Haijai.com


มาหยอดกระปุกพี่หมูออมสินกันเถอะ


 
เปิดอ่าน 1989

มาหยอดกระปุกพี่หมูออมสินกันเถอะ

 

 

“รอให้ลูกเติบโต จนใช้เงินเป็น แล้วค่อยๆ สอนเรื่องอดออม”

 

หรือ

 

“สอนให้ลูกอดออม ตั้งแต่เยาว์วัย แล้วฝึกให้ใช้เงินเป็นทีหลัง”

 

สอนแบบไหนจะดีกว่ากันเอ่ย...?

 

 

คำว่า “ใช้เงินเป็น” ในที่นี้มี 2 ความหมายที่เราสามารถแปลความหมายออกมาจากตัวอักษรที่เขียนสั้นๆ นี้ บางคนอาจจะตีความหมายว่าใช้เงินเป็น หมายถึง การรู้ค่าของจำนวนเงินที่ลูกถืออยู่ในมือ แบงค์สีเขียวมีค่า 20 บาท แบงค์สีแดงมีค่า 100 บาท ให้ลูกรู้ความหมายแค่นี้ ก็เพียงพอแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าลูกยังเด็กอยู่ เรียนรู้ค่าของจำนวนเงินแค่นี้พอก่อน เอาไว้ให้ลูกโตขึ้นกว่านี้ก่อนแล้วค่อยสอนให้ลูกรู้จักคุณค่า และความหมายของเงินในมุมที่กว้างขึ้นมากกว่านี้ทีหลัง แต่กว่าจะถึงวันนั้นเราจะสามารถแน่ใจได้อย่างไรว่า ลูกจะไม่ตีความหมายของ “เงิน” ผิดไป...?

 

 

ส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยเห็น หรืออาจจะเป็นตัวของเราเองนี่แหละที่ หยิบยื่นเงิน 20 บาทแล้วบอกให้ลูกลองซื้อขนม หรือของเล่นที่ลูกอยากได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการฝึกว่าลูกเก่ง สามารถนำเงินไปซื้อของเองได้แล้ว พร้อมกับตบมือชื่นชมลูกเป็นการแถมท้ายเสียด้วย เหมือนเป็นการบอกใบ้ให้ลูกตีความหมายของเงินผ่านการกระทำไปโดยปริยายด้วยความเคยชินว่า ถ้าลูกอยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อซิ เงินแลกได้ทุกอย่าง ซึ่งการฝึกลูกให้ใช้เงินเป็นในความหมายแบบนั้น แต่กลับไม่ให้เหตุผลลูกเลย กลายเป็นการเพิ่มอำนาจ เพิ่มความหมาย และเพิ่มคุณค่าให้เหรียญเงินเหรียญเล็กๆ ให้มีค่ายิ่งใหญ่ว่า “เงิน ใช้แลกทุกอย่างที่ลูกอยากได้เสมอ”

 

 

ส่วนความหมายของคำว่า “ใช้เงินเป็น” ในอีกความหมายหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ นั่นคือ การใช้เงินที่อดออมไว้อย่างรู้คุณค่า มีเหตุผล และเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการฝึกให้ลูกใช้เงินให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุดในเวลาปกติส่วนหนึ่ง เช่น การใช้เงินที่ลูกอดออมไว้ซื้อของใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นต้น แต่เมื่อถึงเวลาฉุกเฉิน เช่น บุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวต้องใช้เงินเวลาฉุกเฉิน เพราะ เจ็บป่วย เงินที่ลูก และทุกคนในครอบครัวช่วยกันอดออมไว้จะมีประโยชน์ คุ้มค่า และจำเป็นอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

 

 

ซึ่งวิธีการฝึกให้ลูกรู้จักอดออม และใช้เงินอย่างรู้คุณค่า คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยฝึกลูกได้ เช่น เวลาลูกอยากทานขนม หรืออาหารว่างนอกเหนือจากการทานข้าวในแต่ละมื้อ การจะห้ามไม่ให้ลูกทานขนมของว่าง เพราะ ต้องการประหยัดเงินนั่นไม่ใช่ทางออกที่ดีค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการสอนให้ลูกเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์ และไม่สิ้นเปลื้องเงินมากจนเกินไป เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะตั้งงบประมาณให้ลูก 30 บาท แทนที่ลูกจะนำเงินไปซื้อขนมกรุบกรอบราคา 30 บาท ที่ทานแล้วไม่มีประโยชน์ ราคาก็แพงนั้น ลูกควรเลือกซื้อ ขนมปังแฮมชีสที่อบใหม่ๆ จากเตา ราคา 22 บาท ซึ่งราคาถูกกว่า นอกจากลูกจะได้ขนมของว่างที่เต็มไปด้วยประโยชน์แล้ว ลูกยังมีเงินเหลือไว้หยอดกระปุกพี่หมูตั้ง 8 บาท วิธีการฝึกให้ลูกใช้เงินแบบนี้ เป็นการฝึกให้ลูกใช้เงินแบบคิดเป็นเหตุเป็นผล ก่อนใช้เงินเป็นค่ะ 

 

 

เมื่อลูกรู้จักอดออมเงินเป็น จาก 1 เหรียญ ใน 1 วัน จนกลายเป็น 365 เหรียญ จาก 365 วัน พอถึงเวลาที่ต้องใช้เงินจำนวนนั้นลูกจะใช้เงินอย่างรู้คุณค่า และมีเหตุผลที่สุดให้สมกับระยะเวลาที่อดออมเงินไว้อย่างยาวนาน

 

 

เงินทองจะแปรเปลี่ยนเป็นเศษเหล็กขึ้นสนิมที่แหลมคมไร้ค่า พร้อมที่จะทำร้ายผู้ถือตลอดเวลา หากใช้อย่างไร้เหตุผล แต่เงินทองจะมีคุณค่าต่อตัวเรา และผู้อื่น เมื่อใช้อย่างรู้คุณค่า และสมเหตุสมผล...!”

(Some images used under license from Shutterstock.com.)