© 2017 Copyright - Haijai.com
เลเซอร์ผิวหนัง
เลเซอร์ (Laser) ย่อมาจากคำว่า Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation เทคโนโลยีเลเซอร์มีการประดิษฐ์คิดค้นมากกว่า 45 ปี และในทางผิวหนังมีการนำมาใช้อย่างจริงจังกว่า 25 ปีแล้ว ปัจจุบันถือได้ว่าเทคโนโลยีด้านเลเซอร์นี้ มีความนิ่งปลอดภัยสูง ผ่านการศึกษามามากจนได้มาตรฐานการรักษา ให้ผลดีสามารถนำมาใช้รักษาโรคหลายชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่น เมื่อพูดถึงเลเซอร์ผิวหนัง คนส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่าเลเซอร์มีเพียงชนิดเดียว แต่แท้จริงแล้วเลเซอร์มีหลายชนิดขึ้นกับแหล่งกำเนิดของแสงเลเซอร์ และมีข้อบ่ง่ชี้ในการใช้แตกต่างกัน
หลังการของเลเซอร์ผิวหนัง
หลักการของเลเซอร์ผิวหนังคือการทำให้เกิดความร้อนขึ้นในตำแหน่งที่ต้องการด้วยการกำหนดช่วงความยาวคลื่นของแสงให้เหมาะสม กำหนดระดับความลึกของตำแหน่งเป้าหมายด้วยขนาดของลำแสง (Spot size) และความยาวของคลื่นแสง กำหนดขอบเขตการทำลายเนื้อเยื่อจากระยะเวลาของการฉายลำแสง (Pulse width) และความถี่ของการยิงแสง (Frequency) นอกจากความร้อนแล้ว ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีและพลังของคลื่นเสียง (Acoustic shockwave) ด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความร้อน
สำหรับตัวรับแสงที่ผิวหนัง โดยธรรมชาติแล้ว มีอยู่ 3 อย่าง 1) น้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของทุกเซลล์ของผิหนัง 2) เม็ดสีน้ำตาลหรือดำของเมลานิน และ 3) สีแดงของเม็ดเลือดแดง (Hemoglobin) นอกจากนี้ตัวรับแสงก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในผิวหนังโดยธรรมชาติ เช่น เม็ดสีที่เกิดจากการสักหรือสารที่เราททาลงไปที่ผิวหนังเพื่อให้เกิดผลในการรักษา เช่น Aminolevulinic acid (ALA) ที่ใช้ในการรักษาที่เรียกว่า Photodynamic therapy
ประเภทและการประยุกต์ใช้
ปัจจุบันสามารถจำแนกประเภทของเลเซอร์ผิวหนังตามลักษณะการใช้การได้ดังนี้
1.เลเซอร์ที่ใช้ในการลอกผิวออก ซึ่งมีตัวรับแสงเป็นน้ำที่อยู่ในเซลล์ การรักษาด้วยวิธีนี้ ผิวหนังชั้นบนจะถูกลอกออกเป็นแผล ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ใข้ในการแก้ไขรอยแผลเป็นจากสิวที่เป็นมาก และแก้ไขปัญหาผิวหนังที่เกิดจากอายุ เช่น ริ้วรอย จุดดำ กระ
2.เลเซอร์ที่ใช้รักษาหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดฝอยปานแดง เป็นต้น เลเซอร์ในกลุ่มนี้ นอกจากนำมาใช้รักษาหลอดเลือดแล้วยังมีการนำมาใช้รักษารอยแผลเป็นที่เป็นแบบนูนหนา ตลอดจนรอยแตกของผิว ซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่ง
3.เลเซอร์ที่ใช้ในการรักษาเม็ดสีและรอยสัก โรคที่เลเซอร์ในประเภทนี้รักษาได้ผลดีพอสมควร ได้แก่ ปานดำ ปานโอตะ กระลึก (Hori’s nevus) แต่การนำมารักษาฝ้ายังได้ผลไม่ดีนัก ส่วนรอยสักที่ได้ผลดีจะเป็นรอยสักที่มีสีเข้ม เช่น สีดำ น้ำเงิน หรือแดง ส่วนสีเขียวและเหลืองได้ผลไม่ดีนัก
4.เลเซอร์ที่ใช้ในการกำจัดขน ขนที่สามารถรักษาได้ผลดีมักจะเป็นขนเส้นใหญ่ มีสีดำ ในคนผิวขาว มากกว่าที่จะเป็นขนอ่อน สีอ่อน และในคนผิวเข้มอย่างไรก็ตามเลเซอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับการพัฒนามาแล้ว จึงสามารถรักษาขนเส้นเล็กในคนผิวสีเข้มได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะไม่เท่ากับขนเส้นใหญ่ในคนผิวขาวก็ตาม และการกำจัดขนด้วยเลเซอร์นั้น จำเป็นต้องทำหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลในระยะยาว
