Haijai.com


โรคจมูกและไซนัส ในหญิงตั้งครรภ์


 
เปิดอ่าน 16434

โรคจมูกและไซนัส ในหญิงตั้งครรภ์

 

 

ประมาณร้อยละ 20-40 ของหญิงตั้งครรภ์จะมีอากรเยื่อบุจมูกอักเสบ โรคของจมูกและ/หรือไซนัสประมาณร้อยละ 10-30 ของผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกว่าอาการเหล่านี้ของตนแย่ลงในระหว่างตั้งครรภ์

 

 

การเปลี่ยนแปลงทางสรีสวิทยาระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุจมูกที่เกิดจากการตั้งครรภ์ และยังเพิ่มอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะเลือดกำเดาไหล และทำให้โรคจมูกและไซนัสแย่ลงได้ง่าย ระหว่างช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เลือดในหลอดเลือดของแม่จะเพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งปริมาณของเลือดดังกล่าวจะเคลื่อนตัวออกนอกหลอดเลือดใน 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทั้งนี้เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีผลในการกระตุ้นระบบประสาทที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูก ทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกมีการขยายตัว และมีการกระตุ้นการทำงานของต่อมสร้างน้ำมูกในเยื่อจมูกมากขึ้น ทำให้เกิดอาการทางจมูกและ/หรือไซนัส หรืออาจทำให้โรคของจมูกและไซนัสที่มีอยู่แล้วแย่ลงได้ แต่ส่วนใหญ่อาการต่างๆ ของจมูกและไซนัสจะดีขึ้นเองใน 5 วันหลังคลอด

 

 

โรคจมูกที่ทำให้หญิงตั้งครรภ์มาพบแพทย์

 

เลือดกำเดาไหล ในกรณีที่เลือดออกปริมาณน้อย อาจใช้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่หยอด หรือพ่นจมูก ซึ่งออกฤทธิ์โดยทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกหดตัว หรือแพทย์อาจใช้สำลีชุบยาหดหลอดเลือดดังกล่าวใส่เข้าไปในจมูกแล้วให้ผู้ป่วยบีบไว้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ 1-3% ephedrine หรือ 0.025-0.05% oxymetazoline เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อลดภาวะเลือดกำเดาไหลได้ แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกิน 3-5 วัน และไม่ควรใช้ในระยะใกล้คลอด

 

 

โรคไซนัสอักเสบ สามารถรักษาด้วยการกำจัดเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ โดยแพทย์จะพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์ เช่น ยาในกลุ่ม penicillins และ cephalosporins ผู้ป่วยล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ร่วมกับการสูดดมไอน้ำเดือด เพื่อทำให้การไหลเวียนของสารคัดหลั่งและอากาศภายในไซนัสดีขึ้น อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก budesonide ร่วมด้วยได้ ควรหลีกเลี่ยงยาหดหลอดเลือดชนิดรับประทาน เช่น pseudoephedrine โดยเฉพาะในไตรมาสแรก เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดผนังหน้าท้องของทารกไม่ปิด

 

 

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ การรักษาภูมิแพ้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาติดต่อกันใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ควรควบคุมอาการด้วยการใช้น้ำเกลืออุ่นๆ พ่น/ล้างจมูก การสูดดมไอน้ำเดือด และการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองจมูก หากยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยสามารถใช้ยาต้านฮิสทามีนที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ chlorpheniramin, loratadine, cetirizine และ ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ ได้แก่ budesonide เป็นครั้งคราว ไม่แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานใน 3 เดือนแรก ของการตั้งครรภ์เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปากแหว่งในทารก

 

 

ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงจากการแพ้อย่างรุนแรงแม้จะพบได้น้อยมาก แต่ถ้าเป็นการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ถ้าเริ่มต้นมาก่อนจะทราบว่าตั้งครรภ์ สามารถให้ต่อไปได้ด้วยวัคซีนขนาดต่ำ โดยไม่พบว่าทำให้เกิดภาวะผิดปกติในทารก แต่ไม่แนะนำให้เริ่มต้นการรักษานี้หากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีครรภ์

 

 

นอกจากปัญหาเกี่ยวกับจมูกและ/หรือไซนัสที่ระบุในข้างต้น หญิงตั้งครรภ์อาจมีเนื้องอกของหลอดเลือดในโพรงจมูก เป็นเนื้องอกของหลอดเลือดที่เกิดในเยื่อบุจมูก ซึ่งพบได้ไม่บ่อย โดยพบได้ร้อยละ 0.5-5 ในหญิงตั้งครรภ์

