© 2017 Copyright - Haijai.com
ยา เหล้า เท่ากับ ?
เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นสิ่งเคียงคู่มากับประวัติศาสตร์มนุษย์ตั้งแต่โบราณกาล จากภาพบันทึกและบันทึกเป็นจดหมายเหตุ จะเห็นได้ว่ามีการนำแอลกอฮอล์มาใช้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ใช้ในงานรื่นเริงหรือใช้ในการเตรียมตำรับยาสำหรับรักษาโรค เช่น ยาดองเหล้า ยาในรูปแบบอิลิกเซอร์
ยาดองเหล้าคืออะไร
ยาดองเหล้า เป็นภูมิปัญญาของไทยที่ได้จากการนำแอลกอฮอล์มาหมักกับสมุนไพร มีสรรพคุณตามฤทธิ์ของสมุนไพร เช่น บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อย บำรุงโลหิตสำหรับสตรีหลังคลอดที่อยู่ไฟไม่ได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ายาดองเหล้าบางตำรับเป็นยาบำรุงความกำหนดที่ได้ผลดีเยี่ยม จากผลงานวิจัยโดย สันติ วัฒฐานะ และทีมงานขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ เชียงใหม่ ในความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สรุปไว้ว่า “จากการวิจัยมานานกว่า 1 ปี สามารถรวบรวมตำรับยาดองได้ทั้งหมด 91 สูตร พบพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนผสมยาดอง 242 ชนิด ที่สำคัญพบว่าหลายชนิดมีสรรพคุณตามคำร่ำลือจริง รวมถึงสรรพคุณที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ” แม้ยาดองเหล้าสมุนไพรจะมีสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ผสมอยู่จริง แต่ทีมงานวิจัยเตือนว่า ไม่ควรบริโภคยาบำรุงชนิดยาดองมากเกินไป ถ้าบริโภคแต่รปริมาณที่พอดีก็จะเป็นยา แต่ถ้าบริโภคมากเกินขนาดก็จะได้ปริมาณมากเกินทั้งสมุนไพรและเหล้า และกลายเป็นคนติดเหล้า
ปริมาณในการบริโภคยาดองแล้วได้ประโยชน์นั้น ควรดื่มวันละไม่เกิน 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็นในแต่ละครั้งควรดื่มประมาณ 1 เป๊กหรือ 1 ถ้วยตะไล (30 มิลลิลิตร) ซึ่งจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 6-8 มิลลิลิตร สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้ป่วยที่กำลังมีไข้สูง และผู้ที่มีอาการแพ้เหล้าหรือแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มยาดองเหล้านี้
เหล้ามีที่ใช้ในยาแผนปัจจุบันหรือไม่
เหล้าในทางยาก็คือแอลกอฮอล์ ถูกนำมาใช้ในการเตรียมตำรับยาแผนปัจจุบัน เหล้ามีคุณสมบัติของแอลกอฮอล์ที่สามารถละลายได้ดีทั้งในน้ำและน้ำมัน ใช้สกัดสารที่ละลายในน้ำได้ไม่ดี ให้สามารถละลายในน้ำได้มากขึ้น และยังช่วยกลบรสหรือปรุงแต่งรสชาติให้ดีขึ้น
ตำรับยาแผนปัจจุบันที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์อิลิกเซอร์ แอมโมเนียสปิริต (เหล้า แอมโมเนียหอม) ทิงเจอร์ฝิ่นการะบูร ตำรับยาเหล่านี้มีปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป อิลิกเซอร์ (Elixir) มีแอลกอฮอล์ในปริมาณร้อยละ 40-60 มีรสหวาน ส่วนสปิริต (Spirit) และทิงเจอร์ (Tincture) มีแอลกอฮอล์อย่างน้อยร้อยละ 40 และอาจมีได้ถึงร้อยละ 90
แอลอฮอล์ที่มีในยาดองเหล้าและยาแผนปัจจุบันมีอันตรายหรือไม่