5.เลเซอร์ที่ใช้ในการลดริ้วรอยหรือแผลเป็นจากสิวแบบที่ไม่ต้องลอกผิวออก ทั้งนี้โดยอาศัยหลักการของการทำให้เกิดความร้อนขึ้นในชั้นหนังแท้ แล้วกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมผิวด้วยการสร้างคอลลาเจนและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันใต้ผิวหนัง เลเซอร์ในกลุ่มนี้ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่เท่ากับการลอกผิวออกด้วยเลเซอร์ แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า คนไข้ที่ผิวสีขาวเป็นกลุ่มที่ได้ผลดีพอสมควร ส่วนคนไข้ที่ผิวสีเข้มจะต้องระวังในการใช้เนื่องจากสีผิวที่อยู่ในชั้นบนของผิวหนังอาจได้รับผลจากแสง ทำให้เกิดเป็นรอยดำหรือรอยด่างขาวได้ แม้จะมีระบบทำความเย็นที่ผิวหนัง เพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าเลเซอร์ผิวหนังมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีความจำเพาะกับแต่ละปัญหา อย่างไรก็ตามปัญหาหลาอย่าง เป็นปัญหาที่ซับซ้อน เช่น รอยแผลเป็นจากสิว ซึ่งอาจมีทั้งรอยแดง เส้นเลือดฝอย รอยดำ และรอยบุ๋มร่วมกันไป การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เกิดตามวัยก็เช่นกัน อาจมีทั้งเรื่องของริ้วรอย กระ กระเนื้อ รอยดำ รูขุมขนกว้าง เส้นเลือดฝอยขยายตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้ การใช้เลเซอร์แต่เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งไม่สามารถแก้ไขทุกรายละเอียดให้ดูดีขึ้นได้ทั้งหมด จำเป็นที่จะต้องใช้เลเซอร์หลายชนิดร่วมกัน (ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง) หรือแม้กระทั่งต้องใช้วิธีการอื่นๆ ทางศัลยกรรมร่วมไปด้วย ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาเพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย เทคนิคที่ใช้มีทั้งที่เป็นแสง (Light based) และที่ไม่ใช่แสง ผลการรักษาที่ได้อยู่ในระดับที่ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่มีลักษณะเป็นปัญหาเดี่ยว และจำเพาะ เช่น รอยสัก ปานดำ ปานแดง ก็ยังไม่มีวิธีการรักษาอื่นที่ดีกว่าการใช้เลเซอร์ และการรักษาด้วยเลเซอร์นั้น ในบางกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องทำซ้ำ เพื่อให้ผลดีที่สุด เช่น ในกรณีของรอยสักและปาน นอกจากนี้หลังการรักษาด้วยเลเซอร์อาจจะมีแผลหรือสะเก็ด ซึ่งจะต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องไประยะหนึ่งด้วย
ข้อควรพิจารณาในการรับการรักษาที่ผิวหนัง
ปัจจุบันมีความนิยมในการทำหัตถการทางผิวหนังกันมากขึ้น โดยพยายามหลีกเลี่ยงการทำศัลยกรรม เทคนิคและวิธีการต่างๆ มีพัฒนาการและทยอยกันออกมาเป็นทางเลือกให้เปรียบเทียบ จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากก่อนที่จะตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็จะต้องถามตัวเองด้วยถึงความจำเป็นและความพร้อมในการรักษา จึงอยากเสนอประเด็นที่ต้องพิจารณาในการตัดสินใจ ทำหัตถการต่างๆ ทางผิวหนังดังนี้
1.กำหนดปัญหาที่ต้องกรจะแก้ไขให้ชัดเจน และถามตัวเองว่ารู้สึกเดือดร้อนกับปัญหาดังกล่าวจริงๆ หรือไม่ ถ้าแก้ไขแล้วจะทำให้รู้สึกดีขึ้นจริงๆ ใช่หรือไม่
