
© 2017 Copyright - Haijai.com
ตั้งหลักพร้อม ก่อนพบหมอ ตรวจร่างกาย
หลายคนไม่ทราบว่าก่อนจะไปหาหมอควรเตรียมตัวอย่างไร และบางครั้งเมื่อไปหาหมอ หมอเองอาจไม่เข้าใจอาการป่วย ตรวจร่างกายไม่สะดวก ตรวจเลือดไม่ได้ทันที ฯลฯ อาจเพราะเนื่องจากผู้ป่วยใส่เสื้อผ้าที่ทำให้ตรวจร่างกายได้ยาก ไม่ได้งดน้ำงดอาหารมาล่วงหน้า เป็นต้น ดังนั้น เรามาช่วยกันพิจารณาหาวิธีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะไปหาหมอกัน
การดูแลรักษาของหมอ
ขั้นตอน
1.ซักประวัติ
2.ตรวจร่างกาย
3.ตรวจทางห้องปฏิบัติการ
4.การรวบรวมข้อมูลทั้งหมด
5.ติดตามผลการรักษา
6.ป้องกันโรค
ผลที่ได้
1.อาการผิดปกติ
2.อาการแสดงที่ผิดปกติ
3.ผลที่ผิดปกติ
4.ให้การวินิจฉัยที่ใช่หรือใกล้เคียงที่สุด
5.ป้องกันความเสี่ยงที่อาจเป็นโรคอื่น หรือโรคที่อาจรุนแรงขึ้น
6.ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซ้อนหรือลดโรคแทรก
ก่อนไปหาหมอ ต้องทำอย่างไรบ้าง
• พิจารณาอาการป่วย ว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องไปหาหมอหรือไม่ ซื้อยากินเองก่อนได้ไหม เพราะอาการบางอย่างสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีอาการบางอย่างที่ควรไปหาหมอทันที ซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวต่อไป
• เลือกหมอและสถานพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ มีความหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับความต้องการและความสามารถในการเข้าถึง เช่น จะไปสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพ สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน บางคนอาจต้องการพบหมอทั่วไป หรืออาจต้องการพบหมอเฉพาะทาง เป็นสิทธิของคุณเองในการเลือก
• ทบทวนอาการทั้งหมด ว่าคุณมีอาการไม่สบายอะไร มีรายละเอียดเท่าที่จดจำได้ เพื่อเล่าให้หมอทราบหมอทุกคนต้องเริ่มต้นตรวจรักษาด้วยการซักประวัติ คำถามที่มักจะถูกถามคือ ไม่สบายอะไร อย่างไร ให้อธิบายความรู้สึกที่เป็น หาความเกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ว่าคุณเป็นโรคอะไร เช่น เป็นมานานแค่ไหน ช่วงเวลาไหนที่เป็นบ่อย ทำอะไรแล้วเป็นมากขึ้น หรือดีขึ้น มีอาการที่เกิดพร้อมกันด้วยหรือไม่ คุณสามารถเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้าได้ ตัวอย่างเช่น อาการปวดท้อง หมอจะถามว่า ปวดที่ไหน ปวดแบบไหน เป็นเวลาไหน เป็นๆ หายๆ หรือเป็นตลอดเวลา เป็นก่อนหรือหลังอาหารมากกว่ากัน กินอาหารแล้วดีขึ้นหรือแย่ลง มีอาเจียน ไข้ ท้องเสียร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น
• เลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสม ก่อนออกจากบ้านให้เลือกใส่เสื้อผ้าหลวมๆ เพื่อให้หมอตรวจร่างกายได้ง่ายๆ คุณผู้หญิงไม่ควรใส่เสื้อผ้าชิ้นเดียว (เช่น ชุดแซก) ควรใส่ชุดที่มีสองส่วน เพื่อให้ตรวจช่องท้องได้ง่าย ไม่ต้องถอดเสื้อผ้าทั้งตัว (จะได้ไม่โป๊เกินไป) หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่รัดรูป (สเตย์) สวมรองเท้าที่ถอดง่าย เพราะต้องขึ้นนอนเตียง เพื่อให้หมอตรวจร่างกาย เป็นต้น
• ทำใจให้ไม่เครียดเกินเหตุ เพราะโรคส่วนใหญ่เป็นโรคไม่ร้ายแรง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ จะได้เป็นธรรมชาติของตัวคุณเวลาหมอตรวจ ถ้าเครียดเกินไปความดันโลหิตของคุณอาจจะสูง หัวใจเต้นเร็วเกินไป หมออาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น เอกซ์เรย์ หรือเจาะเลือด โดยไม่จำเป็น
