
© 2017 Copyright - Haijai.com
ไข่ มิตรแท้หรือศัตรูต่อหัวใจ
เมื่อตอกไข่ออกมา เราจะเห็นส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 2 ส่วนคือไข่ขาวและไข่แดง ไข่ขาวมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 56-64 ของไข่ไก่ทั้งฟอง โปรตีนเป็นองค์ประกอบหลักของไข่ขาว เมื่อคิดจากน้ำหนักแห้ง โปรตีนจากไข่ถือว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วนและร่างกายสามารถย่อยได้ง่าย ส่วนไข่แดงมีน้ำหนักประมาณร้อยละ 25-33 ของไข่ทั้งฟอง ไขมันถือเป็นองค์ประกอบหลักของไข่แดงเมื่อคิดเฉพาะน้ำหนักแห้ง
คุณค่าทางโภชนาการของไข่ทั้งดิบและสุกสามารถดูได้จากตาราง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไข่ขาวมีไขมันน้อยมากและไม่มีคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ วิธีการทำให้ไข่สุก ล้วนมีผลต่อปริมาณไขมัน คอเลสเตอรอล และพลังงานที่ได้รับจากไข่ โดยการนำไข่ไปทอดจะเพิ่มปริมาณพลังงานและไขมันที่ได้รับจากไข่ ในขณะที่การต้มไข่ทำให้พลังงานที่ได้จากไข่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และไม่ทำให้ปริมาณไขมันในไข่เปลี่ยนแปลง
กินไข่แล้วเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามว่า กินไข่ไก่ทั้งฟอง แล้วไขมันในเลือดจะขึ้นจนทำให้ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะไข่แดงเป็นแหล่งของสารพัดไขมัน ทั้งคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งแต่ละตัวฟังชื่อแล้วก็ล้วนเป็นไขมันที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษาในปัจจุบันมีทั้งการศึกษาที่พบว่าการบริโภคไข่ไม่มีผลใดๆ ต่อความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น งานวิจัยในอเมริกาที่ให้อาสาสมัครผู้มีไขมันในเลือดสูงรับประทานไข่ต้มขนาดกลางเป็นอาหารเช้าวันละ 2 ฟอง นาน 6 สัปดาห์ พบว่าไม่มีผลต่อการตอบสนองต่อสารที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวหรือหดตัวของเนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดแดง ตลอดจนไม่มีผลต่อคอเลสเตอรอล ไขมันตัวดี (HDL) ไขมันตัวเลว (LDL) อัตราส่วนคอเลสเตอรอลรวมต่อไขมันตัวดี แต่มีผลลดไตรกลีเซอไรด์ และการวิเคราะห์ผลการศึกษาต่างๆ 16 งาน โดยนักวิจัยในอเมริกาพบว่าการบริโภคไข่ไก่ไม่มีผลต่อความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในคนปกติ แต่มีผลต่อการมีอาการโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้การบริโภคไข่ไก่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเบาหวานในคนปกติอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการศึกษาบางงานก็แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานไข่กับโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การเก็บข้อมูลในผู้ป่วยที่เข้าคลินิกป้องกันโรคหลอดเลือดจำนวน 1,231 คน พบว่าขนาดของแผ่นบนหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงส่วนคอและศีรษะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับการรับประทานไข่แดง และการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ โดยคณะนักวิจัยชาวจีนก็ยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคไข่กับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและเบาหวาน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณไข่ที่รับประทาน และผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนปกติ เมื่อรับประทานไข่เป็นประจำ
แม้ว่าข้อมูลจะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ก็อาจสรุปเป็นแนวทางได้ว่า คนปกติทั่วไปสามารถรับประทานไข่เป็นประจำได้ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคดังกล่าว หรือโรคเบาหวาน ควรลดปริมาณไข่ที่รับประทาน ทั้งนี้จะขอสรุปด้วยคำแนะนำของ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถานบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้แนะนำว่า เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น และผู้ใหญ่วัยทำงานที่มีสุขภาพปกติ สามารถรับประทานไข่ได้ทุกวัน วันละ 1 ฟอง ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรรับประทานไข่สัปดาห์ละ 3-4 ฟอง หรือรับประทานเฉพาะไข่ขาว ซึ่งไมมีคอเลสเตอรอล
รูปแบบ
|
ปริมาณ
(ฟอง) |
น้ำหนัก
(กรัม) |
พลังงาน
(กิโลแคลอรี) |
คาร์โบไฮเดรต
(กรัม) |
โปรตีน
(กรัม) |
ไขมัน
(กรัม) |
คอเลสเตอรอล
(มิลลิกรัม) |
ไข่ดิบ ทั้งฟอง
|
1
|
50
|
74
|
<1
|
6
|
5
|
212
|
ไข่ดิบ ขาว
|
1
|
33
|
17
|
<1
|
4
|
<0.1
|
0
|
ไข่ดิบ แดง
|
1
|
17
|
53
|
1
|
3
|
4
|
205
|
ไข่ดาว
|
1
|
46
|
92
|
<1
|
6
|
7
|
210
|
ไข่ต้มสุก
|
1
|
50
|
78
|
1
|
6
|
5
|
212
|
(Some images used under license from Shutterstock.com.)