2.ศึกษาว่าปัญหาตามในข้อ 1 นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคนิคบ้าง และแต่ละวิธีการมีความแตกต่างกันในแง่ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง จำนวนครั้งในการรักษาความบ่อยที่จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างไร และจำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่องเพื่อคงผลของการรักษาไว้หรือไม่
3.ในกรณีที่ปัญหาที่ต้องการแก้ไขมีหลายอย่างในที่เดียวกัน จำเป็นต้องแยกการแก้ไขเป็นคนละครั้งหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องใช้เครื่องมือแยกชิ้นกัน และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นหรือสามารถจะแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือเดียวกันในครั้งเดียว และเมื่อเทียบผลการรักษากันแล้วอย่างไหนจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
4.เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า ปัญหาที่ต้องการแก้ไขนั้น จะใช้วิธีการใดในการแก้ไข จึงมาพิจารณาว่าควรจะไปรับการรักษาจากใคร และมีค่าใช้จ่ายเท่าใด
ข้อแนะนำในการเตรียมตัวก่อนรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนัง
• หลีกเลี่ยงแสงแดด ตลอดจนทายากันแดดเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการรักษา
• ในกรณีของใบหน้า อาจจะต้องทายาเพื่อลดการทำงานของเซลล์สร้างเม็ดสีล่วงหน้า 2-4 สัปดาห์
• ล้างหน้าหรือบริเวณที่จะรับการรักษาได้สะอาด ปราศจากเครื่องสำอาง
• ในคนที่มีประวัติเป็นเป็นเริมในบริเวณที่จะทำเลเซอร์ อาจจะต้องได้รับยาเพื่อป้องกันการกำเริบขึ้นของเริมหลังจากทำเลเซอร์
• ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เลือดออกง่าย เป็นโรคที่แพ้หรือไวต่อแสงต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
• เนื่องจากกรณีส่วนใหญ่ของการทำเลเซอร์ ไม่ใช่เรื่องรีบด่วนหรือฉุกเฉิน แม้ไม่เป็นข้อห้าม แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่ก็ควรรอให้พ้นภาวะการตั้งครรภ์ก่อน
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนัง
• ในกรณีของเลเซอร์ที่ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง เช่น Carbondioxide laser ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลถูกน้ำอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง
• โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องปิดแผล เว้นแต่แผลลึกหรือแพทย์สั่ง
• ทายาเพื่อป้องกันการติดเชื้อตามที่แพทย์สั่งโดยทั่วไปหลัง 48 ชั่วโมง ไม่ควรมีอาการเจ็บแผล บวมแดงรอบแผล ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อรับยาปฏิชีวนะ
• หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าหรือการใช้เครื่องสำอางอย่างน้อย 1 สัปดาห์
• หลังจากได้รับเลเซอร์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง จึงสามารถเริ่มใช้ยาที่ใช้ตามปกติได้
นอกจากคำแนะนำข้างต้นแล้ว ช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังรับการรักษา ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดให้มาที่สุด้วย
นพ.ธีรยุทธ์ สินธวานุรักษ์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)