• ให้งดน้ำงดอาหารอย่างน้อยแปดชั่วโมงก่อนพบหมอ ทั้งนี้ถ้าหมอให้ตรวจเลือดหรือตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์อื่นๆ จะได้ทำได้ในวันนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรงดยาเบาหวานตามที่หมอเคยแนะนำ
• เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจเพิ่มเติม หมออาจไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ทันที จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ดังนั้น หมออาจจะขอให้คุณตรวจเลือดปัสสาวะ หรือเอกซ์เรย์เพิ่มเติม คุณควรเตรียมพร้อมที่จะตรวจเพิ่มเติมด้วย
• บอกโรคประจำตัว เมื่อพบหมอทุกครั้ง คุณต้องบอกโรคประจำตัวหรือยาที่กินประจำ ประวัติการแพ้ยารวมทั้งอาหารเสริมสมุนไพร ยาหม้อ ยาจีน ยาไทย ให้หมอทราบทั้งหมด เพื่อประโยชน์สูงสุดของคุณเอง
• มีเพื่อนไปด้วย ในกรณีที่คุณมีความกังวล ต้องการผู้ให้คำปรึกษา คุณอาจชวนคนในครอบครัว เพื่อสนิทที่ไว้ใจได้ไปเป็นเพื่อน แต่ต้องเข้าใจว่าหมอต้องรักษาความลับของคุณ ดังนั้น หมออาจจะขอให้เพื่อนคุณออกจากห้องชั่วคราว หรือถามว่าคุณจะยินยอมให้เพื่อนคุณทราบโรคที่เป็นหรือไม่ หรือบางครั้งคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เช่น การตรวจเอกซ์เรย์ หรืออาจถูกปิดตาถ้ามีการรักษาโรคตา หรือได้รับยานอนหลับ เช่น หลังการส่องลำไส้ใหญ่ คุณอาจฝากของมีค่าไว้กับเพื่อน หรือให้เพื่อนช่วยเหลือพากลับบ้านได้เช่นกัน
• เตรียมคำถามล่วงหน้า คุณควรเตรียมคำถามสำหรับถามหมอไว้ก่อนล่วงหน้ากันลืม คำถามที่ควรถาม ได้แก่ เป็นโรคอะไร มีผลต่อสุขภาพหรืออายุสั้นหรือไม่ การรักษาแบบใด มีแนวทางการรักษานอกเหนือจากที่หมอแนะนำหรือไม่ มีโอกาสหายมากน้อยเพียงใด ต้องดูแลตนเองอย่างไร เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด ฯลฯ
• ซักถามเรื่องการใช้ยา ในขณะรับยาจากเภสัชกร ท่านควรถามเภสัชกร เพื่อเข้าใจวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น กินยาก่อนหรือหลังอาหาร อาหารหรือยาอื่นๆ ที่ควรหลีกเลี่ยงขณะที่กินยา อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยามีอะไรบ้าง เป็นต้น
• ให้ความสำคัญกับการนัดหมายของหมอ บ่อยครั้งที่หมอนัดให้มาดูอาการ เนื่องจากโรคบางโรคอาจต้องมีการปรับยา บางโรคเป็นเรื้อรังต้องการการรักษาต่อเนื่อง บางครั้งหมอใช้การรักษาเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรค การนัดหมายจึงมีความสำคัญเช่นกัน
อาการที่ควรไปหาหมอ
การป้องกันจะมีประโยชน์มากกว่าการรักษา เช่น การป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน การเน้นการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เป็นต้น ดังนั้น คนที่ไปโรงพยาบาลส่วนหนึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ที่ไปหาหมอ เพราะเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอันตรายในอนาคตที่อาจทำให้อายุสั้นลง ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อย คือ การรักษาโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งบรรดาโรคเหล่านี้มีความเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบสูง แต่โรคดังกล่าวมักไม่มีอาการผิดปกติ การตรวจพบโรคที่ไม่มีอาการเหล่านี้ ทำได้ด้วยการตรวจร่างกายประจำปีเท่านั้น
อาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย บางครั้งคิดว่าร้ายแรง แต่ไปหาหมอแล้วกลับได้รับคำตอบว่า ไม่เป็นไรในทางกลับกันหมออาจมีความเห็นตรงกันข้าม คืออาการไม่มากแต่เป็นโรครุนแรง ดังนั้น เราจึงควรรู้จักอาการที่พบบ่อยที่มีความเสี่ยงต่อโรคที่อาจรุนแรงไว้บ้าง
ตัวอย่างอาการที่ควรไปหาหมอ
• ปวดศีรษะรุนแรง ที่มีไข้/อาเจียน/ตาพร่า/แขนขาอ่อนแรงร่วมด้วย
• แขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน
• หมดสติ ซึม พูดไม่รู้เรื่องเฉียบพลัน
• มองไม่เห็นหรือภาพมัวเฉียบพลัน อาจมีปวดตา/ปวดหัว
• เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยขึ้น เดินแล้วเป็นมากขึ้นต้องอยู่นิ่ง
• เหนื่อยหอบ เดินไม่ไหว/ไอมีเสมหะเขียว/มีไข้/เหนื่อยกลางดึก/นอนราบไม่ได้
• อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีแดงหรือสีดำ
• ปวดท้องรุนแรง อาเจียน/มีไข้/ตาและตัวเหลือง
• ท้องเสียเป็นน้ำรุนแรง ไม่มีแรง อ่อนเพลียมาก หมดสติ
• เบ่งปัสสาวะไม่ออก ปวดท้องมาก
• มีเลือดออกจำนวนมากทางช่องคลอด
• มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น
• มีบาดแผลลึกที่ผิวหนังมากกว่า 1 เซนติเมตร/เลือดออกไม่หยุดนานกว่า 10 นาที
• อาการที่เป็นเรื้อรังไม่หายนานเกิน 2 อาทิตย์
• น้ำหนักลดลงมาก มากกว่า 2 กิโลกรัมต่อเดือน
• กินน้ำหรืออาหารไม่ได้ ทำให้อ่อนเพลีย
• อาการที่ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น กินข้าว เดิน นอน ฯลฯ
• อาการที่คุณไม่เคยเป็นและรบกวนการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน
• อาการที่คุณไม่แน่ใจว่าจะหายได้เอง
อาการที่ควรหรือต้องไปหาหมอแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ อาการที่ไม่ฉุกเฉิน แต่อาจเป็นโรคที่เรื้อรังที่มีผลต่อสุขภาพ เช่น อาจเป็นอาการของโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อเรื้อรัง เป็นต้น อีกกลุ่มคือ อาการที่มีความสำคัญและฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาทันที เช่น โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต โรคติดเชื้อรุนแรง เป็นต้น
• อาการที่ไม่ฉุกเฉิน แต่อาจเป็นโรคที่เรื้อรังที่มีผลต่อสุขภาพ
คือ อาการที่แสดงถึงโรคที่ไม่หายเอง และเป็นอาการเตือนให้ไปปรึกษาหมอตัวอย่างโรคที่เป็นนานกว่า 2 อาทิตย์ เช่น คลำพบคล้ายก้อนที่เต้านม ที่ไม่หายไปใน 2 อาทิตย์ ก็ควรไปพบหมอ เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นเนื้องอกหรือเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือมีอาการปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรไปหาหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียด ว่ามีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร เช่น แผลกระเพาะอาหาร เนื้องอก หรือมะเร็งในช่องท้องหรือไม่ หรือน้ำหนักลดเป็นมานานกว่าหนึ่งเดือน อาจเป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
• อาการที่มีความสำคัญและฉุกเฉินที่ต้องการการรักษาทันที
คือ อาการตามระบบต่างๆ ที่มีลักษณะฉุกเฉิน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรครุนแรงได้ ตัวอย่างเช่น มีอาการปวดหัวมากร่วมกับอาเจียน อาจแสดงถึงแรงดันในสมองสูงผิดปกติ อาจเกิดจากมีเลือดคั่งในสมอง หรือปวดหัวมีไข้ อาจเป็นโรคเบื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกมากทันที เหนื่อยมากโดยเฉพาะเวลาออกแรง อาจเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องรีบรักษา หากรักษาช้าเกินไปอาจทำให้เสียชีวิตได้