เมื่อร่างกายรับแอลกอฮอล์เข้าไปทางปากผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้เล็ก แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตและกระจายไปทั่วร่างกาย เมื่อกินอาหารมาก่อน แอลกอฮอล์ใช้เวลา 1-6 ชั่วโมง จึงจะถูกดูดซึมไปถึงระดับสูงสุดในเลือด ถ้ากินเหล้าในขณะที่ท้องว่างแอลกอฮอล์ใช้เวลาถูกดูดซึมและเข้าสู่ระดับสูงสุดในเลือดในเวลาเพียง 30 นาที – 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นแอลกอฮอล์จะกระจายไปในร่างกาย โดยไปสมองมากที่สุด ก่อนจะถูกกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกำจัดที่ตับ (ร้อยละ 95) จึงเกิดปัญหาไขมันพอกตับและเป็นตับแข็งในที่สุด ที่เหลือถูกขับออกทางลมหายใจ ปัสสาวะ เหงื่อ อุจจาระ น้ำนมและน้ำลาย
แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท กดประสาทและกดการหายใจ อาการตื่นเต้น กระชุ่มกระชวย และรู้สึกสบายจะเกิดในคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และจะเริ่มแสดงอาการพิษของแอลกอฮอล์ เช่น ขนาดการยับยั้งชั่งใจ การทรงตัวเสียไป ตลอดจนเสียความสามารถในการควบคุมยวดยานบนท้องถนน เมื่อคนนั้นมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณ 80-100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
แอลกอฮอล์ทำให้หลอดเลือดขยายตัว เกิดการสูญเสียความร้อนจากร่างกาย แอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการอักเสบและเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ สูญเสียน้ำ และรู้สึกกระหายน้ำมาก ดังนั้นหากกินตำรับยาที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็จะเกิดอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
สตรีมีครรภ์ หากกินตำรับยาที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือกินยาดองเหล้า ทารกในครรภ์จะได้รับแอลกอฮอล์ไปด้วย มีการทำลายเซลล์ประสาท เกิดความผิดปกติของโครงสร้างสมอง ศีรษะเล็ก น้ำหนักแรกเกิดน้อย และมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักหลังเกิดน้อย ส่วนด้านพัฒนาการของสติปัญญาก็มีความบกพร่อง มีปัญหาด้านความจำ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะวิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมอันธพาล และมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ เช่น อาการซุกซนไม่อยู่นิ่ง และสมาธิสั้น
คุณแม่ที่ให้นมลูกก็เช่นกัน หากกินตำรับยาที่มีแอลกอฮอล์มาเกินไปหรือกินยาดองเหล้า ก็จะมีผลให้ลูกได้รับเหล้าไปด้วย ลูกจะหลับง่าย ดูเหมืองเลี้ยงง่าย แต่ที่จริงแล้วลูกหลับเพราะเมาเหล้าจากการมีแอลกอฮอล์ในร่างกายมากเกินไป
ดังนั้น หากกินตำรับยาที่มีแอลกอฮอล์ จึงควรกินตามคำแนะนำเพื่อการรักษาเท่านั้น และควรหลีกเลี่ยงการกินตำรับยาที่มีแอลกอฮอล์ หากตั้งครรภ์หรือให้นมลูก
กินยากับเหล้าได้หรือไม่
การกินยากับเหล้าไม่ควรทำอย่างยิ่ง คนที่ติดเหล้าจะกำจัดยาบางชนิดได้มากกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษาหรือได้รับพิษจากสารที่เกิดจากการกำจัดยามากขึ้น ยาหลายขนาดหากกินกับเหล้าจะเกิดอาการคล้ายปฏิกิริยาเบื่อเหล้า มีอาการหน้าแดง ปวดตุ๊บๆ ในศีรษะและต้นคอ วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียน หายใจขัด แรงดันเลือดตก เหงื่อออกมาก กระหายน้ำ และสับสน ตัวอย่างยาที่มีปัญหานี้ เช่น เมโทรนิดาโซล และยาต้านเชื้อรา เช่น คีโตโคนาโซล ฟลูโคนาโซล
ยาต่อไปนี้หากกินกับเหล้าจะเกิดผลต่างๆ กันอาจเสริมฤทธิ์ หรือ ต้านฤทธิ์ ก็ได้
