© 2017 Copyright - Haijai.com
ลำไส้อักเสบ โรคลำไส้อักเสบ
“ลำไส้อักเสบ” มาจากคำว่า Enteritis หมายถึง โรคที่เกิดจากการอักเสบของลำไส้ ซึ่งมีอาการสำคัญ คือ ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว การถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แต่ลักษณะอุจจาระเป็นก้อน ตามปกติไม่ถือว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบ
โรคลำไส้อักเสบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โรคลำไส้อักเสบชนิดเฉียบพลัน และโรคลำไส้อักเสบชนิดเรื้อรัง โดยถ้าเป็นชนิดเฉียบพลันโรคควรหายภายใน 2 สัปดาห์ (หากไม่มีโรคแทรกใดๆ) แต่ถ้าเป็นนานกว่านั้นหรือนานกว่า 1 เดือน ถือเป็นอาการของโรคเรื้อรัง สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบทั้ง 2 ชนิดนี้แตกต่างกัน รวมทั้งแนวทางการรักษาก็ไม่เหมือนกัน
สาเหตุของท้องเสีย
1.ท้องเสียเฉียบพลัน
1.1.ชนิดติดเชื้อ
สาเหตุ
• แบคทีเรีย
• ไวรัส
• ปรสิต
1.2.ชนิดไม่ติดเชื้อ
สาเหตุ
• อาหารเป็นพิษ
• แพ้อาหาร
• เกิดจากยา
• เริ่มเป็นโรคท้องเสียเรื้อรัง
2.ท้องเสียเรื้อรัง
สาเหตุ
• การย่อยหรือการดูดซึมอาหารผิดปกติ
• โรคติดเชื้อเรื้อรัง เช่น วัณโรค
• มะเร็งลำไส้ใหญ่
• เนื้องอกลำไส้
• ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
• อาหารเป็นพิษ
• โรคต่อมไร้ท่อหลายชนิด
• โรคอื่นๆ
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ
ในกลุ่มท้องเสียเฉียบพลันส่วนใหญ่ เกิดจากอาหารที่กิน หรือที่เรียกว่า โรคอาหารเป็นพิษ แบ่งออกเป็นชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อโรค และชนิดไม่ติดเชื้อโรค การติดเชื้อเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพวกปรสิตต่างๆ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ส่วนชนิดไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เกิดจากสารพิษที่อยู่ในอาหาร กลุ่มนี้มักจะหายเองภายใน 3-4 วัน หรือต้องไม่เกิน 2 สัปดาห์
กลุ่มท้องเสียเรื้อรัง มีสาเหตุที่แตกต่างออกไป ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียที่นานกว่า 2 สัปดาห์ มักเป็นโรคที่ไม่สามารถหายได้ด้วยการดูแลตนเองเพียงอย่างเดียว จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ไปขอคำแนะนำและตรวจรักษาจากแพทย์โดยเร็ว
ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน
• ชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อ
ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อเกิดมากถึงร้อยละ 75 ของโรคท้องเสียเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากแบคทีเรีย โดยมีกลไกที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้หลายชนิด ชนิดหลักๆ ได้แก่
• เกิดจากพิษของแบคทีเรีย โดยที่ไม่มีการรุกรานทำลายผิวของลำไส้ (Non-invasive) ท้องเสียเกิดจากสารพิษต่อลำไส้ที่สร้างจากแบคทีเรีย ที่ทำให้ลำไส้ขับน้ำเข้ามาในลำไส้เป็นจำนวนมาก เช่น อหิวาตกโรค ซึ่งอาจทำให้ถ่ายอุจจาระได้มากกว่า 10 ลิตรต่อวัน ทำให้เกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำไปกับอุจจาระภายในไม่กี่ชั่วโมง พิษส่วนใหญ่ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการต้ม เช่น พิษจากเชื้อ Staphylococcal Aureus, Bacillus cereus เป็นต้น
• เกิดจากการรุกรานทำลายผิวของลำไส้โดยแบคทีเรีย (Invasive) อาการของโรคเกิดจากการทำลายผนังของลำไส้ และอาจเกิดร่วมกับการสร้างพิษของมัน เช่น ไข้ไทฟอยด์ (Salmonellosis) เชื้อบิดไม่มีตัว (Shigellosis) เป็นต้น เชื้อกลุ่มนี้ ทำให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้สูง อุจจาระมีมูกเลือดหรือมีกลิ่นเหม็น
• เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (Viral gastroenteritis) เป็นสาเหตุของการท้องเสียที่พบบ่อยในเด็กเล็ก เคยมีความเชื่อ ว่าเกิดในเฉพาะผู้ป่วยเด็ก แต่ปัจจุบันพบโรคนี้ในผู้ป่วยผู้ใหญ่มากขึ้น ไวรัสที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ Rota visus, Adenovirus ส่วนไวรัสที่สามารถพบได้ในผู้ใหญ่ ได้แก่ ไวรัส Norovirus หรือ Norwalk-like Virus อาการสำคัญของลำไส้อักเสบจากไวรัส ได้แก่ อาการท้องเสีย มีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ ปวดตามตัว เป็นต้น
• โรคลำไส้อักเสบเฉียบพลันที่ไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อ
เป็นสาเหตุส่วนน้อยของโรคท้องเสียเฉียบพลัน เกิดจากการกินสารมีพิษหรือกินอาหารที่ย่อยยากจำนวนมาก พอที่จะทำให้เกิดโรค เช่น สารพิษจากปลาทะเล สารโลหะหนัก เห็ดพิษบางชนิด กินนมสดนานๆ ครั้ง หรือกินยาผิด เป็นต้น แพทย์บางท่านไม่เรียกลำไส้อักเสบ เพราะไม่มีลักษณะอักเสบที่ผนังลำไส้ แต่เรียกว่าท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และมักเกิดภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังได้รับพิษ
อาการที่มีความรุนแรงและต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
• คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำในร่างกาย จนอาจมีภาวะช็อกได้
• อาการท้องเสียและสูญเสียน้ำจำนวนมาก ผู้ป่วยอาจจะคำนวณการสูญเสียน้ำได้ จากอาการอ่อนเพลีย หน้ามืดจะเป็นลม ปากแห้ง มือเท้าเย็น หรือหมดสติ
• อาการปวดท้องรุนแรง อาการปวดท้องจากลำไส้อักเสบ คือ การปวดท้องแบบบิดๆ หรือไส้บิด การปวดมีลักษณะเกิดเป็นพักๆ ครั้งละไม่นานกว่าสองสามนาที มักจะตามด้วยการถ่ายอุจจาระ การปวดท้องตลอดเวลาโดยไม่มีหยุด บางครั้งปวดมากเวลาขยับตัว ไม่ใช่การปวดจากลำไส้อักเสบธรรมดา
• อาการไข้สูงหรือมีอาการหนาวสั่น แสดงถึงการติดเชื้อที่อาจจะรุนแรงได้
• อุจจาระที่มีมูกเลือด หรือเป็นเลือด หรือมีอาการปวดหน่วงๆ ที่ทวาร แสดงถึงการมีลำไส้ใหญ่อักเสบ
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก แต่เป็นโรคที่ต้องมีการตรวจหาสาเหตุ เพราะจะไม่หายเองถ้าไม่ท้องเสีย อาจพบอาการอื่นๆ ของโรค เช่น การขาดอาหาร น้ำหนักลด ไม่มีแรง ซีด หรือมีไข้ อุจจาระมีเลือด หรือมูกเลือด ปวดท้องเป็นๆ หายๆ มีก้อนในท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือมีอายุมากกว่า 50 ปี เป็นต้น อาการเหล่านี้ เป็นอาการเตือนให้ไปพบแพทย์ทันที
อาการถ่ายเหลวเป็นครั้งคราว อาจเป็นลักษณะของลำไส้แปรปรวน (ซึ่งต้องไม่มีอาการอื่นๆ ตามที่กล่าวมา) ไม่ใช่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ลำไส้อักเสบเฉียบพลันเกิดได้อย่างไร
ลำไส้อักเสบเฉียบพลันเกิดจาก การกินอาหารหรือน้ำที่มีสารพิษหรือเชื้อโรคเข้าไป โดยทั่วไปแพทย์ถือว่าอาหารที่เป็นต้นเหตุคือ อาหารมื้อสุดท้ายก่อนเกิดอาการ แต่สำหรับโรคติดเชื้อนั้น ไม่แน่นอนเสมอไป ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อ จนมีอาการเกิดขึ้น เราเรียกว่า ระยะฟักตัว ซึ่งเป็นลักษณะของโรคติดเชื้อ อาจเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวัน ในทางปฏิบัติในหลายกรณีก็ไม่สามารถระบุชนิดของอาหารที่เป็นต้นเหตุได้
การตรวจหาเชื้อในร่างกาย อาจตรวจได้จากการนำอุจจาระของผู้ป่วยไปเพาะหาชนิดของเชื้อ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เพราะต้องใช้ระยะเวลานานหลายวัน จึงจะทราบผล ซึ่งอาการมักจะหายไปก่อนที่จะได้ผลการเพาะเชื้อดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องทราบเชื้อจากการเพาะเชื้อก่อนเสมอไป ในทางปฏิบัติแพทย์มักจะไม่แนะนำให้ทำการเพาะเชื้อ หรือตรวจอุจจาระเพื่อทำการรักษา ยกเว้นในรายที่มีอาการรุนแรง หรือในรายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น อาหารที่อาจทำให้เกิดลำไส้อักเสบในชีวิตประจำวันที่พบบ่อย เช่น
