© 2017 Copyright - Haijai.com
โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
Q : น้องเจเจเป็นผื่นพุพองรอบที่สองแล้ว ครั้งแรกคุณหมอบอกว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณแม่ข้องใจทำไมลูกมีผื่นแบบเดิมอีก ทั้งที่คุณแม่ดูแลน้องอย่างดี ไม่เคยให้เล่นดินหรือทรายเลยนะคะ
A : การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็กค่ะ ร่างกายของคนเรามีระบบภูมิคุ้มกัน ที่คอยส่งสัญญาณให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้เมื่อมีเชื้อโรคแปลกปลอมเข้ามาอยู่แล้ว และยังมีผิวหนังเป็นปราการแรกๆ ที่ทำหน้าที่ปกป้องไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังและร่างกาย
การป้องกันเชื้อแบคทีเรียของผิวหนัง
• ผิวหนังปกติที่ไม่มีแผล ทำให้เชื้อแบคทีเรียจะไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายไปได้อยู่แล้ว
• บนผิวหนังจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ก่อให้เกิดโรค (Bacterial flora) ชื่อ S.epidermidis อาศัยอยู่ ทำให้แบคทีเรียที่ก่อโรคไม่สามารถเจริญได้
• ความเป็นกรดบริเวณผิวหนัง หรือค่า pH ประมาณ 5 จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus และ Streptococcus ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้
• การลอกหลุดของหนังกำพร้า ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่เกาะอยู่หลุดออกไปด้วย และผิวที่แห้งจะทำให้เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ต้องการเจริญเติบโตในที่ชื้นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้
การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวกที่พบบ่อยบริเวณผิวหนังในเด็ก
เชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิดค่ะ แบบชนิดแกรมบวกที่พบได้บ่อยบริเวณผิวหนังเด็ก ได้แก่ โรคแผลพุพอง ฝี รูขุมขนอักเสบ ไฟลามทุ่ง ไข้อีดำอีแดง Cellulitis หรือการติดเชื้อในส่วนหนังแท้และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ฉบับนี้จะพูดถึงโรคแผลพุพองค่ะ
โรคแผลพุพอง (Impetigo หรือ Pyoderma) พบได้บ่อยในเด็กเล็กๆ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนและชื้นแบบนี้ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังบริเวณหนังกำพร้า อาการคือ มีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นหนองอย่างรวดเร็ว ตุ่มแตกออกเป็นสะเก็ด บางคนมีน้ำเหลือง มักพบบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา ซึ่งก็คือบริเวณที่เด็กๆ สามารถเอื้อมมือไปเกาเองได้นั่นเอง ถ้ามาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีแผลเป็นหรือโรคแทรกซ้อนค่ะ
การรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานและชนิดทา 7-10 วัน ทำความสะอาดแผลบริเวณที่มีน้ำเหลืองหรือสะเก็ดด้วยวิธี Wet dressing โดยใช้น้ำเกลือชุบผ้ากอซประคบแผลครั้งละ 10 นาที และทายายาปฏิชีวนะวันละ 2 ครั้ง ถ้ามีอาการคันให้รับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามีนร่วมด้วย หลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีหรือใช้ของร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เพราะเชื้อจะอยู่ตามนิ้วมือหรือผ้าเช็ดตัวด้วยค่ะ
ร้อยละ 10-15 ของเด็กที่เป็นแผลพุพอง (Impetigo) สามารถเกิดภาวะไตอักเสบเฉียบพลันได้ เรียกว่า โรคกรวยไตอักเสบ (Acute Glomerulonephritis) โดยจะมีอาการบวม ความดันโลหิตสูง และปัสสาวะมีเลือดปน ซึ่งจะเกิดหลังจากการติดเชื้อจากทางผิวหนัง 14-21 วัน (หรือในบางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์)
เด็กๆ ที่มีแผลพุพองส่วนใหญ่จะตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในจมูกร่วมด้วย (เนื่องจากเกาแผลร่วมกับการแคะจมูก) ใช้ยา Mupirocin ป้ายบริเวณจมูกเช้า-เย็น 1 สัปดาห์จะช่วยป้องกันโรคอีกวิธีค่ะ เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง จะตรวจพบเชื้อนี้ได้ในจมูกถึงร้อยละ 20-40 บริเวณรอบๆ ทวารหนักร้อยละ 20 และยังพบบริเวณเล็บได้อีกด้วยค่ะ เด็กๆ จึงควรตัดเล็บให้สั้นและล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคนะคะ
แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)