อาการที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีอาการอีกหลายอย่างที่ไม่สมารถนำเสนอได้หมด คุณควรพิจารณาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวคุณอย่างรอบคอบ คำแนะนำที่ดีที่สุด คือ ถ้าไม่แน่ใจควรไปหาหมอ เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างอาการป่วยและการดูแลรักษาในแต่ละกรณี
ตัวอย่างที่หนึ่ง
คุณเอ อายุ 47 ปี มีอากรอุจจาระเป็นเลือดสดๆ ถ่ายอุจจาระเหลวและปวดเบ่งมากผิดปกติ เป็นๆ หายๆ มาประมาณ 1 เดือน คุณเอสงสัยว่าตัวเองจะเป็นริดสีดวงทวาร ได้พยายามกินน้ำกินผักมากขึ้น รวมทั้งซื้อยามาเหน็บทวาร แต่ก็ไม่หาย มาหาหมอ ผลการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่พบว่า เป็นเนื้องอกลำไส้ชนิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ทำการผ่าตัดไป อาการดีขึ้น และคุณเอจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดหลังผ่าตัด
ตัวอย่างที่สอง
คุณบี อายุ 68 ปี มีประวัติโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ กินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ มีประวัติหกล้มในห้องน้ำเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว ต่อมาเริ่มมีอาการปวดหัวมึนงงมาก อาเจียนบ่อยๆ เป็นประมาณ 2 อาทิตย์ มาพบหมอเพราะปวดศีรษะมากทั้งวัน หมอให้ทำการตรวจสมองด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ พบว่ามีเลือดออกในกะโหลกศีรษะ หมอแนะนำให้ผ่าตัดเอาเลือดออกไม่เช่นนั้น อาจมากขึ้นจนเป็นอันตรายได้ คุณบีมีอาการสบายดีหลังผ่าตัดจนทุกวันนี้
ตัวอย่างที่สาม
คุณซี มีอาการปวดศีรษะ มึนงง เป็นมา 2 วัน มีอาการเบื่ออาหารแต่ไม่อาเจียน มีประวัติทำงานหนัก อดนอนมาทั้งอาทิตย์ มีประวัติเคยเป็นมาแล้วทุกครั้งที่อดนอน คุณซีคิดว่าเป็นลักษณะเหมือนเดิม จึงซื้อยามากินเองและนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ 2วันต่อมา อากรก็หายดี ไม่ต้องไปพบหมอ
สาระสำคัญที่ควรทราบ
ก่อนพบหมอควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อพบหมอควรถามให้กระจ่างทุกเรื่องของอาการที่ผิดปกติ บางครั้งหมออาจต้องมีข้อมูลอาการป่วยของคุณ โดยแนะนำให้ตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม หรืออาจนัดติดตามผลการรักษา ทั้งนี้ เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
การตรวจร่างกายประจำปี เป็นสิ่งที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในคนวัย 40-50 ปีขึ้นไป เป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นการค้นหาความผิดปกติต่างๆ เพื่อรีบรักษาแก้ไขก่อนที่จะนำไปสู่โรคที่เป็นอันตรายในอนาคต
อาการผิดปกติที่ควรไปหาหมอ แบ่งเป็น อาการฉุกเฉินที่ต้องการรักษาทันที และอาการที่ไม่หายนานกว่าสองอาทิตย์ หรือมีน้ำหนักลดลง หรือมีอาการที่มีผลต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นโรคที่ต้องรักษาแต่เนิ่นๆ
อาการป่วยเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการที่เคยเป็นๆ หายๆ มานาน ซึ่งคุณอาจจะดูแลรักษาตนเองได้ในเบื้องต้น โดยอาจซื้อยาจากเภสัชกร แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องไปหาหมอ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)