• ยาสงบประสาท ในคนที่ไม่ติดเหล้า การกินยาสงบประสาทกับเหล้าจะทำให้เกิดการง่วงซึมจากฤทธิ์ของยาสงบประสาทรุนแรงขึ้น แต่สำหรับคนที่ติดเหล้ามักได้ผลตรงข้าม ตัวอย่างเช่น การใช้ยาสงบประสาทเพื่อทำให้ผุ้ป่วยพิษสุราเรื้อรังหลับ จะได้ผลน้อยลง ผู้ป่วยจึงต้องใช้ยาขนาดสูง
• กลุ่มสารมีฤทธิ์คล้ายฝิ่น เช่น มอร์ฟีน เพ็ททิดีน เมธาโดน มีฤทธิ์กดการหายใจ ซึ่งลดทั้งอัตราและปริมาตรของการหายใจ และลดความไวของศูนย์การหายใจในสมอง เหล้าก็มีฤทธิ์กดการหายใจด้วย ดังนั้นการใช้สารเหล่านี้และเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน มักเกิดผลสมทบทำให้มีการกดการหายใจรุนแรงขึ้น
• ยารักษาโรคซึมเศร้า ในคนที่ไม่ติดเหล้า การกินยาต้านซึมเศร้ากับเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้กระบวนการกำจัดยาออกจากร่างกายเกิดช้าลง ผลที่เกิดขึ้น คือ ทักษะของการเคลื่อนไหวลดลง เป็นอันตรายแก่ผู้ที่ขับรถ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อความดันเลือดต่ำและหัวใจเต้นผิดจังหวะ
• ยาแอสไพรินและยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ในคนที่ไม่ติดเหล้า การกินยาแอสไพรินและยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟิแนค ไฟร็อกซิแคม ฯลฯ ร่วมกับเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ยามีฤทธิ์นานขึ้น เกิดปัญหาเลือดออก ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ของยา และเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
• ยาพาราเซตามอล การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งคราวร่วมกับยาพาราเซตามอล ช่วยลดการเกิดพิษจากยาพาราเซตามอลได้ แต่ในรายดื่มเหล้าเป็นประจำกลับได้ผลตรงข้าม เนื่องจากการทำงานของตับเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นโดยแอลกอฮอล์ ภาวะทุพโภชนาการจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งทำให้มีการพร่องกลูตาไธโอนก็เป็นตัวเสริมการเป็นพิษของพาราเซตามอล
• ยาเบาหวาน แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างนำตาลที่ตับ ดังนั้นการใช้ยาเบาหวานร่วมกับเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีโอกาสเกิดภาวะพร่องน้ำตาลในเลือดได้ การดื่มเหล้าเป็นประจำจะเสี่ยงต่อภาวะการมีกรดแลคติคคั่งในเลือดในผู้ที่ใช้เมทฟอร์มิน
• ยาวาร์ฟาริน การใช้ยานี้ร่วมกับเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ระดับยาวาร์ฟารินในเลือดสูงขึ้น จึงอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น แต่ผู้ที่ดื่มเหล้าจัดจะได้ผลตรงข้าม
ควรกินยากับเครื่องดื่มประเภทไหน
กินยากับน้ำเปล่าดีที่สุด นอกจากจะไม่มีผลกับยาที่รับประทานแล้ว หากดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ยังช่วยละลายยา เพิ่มการดูดซึม และลดผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นกับยา โดยเฉพาะยาที่ทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอหาร น้ำแร่ น้ำผลไม้ และนม ก็อาจมีผลรบกวนการดูดซึมยา จึงไม่ควรกินร่วมกับยา
สุดท้ายขอฝากไว้ว่า ทุกครั้งที่ต้องกินยา ใช้ยา อย่าลืมอ่านข้อมูลยาบนฉลาก และหากมีข้อสงสัยโปรดสอบถามเพิ่มเติมจากเภสัชกรของท่าน
ภก.สัณห์ อภัยสวัสดิ์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)