 

 

สาเหตุของเนื้องอกชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูกและการตั้งครรภ์น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเนื้องอกชนิดนี้ การตั้งครรภ์จะทำให้เส้นเลือดในเยื่อบุจมูกบนเทอร์บิเนตอันล่างหรือผนังกั้นช่องจมูกขยายตัว เมื่อมีการบาดเจ็บของเยื่อบุจมูกจากการแคะ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ สิ่งระคายเคืองต่างๆ ในอากาศ การติดเชื้อ อุบัติเหตุ อาจทำให้เกิดการซ่อมแซมของเยื่อบุจมูกที่มากเกินไป เกิดเส้นเลือดใหม่จำนวนมากและเกิดการรวมตัวเป็นก้อนขึ้นมา จริงๆ แล้วเนื้องอกชนิดนี้มักเกิดที่เหงือกมากกว่าที่เยื่อบุจมูก และสามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ แต่มักพบบ่อยที่สุดในระยะเดียว แต่ก็มีรายงานว่าเกิดในโพรงจมูกทั้ง 2 ข้างได้ และมักจะพบในหญิงตั้งครรภ์ที่มีบุตรหลายคนมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีบุตรเพียงคนเดียว เนื้องอกชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในช่วงผู้ป่วยตั้งครรภ์ เนื่องจากสามารถยุบหายได้เองประมาณ 1-2 เดือนหลังคลอด

 

 

ผู้ป่วยมักจะมีอาการคัดจมูกและมีเลือดกำเดาไหลข้งที่มีเนื้องอกนี้อยู่ จากการตรวจร่างกายจะพบก้อนในโพรงจมูก มีสีชมพูดหรือม่วงแดง ผิวเรียบ บริเวณจะเป็นแผล เมื่อแตะถูกก้อนมักจะมีเลือดกำเดาออกได้ง่าย

 

 

การรักษาเนื้องอกบริเวณนี้ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น ถ้าเลือดกำเดาออกในปริมาณที่มากหรือก้อนมีขนาดโตพอสมควร ทำให้มีอาการคัดจมูก ควรรีบรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนออกในกรณีที่มีเลือดกำเดาออกในปริมาณไม่มาก ผู้ป่วยไม่มีอาการคัดจมูกมากนัก ก้อนก็มีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจรักษษด้วยวิธีดังต่อไปนี้

 

 

 อาจทำการห้ามเลือดให้หยุด และรอดูหลังคลอด เนื่องจากก้อนเนื้องอกชนิดนี้อาจยุบหายได้เองหลังคลอด เนื่องจากก้อนเนื้องอกชนิดนี้อาจยุบหายได้เองหลังคลอด อย่างไรก็ตามการดำเนินโรคของเนื้องอกชนิดนี้ในผู้ป่วย แต่ละรายอาจแตกต่างกัน เช่น อาจเปลี่ยนจากเนื้องอกที่มีขนาดเล็กและไม่ค่อยทำให้มีเลือดออก กลายเป็นเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่และมีปัญหา ทำให้คัดจมูก หรือมีเลือดออกมาก เมื่อไรก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง อาจยากในการห้ามเลือดและผ่าตัดเอาก้อนออก

 

 

 อาจตัดสินใจผ่าตัดเอาก้อนออกเลย ตั้งแต่ก้อนมีขนาดไม่โตมากนัก หรือทำให้เกิดอาการคัดจมูก หรือเลือดกำเดาออกไม่มาก เพราะการรออาจต้องใช้เวลานาน อาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดที่ออกมากได้ นอกจากนั้นการผ่าตัดเอาก้อนที่มีขนาดเล็กออกสามารถทำได้ง่าย โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ได้ และมีอัตราการสูญเสียเลือดน้อย ในทางตรงข้ามถ้าปล่อยให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ การทำผ่าตัดเอาก้อนออก อาจต้องใช้วิธีดมยาสลบและผู้ป่วยอาจต้องเสี่ยงกับการสูญเสียเลือดที่มากขึ้นได้

 

 

ดังนั้นการพิจารณาว่าจะผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกหรือไม่ หรือจะใช้วิธีรอให้ก้อนยุบเองหลังผ่าตัด ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงอัตราเสี่ยง ข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละวิธี เพื่อให้ได้การรักษาที่เหมาะสม หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจติดตามผลอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะในรายที่แพทย์ผ่าตัดเอาก้อนออกไม่หมด

 

 

รศ.ปารยะ อาศนะเสน โสต ศอ นาสิก
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจมูกและภูมิแพ้

(Some images used under license from Shutterstock.com.)