Haijai.com


เลซิติน คืออะไร


 
เปิดอ่าน 6032

เลซิติน

 

 

ในทางชีวเคมี สารฟอสฟาทิดิลโคลีน (Phosphatidyl Choline) มีอีกชื่อว่า เลซิติน แต่ในทางอาหารแล้วเลซิติน หมายถึงของผสมที่ประกอบไปด้วยฟอสฟาทิดิลโคลีนเป็นหลัก โดยมีฟอสโฟลิปิดอื่นๆ ในปริมาณเล็กน้อยผสมอยู่ด้วย ในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดกำหนดปริมาณเลซิตินที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

 

 

ในประเทศไทย เลซิตินมีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งเสริมเลซิติน (เช่น นมผง อาหารสำหรับเด็กทารก) และเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารให้ทางหลอดเลือดดำ และเนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีของเลซิติน ซึ่งมีหมู่ฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ดีและมีหมู่ไขมันที่ละลายได้ดีในไขมัน เลซิตินจึงถูกใช้เป็นสารก่ออิมัลชันในยา เครื่องสำอาง และอาหาร

 

 

แหล่งของเลซิติน

 

เลซิตินพบได้ปริมาณสูงในอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีคอเลสเตอรอลปริมาณสูง เช่น ไข่แดงและเนื้อสัตว์ แหล่งของเลซิตินอื่นๆ ได้แก่ กะหล่ำดอก มะเขือเทศ มันฝรั่ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง นมและผลิตภัณฑ์จากนม ร่างกายสามารถเปลี่ยนฟอสฟาทิดิลเอทาโนลามีนเป็นเลซิติน (ฟอสฟาทิดิลโคลีน) ได้

 

 

ผลของเลซิตินต่อร่างกาย

 

เลซิตินเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากของเยื่อหุ้มเซลล์ เลซิตินยังถูกเปลี่ยนเป็นสฟิงโกไมอีลิน (sphingomyelin) ซึ่งเป็นฟอสโฟลิปิดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ประสาท และยังเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ นอกจากนี้เลซิตินยังเป็นแหล่งของโคลีน กรดไขมันไดอเซิลกลีเซอรีน (กลีเซอรอลซึ่งเชื่อมกับกรดไขมันสองโมเลกุล) และฟอสฟอริลโคลีน โคลีนที่ได้จากเลซิตินเป็นสาระสำคัญในปฏิกิริยาเคมีถ่ายโอนหมู่เมทิล (สารไฮโดรคาร์บอนพันธเดียวที่มีคาร์บอนหนึ่งอะตอม) ในร่างกาย และเป็นองค์ประกอบสำคัญของอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ร่างกายยังสามารถเปลี่ยนแปลงโคลีนเป็นสารกระตุ้นเกล็ดเลือด ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการแข็งตัวของเลือด การอักเสบ และการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน

 

 

การขาดเลซิตินทำให้ร่างกายได้รับโคลีนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ถ้าร่างกายมีปริมาณโคลีนในเลือดต่ำ จะทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย โดยมีอาการของภาวะไขมันสะสมในตับและตับทำงานผิดปกติ การขาดโคลีนจะเพิ่มความเสี่ยมต่อการเป็นมะเร็งตับ เนื่องจากการเหนี่ยวนำจากสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้เนื่องจากโคลีนเป็นสารสำคัญในระบบทางเดินประสาท การขาดโคลีนในระยะเวลานานทำให้ร่างกายย่อยสลายเลซิติน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทเพื่อรักษาระดับอะซิทิลโคลีนให้คงที่ ทำให้เซลล์ประสาทตาย และอาจนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้

 

 

เลซิตินเป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย แม้ว่าจะมีรายงานว่าการให้สัตว์ทดลองรับประทานเลซิตินอาจก่อเนื้องอกในสมอง ตั่งไม่มีรายงานพิษหรืออาการข้างเคียงจากการรับประทานเลซิตินในคน สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของเลซิตินพบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดใช้แล้วล้างออก หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชนิดทาทิ้งไว้ที่มีเลซิตินไม่เกินร้อยละ 15 มีความปลอดภัย ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่อาจถูกสูดหรือหายใจเข้าสู่ร่างกาย (เช่น สเปรย์) ที่มีเลซิตินเป็นองค์ประกอบหนึ่งจากสามารถก่ออาการข้างเคียงได้

 

 

เลซิตินเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกโฆษณาว่ามีประโยชน์สำหรับภาวะความจำเสื่อม จากโรคพาร์กินสันและโรคอัลไซเมอร์ จากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบไม่พบงานวิจัยที่รองรับประโยชน์ของเลซิตินต่อภาวะความจำเสื่อมจากโรคดังกล่าว

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา

 

ไม่มีการศึกษาถึงปฏิกิริยาระหว่างยาและเลซิติน อย่างไรก็ตามไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิตินพร้อมยา สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิติน เนื่องจากไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย และประโยชน์ที่อาจจะได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อทารก

 

 

ข้อแนะนำ

 

เลซิตินเป็นสารอาหารที่ร่างกายได้รับจากการรับประทานอาหารตามปกติ นอกจากนี้ยังไม่มีผลต่อการเพิ่มความจำหรือการรักษาโรคความจำเสื่อม จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิตินแต่อย่างใด

 

 

ภก.ณัฐวุฒิ ลีลากนก

(Some images used under license from Shutterstock.com.)