Haijai.com


กรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง


 
เปิดอ่าน 1970

กรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยตัวเอง

 

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุการเกิดมีตั้งแต่กรรมพันธุ์ จนถึงนิสัยการรับประทาน แบบสอบถามนี้มีไว้เพื่อคนปกติที่ไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งชี้มะเร็ง จุดประสงค์คือ ให้ทุกท่านได้มีโอกาสทดสอบดูว่าตัวเองมีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าประชากรทั่วไปหรือไม่ คำถามแต่ละข้อไม่ได้บอกโดยตรงว่าท่านเป็นมะเร็ง เพียงแต่เป็นแนวทางให้ทราบถึงความเสี่ยงเท่านั้น มาลองทำดูกันเลย

 

 

1.คุณมีอายุมากกว่า 50 ปี หรือไม่

 

มะเร็งเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในคนสูงอายุ ดังนั้น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จึงเริ่มมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติ มีคำแนะนำให้เริ่มทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ โดยวิธีการส่องกล้องหรือสวนแป้งเมื่ออายุ 50 ปี ขึ้นไป

 

 

2.คุณชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เช่น กะทิ หมูติดมันหรือไม่

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ สัมพันธ์กับการรับประทานอาหารไขมันสูง ดังนั้น ถ้าท่านรับประทานอาหารกลุ่มนี้ เป็นประจำจะทำให้ท่านมีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าคนทั่วไป หรือคนที่รับประทานอาหารที่อุดมด้วยผักผลไม้

 

 

3.คุณรับประทานเนื้อแดงบ่อยๆ หรือมากกว่า 2-3 ครั้ง ต่อสัปดาห์หรือไม่

การรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นประจำ และยิ่งปิ้งย่างให้สัมผัสความร้อน โดยตรง มีโอกาสที่จะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งสูง ดังนั้น การลดเนื้อแดงและหันไปรับประทานเนื้อขาว เช่น ไก่ ปลา จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

 

 

4.คุณรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอหรือไม่

มีแนวโน้มว่าคนที่รับประทานแคลเซียมน้อย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าปกตินิดหน่อย โดยความต้องการแคลเซียมสำหรับคนปกติจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 กรัม ต่อวัน

 

 

5.คุณดื่มสุราและสูบบุหรี่จัดหรือไม่

 

การดื่มสุรา ยิ่งถ้าเป็นการดื่มประจำทุกวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ สำหรับการสูบบุหรี่ แม้ไม่มีข้อมูลโดยตรงว่าการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตามการสูบบุหรี่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งอีกหลายสิบชนิด โดยเฉพาะมะเร็งของทางเดินหายใจ หลอดอาหาร ตับอ่อน ระบบทางเดินปัสสาวะ

 

 

6.คุณมีญาติสายตรงในครอบครัว เป็นมะเร็งลำไส้หรือมะเร็งชนิดอื่นที่สัมพันธ์กัน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูกหรือไม่

 

การที่มีญาติสายตรงป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งที่สัมพันธ์กันในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นนั้นเป็นตั้งแต่อายุน้อย อันนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณ เป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ตั้งแต่อายุน้อย

 

 

7.คุณเคยส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้วพบเนื้องอกในลำไส้หรือไม่

 

ถ้าคุณเคยมีประวัติส่องกล้อง แล้วแพทย์บอกว่ามีติ่งเนื้องอกในลำไส้ อาจเป็นสิ่งบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ยิ่งถ้ามีติ่งเนื้อจำนวนมากๆ เป็นร้อยๆ พันๆ ภาวะนี้สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่แน่นอน ต้องได้รับการรักษาก่อนเกิดเรื่อง แต่ถึงแม้จะมีติ่งเนื้อจำนวนไม่มาก แต่ติ่งเนื้อบางชนิดอาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ภายหลังได้ เช่น ภาวะ adenomatous polyp เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องการการเฝ้าระวัง ที่มากกว่าคนทั่วไป

 

 

8.คุณเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่

 

คนที่เคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนหายขาดแล้ว ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปอยู่ดี ดังนั้น จึงต้องได้รับการเฝ้าระวังที่ใกล้ชิดกว่าคนทั่วไป

 

 

9.คุณเคยผ่าตัดถุงน้ำดีหรือไม่

 

การที่เคยผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกจากร่างกาย ทำให้น้ำดีสามารถไหลออกมาสัมผัสกับเยื่อบุลำไส้ได้โดยตรง และตลอดเวลา ไม่จำเพาะแค่ตอนรับประทานอาหาร ทำให้มีโอกาสที่เยื่อบุทางเดินอาหารจะมีการกลายพันธ์ของยีน และเกิดมะเร็งลำไส้ได้

 

 

สุดท้ายนี้ เรามาจบด้วยคำแนะนำในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่กัน สำหรับคนที่มีความเสี่ยงปกติ (อายุมากกว่า 50 แต่ไม่มีประวัติของเนื้องอกชนิดปกติของลำไส้ ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่) ควรทำการตรวจลำไส้ด้วยการส่องกล้องทั้งลำไส้ (colonoscope) ถ้าไม่มีความผิดปกติควรทำซ้ำอีกทีในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ามีเนื้องอก (polyp) ควรจะได้รับการตัดออก สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ เช่น ผู้ที่เคยมีเนื้องอกชนิดที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง มีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีประวัติครอบครัวมีญาติสายตรงเป็น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการส่องกล้องดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และอาจต้องทำซ้ำในความถี่ที่มากกว่าคนทั่วไป สำหรับคนที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็ง ถ้าญาติสายตรงเป็นอายุน้อยกว่า 50 ปี ควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือ 10 ปี ก่อนถึงอายุที่ญาติเริ่มเป็น และต้องทำซ้ำทุก 3-5 ปี ถ้าญาติสายตรงเป็นตอนอายุมากกว่า 50 ปี ให้เริ่มทำตอนอายุ 50 ปี หรือ 10 ปี ก่อนถึงอายุของญาติตอนเริ่มแรกวินิจฉัย และทำซ้ำทุก 3-5 ปี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)