในท่านอน หนูน้อยจะสามารถคว่ำตัวได้เองเพื่อเข้าสู่ท่าคลาน หนูน้อยอาจพยายามยืนขึ้นก่อน โดยกางแขนทั้งสองข้างออกเพื่อเป็นการทรงตัว และกลับลดตัวลงโดยใช้เข่าช่วยในการกระเด้งตัวลอยขึ้น ผู้ใหญ่ควรจัดพื้นที่รองรับเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซึ่งอาจเกิดขึ้นได้
• ระหว่างนี้ หนูน้อยเริ่มคลานโดยใช้การทำงานของกล้ามเนื้อ แขน ขา เข่า ข้อต่อต่างๆ ที่สมบูรณ์
*การคลานโดยใช้มือ เข่า และเท้าทั้งสองข้าง
*การคลานโดยใช้แขนและลำตัว คล้ายท่าทหารคลานต่ำ
*การคลานเคลื่อนที่ไปรอบๆ โดยใช้ก้น ใช้มือ และเท้าในการช่วยพยุงตัว
หากสังเกตดูอาจเห็นหนูน้อยคลานไปข้างหน้าและคลานกลับมายังที่เดิม วกไปวนมาซ้ำที่เดิม พร้อมทั้งเงยหน้ามองกับมายังผู้ใหญ่ด้วยความงุนงงว่า “ทำไมหนูยังกลับมาที่เดิมอยู่ได้เนี่ย”
• ในอาทิตย์ต่อๆ มา พัฒนาการการทรงตัวเริ่มดีขึ้น หนูน้อยเริ่มพยุงตนเองให้สามารถลุกขึ้นได้เองจากท่านั่ง และก่อนเข้าสู่เดือนที่ 8-9 หนูน้อยเริ่มทรงตัวโดยจับยึดมือของพ่อแม่ เก้าอี้ โต๊ะเตี้ยๆ เพื่อยึดให้สามารถเดินท่องโลกใบนี้ได้ด้วยตนเอง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)