Haijai.com


รับลมร้อนด้วยสมุนไพรดับพิษร้อน


 
เปิดอ่าน 2636

รับลมร้อนด้วยสมุนไพรดับพิษร้อน

 

 

ฤดูหนาวที่ยาวนานในรอบหลายปีได้หมดไปแล้ว และขณะนี้กำลังเข้าสู่หน้าร้อน อากาศที่ร้อนอ้าวเช่นนี้ คงจะทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบาย อ่อนเพลียไปตามๆ กัน ในมุมมองของการแพทย์แผนจีน ความร้อนอบอ้าวยังเป็นสาเหตุของการไข้สูง กระวนกระวาย หงุดหงิด ทำให้เสียเหงื่อมาก จนอาจเกิดอาการขาดน้ำ แต่โชคดีที่พวกเรายังมีอาหารสมุนไพรฤทธิ์เย็น ดับพิษร้อน มาใช้ในชีวิตประจำวันช่วยป้องกันอาการต่างๆ ในหน้าร้อนได้

 

 

หลายคนคงจะคุ้นเคยกับการรับประทาน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ในช่วงฤดูร้อน เป็นภูมิปัญญาแต่โบราณ ที่น้ำถั่วเขียวซึ่งมีฤทธิ์เย็น ขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ มาช่วยร่างกายในสภาวะที่ความร้อนรุกรานเช่นนี้ เช่นเดียวกับน้ำเก๊กฮวย ที่เป็นภูมิปัญญาจีน ที่นำสมุนไพรมาใช้ในชีวิตประจำวัน เก๊กฮวย ตามตำรายาจีนนั้น มีฤทธิ์เย็นเล็กน้อย ช่วยขับระบายลมร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับพิษร้อนถอนพิษไข้

 

 

หันกลับมาดูสมุนไพรพื้นบ้านในบ้านเรากันบ้าง ก็พบว่ามีหลายต้นที่น่าสนใจ อย่างรางจืด ซึ่งปัจจุบันมีให้ใช้กันทั้งในรูปแบบแคปซูลและชาชง รางจืดนั้น นอกจากจะใช้ถอนพิษไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำแล้ว ยังเป็นสุดยอดยาแก้พิษชนิดหนึ่ง โบราณใช้แก้พิษจากยาเบื่อ พิษเบื่อเมาจากอาหาร กระทั่งช่วยลดความเป็นพิษของยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต รวมถึงช่วยแก้อาการเมาค้าง

 

 

ผู้ที่ชื่นชอบอาหารอีสานก็คงจะรู้จักซุปหน่อไม้ ซึ่งในนั้นมีสมุนไพรดับพิษร้อน คือ ใบย่านาง ผสมอยู่ด้วย เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ถอนพิษ แก้เมารถเมาเรือ แก้ร้อนใน หรือคนที่ไม่ชอบอาหารอีสาน ก็ยังมีแกงจืดตำลึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งน่าสนใจ ตำลึง นอกจากจะเป็นผักพื้นบ้านที่ทำเมนูไหนก็อร่อย ยังเป็นยาพื้นบ้านที่มีสรรถคุณแก้ร้อนใน รักษาอาการผื่นคันในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย มีการใช้ตำลึงเป็นยาแก้ไข้ รักษาแผลและโรคผิวหนัง ตลอดจนแก้ไอ งานวิจัยในปัจจุบันยังพบฤทธิ์ที่น่าสนใจอื่นๆ ของตำลึง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดน้ำตาลในเลือด เป็นต้น

 

 

ผลไม้ที่หลายๆ คนนึกถึงในหน้าร้อน ก็คงจะหนีไม่พ้นแตงโม แต่ใครจะรู้บ้างว่าเจ้าผลไม้ชุ่มน้ำที่มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาชนิดนี้ นอกจากจะช่วยแก้กระหายแล้ว ยังมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับร้อน แก้เจ็บคอ และขับปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม อย่ากินแต่งโมมากเกินไป เพราะอาจทำให้อาหารไม่ย่อย เนื่องจากน้ำปริมาณมากในแตงโม ไปเจือจางน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

 

 

นอกจากการรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดับพิษร้อนในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนทำให้ร่างกายเสียสมดุลแล้ว การดำรงชีวิตด้วยวิถีทางที่ถูกต้อง เช่น การไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่เย็นจัดเพื่อดับร้อน ควรรับประทานอาหารที่อุ่น แต่ไม่รับประทานจนอิ่มเกินไป รักษาจิตใจให้สงบ อย่าโมโหโกรธา เป็นต้น ก็จะช่วยให้คุณสามารถผ่านฤดูร้อนได้อย่างปราศจากโรคภัยและเป็นสุข

(Some images used under license from Shutterstock.com.)