© 2017 Copyright - Haijai.com
J-curve ต่ำเกิน กลับเสี่ยงเกิน
ความดันเลือด น้ำตาล และอีกสารพัดค่าในเลือดที่ยิ่งเพิ่มก็ยิ่งเสี่ยงป่วย เสี่ยงตาย หลายต่อหลายเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นก็ลดให้มันต่ำสุดๆ ไปเลย จะได้อยู่รอดปลอดภัยอายุยืนนาน (หรือที่ฝรั่งเรียกว่า lower the better) แต่กลายเป็นว่าค่าต่างๆ เหล่านี้พอลดต่ำลงไปช่วงหนึ่ง ความเสี่ยงมันก็ลดลงตามเหตุปัจจัย แต่พอต่ำกว่าค่าหนึ่งผลปรากฏว่าความเสี่ยงกลับเพิ่มขึ้น เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า J-curve เนื่องจากลักษณะกราฟที่ผล็อตระหว่างค่าที่วัดกับความเสี่ยงจะมีรูปคล้ายตัว J ในภาษาอังกฤษกำลังนอนตะแคงดังภาพด้านล่าง
โดยทั่วไปความดันเลือดยิ่งลดต่ำ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจะต่ำลง แต่ผลการศึกษาหลายๆ การศึกษาพบว่า หากลดความดันตัวล่างหรือความดันขณะที่หัวใจคลายตัวต่ำกว่า 70-80 มิลลิเมตรปรอทความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจกลับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลาหัวใจบีบตัว เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจได้เฉพาะตอนที่หัวใจคลายตัว การที่ความดันตัวล่างต่ำเกินไป จึงทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีปริมาณลดลง นอกจากนี้เรายังพบปรากฏการณ์ J-curve ได้กับความดันตัวบนหรือความดันขณะที่หัวใจบีบตัว โดยพบว่าหากความดันตัวบนลดต่ำลงกว่า 110-120 มิลลิเมตรปรอท ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจกลับเพิ่มขึ้น และต่ำกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท ความเสี่ยงต่อการตายเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ
ผู้ที่มีโรคอย่างอื่น เช่น โรคไต เบาหวาน ร่วมด้วย นอกจากความดันเลือดสูง ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเวลาควบคุมความดัน เพราะความดันเลือดที่ลดลงมากเกินไป ย่อมทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทั่วถึงจนเกิดปัญหาตามมา เช่น ในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคไต ไม่ควรลดจนความดันตัวบนต่ำกว่า 120-130 มิลลิเมตรปรอท ส่วนผู้ป่วยเบาหวานจะอยู่ที่ 110-120 มิลลิเมตรปรอท แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับผลของการลดความดันเลือดต่อการดำเนินโรคว่าทำให้การดำเนินโรคดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ก็อาจสรุปเป็นข้อสังเกตได้ว่า
• ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง การลดความดันเลือดมากเกินไป จะทำให้เกิดปัญหาเพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
• ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากหลอดเลือดในสมองแตก การลดความดันลงต่ำอาจจะให้ผลดี เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแตกเพิ่มเติม
จากผลของ J-curve ต่อคุณภาพชีวิต ผู้ป่วยความดันสูง จึงควรวัดความดันด้วยตัวเองที่บ้านอยู่เสมอๆ คนปกติเวลาลุกจากนั่งมายืน ความดันตัวบนจะสูงขึ้นเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง (ที่ตำแหน่งสูงขึ้นจากเดิม) ในกรณีที่มีอาการความดันเลือดตกหลังจากนั่งแล้วลุกขึ้นยืน (ความดันตัวบนตอนยืนต่ำกว่าตอนนั่งมากกว่า 20 มิลลิเมตรปรอท หรือเกิดอาการหน้ามืดเป็นลมจากการเปลี่ยนอิริยาบถ) ควรพบแพทย์เพื่อจะได้ปรับยาลดความดันให้เหมาะสม
J-curve กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิต
นอกจากความดันเลือดแล้ว เรายังพบ J-curve ในค่าอื่นๆ ที่สำคัญของชีวิตดังนี้
• ระดับน้ำตาลในเลือด โดยทั่วไปการลดค่าน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง (HbA1C) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตามหากค่า HbA1C ลดต่ำลงกว่า 6.5-7% กลับกลายเป็นว่าผู้ป่วยเบาหวานคนนั้น จะมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลิน
• ปริมาณโซเดียมที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะ โดยทั่วไปถ้าโซเดียมยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะจะช่วยลดความดันเลือด ลดการคั่งของน้ำในร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากปริมาณโซเดียมในปัสสาวะต่ำเกินไป (ต่ำกว่า 3 กรัมต่อวัน) กลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่หมอและคนไข้ต้องร่วมกันสังเกต มุ่งกันรักษาโรค ไม่มุ่งเป้าที่ตัวเลขอย่างเดียว มุ่งเน้นที่ความพอดีเป็นหลัก มุ่งให้เกิดความสมดุลในตัวคนไข้ให้มากที่สุด
ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์
อายุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)