
© 2017 Copyright - Haijai.com
ทำอย่างไรดี เมื่อลูกดื่มสารพิษเข้าไป
อุ๊ยตายว้าย อยากจะกรี้ดให้โลกแตกค่ะ ก็คุณแม่เดินไปหยิบของเล่นที่วางไว้ห้องข้างๆ ให้ลูกจอมซนแป๊บเดียว พอเดินกลับมาก็เห็นลูกกำลังดื่มน้ำยาล้างห้องน้ำเข้าไปเสียแล้ว...?
เหตุการณ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ฟังๆ ดูแล้วคุ้นหูบ้างหรือไม่ค่ะ หลายครั้งที่คุณพ่อคุณแม่เคยได้ฟัง หรืออ่านข่าวจากสื่อต่างๆ ว่าเด็กเล็กวัยกำลังซนเกิดอุบัติเหตุดื่มสารพิษเข้าไป จนเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดขึ้นกับครอบครัวไหนก็ได้ค่ะ แทนที่เราจะมองว่าเหตุการณ์แบบนี้เป็นเพียงแค่ข่าวไว้ให้ฟัง และเก็บไว้เป็นแค่ข้อคิดเตือนใจเท่านั้น เรามาเตรียมพร้อมรับมือจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับครอบครัวเรากันเถอะค่ะ
เด็กที่อยู่ในวัยเตาะแตะนั้นเป็นวัยที่ชอบเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเดิน หรือวิ่ง เด็กวัยนี้ชอบเป็นที่สุด นอกจากขาแล้ว มือคู่เล็กๆ ก็ไม่ธรรมดาค่ะไม่ว่าจะมองเห็นอะไรอยู่ตรงหน้าขอแค่หยิบถึงเท่านั้น เป็นคว้าหมด แต่เท่านั้นยังไม่พอคว้าได้แล้วจับใส่ปากค่ะ ไม่ว่าจะกินได้หรือไม่ได้เด็กวัยนี้ชอบเอาของใส่ปากไว้ก่อน ก็สมวัยเขาที่ชอบสำรวจ อยากรู้อยากลองเล่นไม่เสียหมด ด้วยลักษณะแบบนี้ของเด็กวัยเตาะแตะนี่เอง อาจทำให้ลูกหยิบขวดน้ำยาล้างห้องน้ำมาใส่ปากหากคุณพ่อคุณแม่เผลอ ซึ่งแน่นอนค่ะถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นการกริ๊ด หรืออาการตกใจช่วยแก้ไขปัญหาในสถานการณ์นี้ไม่ได้ แต่วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างมีสติสามารถช่วยเหลือลูกของเราได้ค่ะ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1.สังเกตดูว่ามีขวดสารพิษที่ลูกดื่มเข้าไปอยู่ใกล้ๆ หรือไม่ และโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีที่เบอร์ 0-2201-1083 หรือ 1367 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อที่ศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลศิริราชที่เบอร์ 0-2419-7007 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมงทันที โดยระหว่างนั้นห้ามทำให้ลูกอาเจียนออกมา เพราะสารพิษมีทั้งชนิดที่เป็นกรด และด่าง ซึ่งกรดหรือด่างต่างก็มีคุณสมบัติกัดกร่อน หากทำให้ลูกอาเจียนสารพิษจะย้อนกลับขึ้นมาทำลายหลอดอาหาร ลำคอ และปากขอลูกได้มากขึ้น นอกจากนี้กลิ่นที่รุนแรงของสารพิษก็จะไปทำลายปอดของลูกด้วย
2.หากคุณพ่อคุณแม่ยังไม่สามารถติดต่อศูนย์พิษวิทยาได้ ในระหว่างนั้นให้ลูกดื่มน้ำ หรือนมในปริมาณมาก เพื่อให้น้ำเข้าไปเจือจางพิษของสารเคมีลง แต่อย่าให้ลูกดื่มน้ำ หรือนมมากเกินไปจนลูกอาเจียนออกมา
3.ทำตามคำแนะนำเบื้องต้นของศูนย์พิษวิทยา หากต้องนำลูกส่งโรงพยาบาลควรเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้พร้อม
• เตรียมข้อมูลส่วนตัวของลูก อายุ และน้ำหนัก รวมถึงข้อมูลโรคประจำตัวของลูก
• ลูกได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายทางด้านใด เช่น การดื่ม กระเด็นเข้าตา สัมผัสทางผิวหนัง หรือสูดดมเข้าไป
• ชนิดของสารพิษ ระยะเวลา และปริมาณที่ได้รับสารพิษเข้าไป หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ทราบให้แจ้งไปว่าลูกทานเข้าไปทั้งหมดก่อนในอันดับแรก
• ลักษณะอาการของลูกเบื้องต้น ในระหว่างที่ยังไม่ถึงมือแพทย์ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นว่าได้พยาบาลวิธีใดไปแล้วบ้าง
• นำภาชนะของสารพิษที่ลูกดื่ม ไปให้แพทย์ดูด้วย
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ลูกเมื่อดื่มสารพิษเข้าไปในร่างกายนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรกอยู่ที่ “การมีสติ และการไม่ตกใจจนไม่สามารถรักษาสติไว้ได้” เพราะ หากเรามีสติในยามที่เกิดเหตุฉุกขึ้น เราจะสามารถช่วยเหลือคนในครอบครัว หรือคนอื่นที่เขาต้องการความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง และมอบความปลอดภัยจากการปฐมพยาบาลนั้นได้อย่างมั่นใจค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง หนังสือสารพันปัญหาเด็กเล็ก กับเคล็ดวิธีดูแลอย่างถูกวิธี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)