![Haijai.com](https://www.haijai.com/my/logo/20150326_logo.png?t=2017-02-22)
© 2017 Copyright - Haijai.com
มือเท้าปาก
ข่าวการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน มักสร้างความตื่นตระหนกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และสังคม โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดถึงขั้นต้องสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวชั่วคราว ความตื่นตระหนกเพิ่มมากขึ้นอีก เมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ EV71 เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านและมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
โรคมือเท้าปากเกิดจากอะไร
โรคมือเท้าปากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ติดต่อได้ง่ายดยการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงจากตัวผู้ป่วย หรือจากเชื้อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปากที่ความรุนแรงและมีการกล่าวถึงบ่อย คือ enterovirus 71 หรือเรียกย่อๆ ว่า EV 71 ซึ่งพบน้อยในประเทศไทย โรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็กอายุ 1-5 ปี เป็นโรคที่พบอยู่เป็นประจำถิ่นในบ้านเราและมีการแพร่ระบาดเป็นครั้งคราว ในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนชั้นอนุบาล และโรงเรียนชั้นประถม ผู้ป่วยในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง พบผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยมาก โรคนี้พบไม่บ่อยในเด็กโต และผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กโตและผู้ใหญ่มักติดเชื้อดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วัยเด็กเล็ก โดยส่วนใหญ่ไม่มีอากรหรือมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย
ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจะมีอาการไข้เหมือนกับอาการไข้หวัดทั่วไป แต่จะมีอาการเจ็บในช่องปาก ตรวจพบตุ่มหรือแผลภายในช่องปาก และมักตรวจพบตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าร่วมด้วย โดยทั่วไปอาการจะหายภายใน 3-7 วัน โดยไข้จะหายก่อน อย่างไรก็ตามถ้าผ่านไปสามวันแล้วอากาแย่ลง ต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้ามสมองอักเสบ ซึ่งถึงแม้จะเกิดขึ้นได้น้อย แต่มีอันตรายถึงชีวิต
หากมีบุตรหลานป่วยเป็นโรคมือเท้าปากจะทำอย่างไร
ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทุกราย พ่อแม่ผู้ปกครองและครูสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นที่บ้านและที่โรงเรียนได้ โรคมือเท้าปากไม่มียาที่ใช้ในการรักษาจำเพาะ การรักษส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการด้วยการให้ยาลดไข้ ยารักษาหวัด และยาทาตุ่มในช่องปาก เพื่อลดอาการเจ็บ ควรดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำเย็น อมน้ำแข็ง หรือรับประทานไอศกรีม เพื่อให้เกิดอาการชาในช่องปาก จะช่วยทำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้เพียงพอ ลดโอกาสในการต้องรับผู้ป่วยไวรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดได้มาก อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลืนอะไรได้เลย ให้นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคมือเท้าปาก ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กเข้าไปในที่ชุมชนโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือโรงพยาบาล และหลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กโดยไม่จำเป็นหรือส่งไปก่อนวัยอันควร
ผู้ป่วยโรคมือเท้าปากควรได้รับการแยกออกจากเด็กคนอื่น โดยให้หยุดพักอยู่ที่บ้าน ในกรณีที่พบผู้ป่วยหลายคนในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือที่โรงเรียน มีความจำเป็นต้องควบคุมโรค ควรทำความสะอาดห้องต่างๆ ภายในอาคารและทำความสะอาดของเล่นเด็ก นอกจากนี้ควรรณรงค์ให้เด็กรวมทั้งผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังจากการสัมผัสของเล่น และเช่นเดียวกับโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจทั่วไป เด็กที่เป็นไข้ เป็นไข้หวัด หรือเด็กที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ควรล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
กุมารแพทย์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)