• อาหารที่ทำเสร็จแล้ว ตั้งทิ้งไว้นาน ทำให้แบคทีเรียมีการแบ่งตัว เกิดเชื้อมากพอที่จะทำให้เป็นโรค หรือสร้างพิษได้มากขึ้น การแช่เย็นอาหารนานเกินกว่าสามวัน ก็อาจทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน
• อาหารที่ทำสุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารประเภทเนื้อสัตว์
• อาหารทะเลที่สุกๆ ดิบๆ หรือประเภทปิ้งย่าง หรือเผา
• ข้าวหรือนมสดที่บูดแล้ว
• น้ำดื่มที่ไม่สะอาด ไม่ได้ผ่านการต้มหรือการกรองที่ถูกวิธี
• อาหารที่ดูไม่สะอาด
โรคลำไส้อักเสบ มีอาการสำคัญ คือ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด มีสารพิษหรือมีเชื้อโรค โรคนี้มักจะหายเองได้ในระยะเวลา 3-4วัน หรือ ไม่เกิน 2 สัปดาห์
การดูแลรักษา
ร่างกายมีกลไกที่จะกำจัดพิษ หรือเชื้อโรคออกจากร่างกายด้วยการทำให้เกิดท้องเสีย ดังนั้น การถ่ายอุจจาระในแต่ละครั้ง ถือเป็นกลไกการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย หลังการรักษาที่สำคัญคือ การป้องกันโรคแทรกซ้อน ที่อันตรายของลำไส้อักเสบ ได้แก่ ร่างกายสูญเสียน้ำจากการถ่ายอุจจาระหรืออาเจียน ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องให้น้ำให้เพียงพอ ซึ่งหมายรวมถึงการดื่มน้ำเกลือแร่ (หรือการให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดดำ ที่เพียงพอในกรณีที่อาการรุนแรงมาก และเข้ารักษาในโรงพยาบาล)
ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก และไม่รุนแรงสามารถดูแลรักษาตัวเองได้ที่บ้าน ด้วยการดื่มน้ำเกลือแร่และกินอาหารอ่อนๆ เท่าที่สามารถกินได้ การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นมากกว่าการกินอาหาร ผู้ป่วยหลายคนไม่อยากกินอาหาร หรือน้ำเลย เนื่องจากคลื่นไส้หรืออาจทำให้ท้องเสียบ่อยมากขึ้น อาจทำให้อาการขาดน้ำรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น การกินน้ำเกลือแร่หรือน้ำดื่ม และการกินอาหารจึงจำเป็น เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยกินน้ำหรือน้ำเกลือแร่ไม่ได้เลยจนรู้สึกอ่อนเพลียมาก ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพื่อให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดดำร่วมกับยากันอาเจียน
ผู้ป่วยส่วนหนึ่ง มักคิดว่าถ้ากินยาฆ่าเชื้อแล้วจะหาย แต่ทางการแพทย์พบว่าโรคลำไส้อักเสบส่วนใหญ่หายเองได้ โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ดังนั้น ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อใดๆ ผู้ป่วยควรได้ยาฆ่าเชื้อในกรณีที่มีอาการไม่หาย เป็นนานเกิน 5 วัน หรือในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
โรคลำไส้อักเสบ มีอาการสำคัญ คือ ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ เป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่สะอาด มีสารพิษ หรือมีเชื้อโรคทำให้เกิดโรค โรคนี้มักจะหายเองได้ในระยะเวลา 3-4 วัน หรือไม่เกินสองสัปดาห์ ต้องระวังว่าโรคลำไส้อักเสบมีความรุนแรงได้ เช่น มีไข้สูง มีอาการของการขาดน้ำในร่างกายจำนวนมาก หรืออาเจียนกินน้ำไม่ได้ หรืออุจจาระมีเลือดปน อาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ทันที การรักษาโรคเน้นที่การดื่มน้ำให้พอเพียง โดยเฉพาะน้ำเกลือแร่ชนิดผงละลายน้ำ ในกรณีที่อาการไม่หายนานเกิน 2 สัปดาห์หรือ 1 เดือน ถือว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรต้องปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยละเอียด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)