Haijai.com


พิษร้าย ไข่แมงดาทะเล


 
เปิดอ่าน 10215

พิษร้าย ไข่แมงดาทะเล

 

 

คนไทยนิยมกินไข่แมงดาทะเล โดยนำมาปรุงเป็นอาหารคาว เช่น ยำไข่แมงดาทะเลกับมะม่วง หรือ นำมาทำเป็นแกงคั่วสับปะรด บางครั้งก็นำมาเชื่อมน้ำตาลกิน ชาวบ้านและชาวประมงที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเล นิยมกินไข่แมงดาทะเล โดยนำมาปิ้งหรือย่าง การเกิดพิษจากการกินไข่แมงดาทะเล จึงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย อาจจะพบได้ประปรายหรือพบเป็นลักษณะเหมือนเกิดการระบาด คือ มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับพิษและมาโรงพยาบาลในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

 

 

แมงดาทะเลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ แมงดาจานและแมงดาถ้วย แมงดาจานมีกระดองใหญ่กว่าแมงดาถ้วย และเมื่อตัดหางของแมงดาทะเล หน้าตัดของหางแมงดาจานเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนหน้าตัดของหางแมงดาถ้วยเป็นรูปกลม นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจหาสารพิษในไข่แมงดาทะเล ปรากฏว่าพบสารพิษในไข่แมงดาถ้วย แต่ไม่พบในไข่แมงดาจาน สารพิษนี้คือ เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า สารพิษนี้ไม่ใช่โปรตีนและทนทานต่อความร้อนมาก มีกลไกความเป็นพิษคือการยับยั้งการทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึก และเส้นประสาทเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ความเป็นพิษและความรุนแรงของพิษในไข่แมงดาแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล บางเวลามีพิษมากบางเวลามีพิษน้อย บางเวลาไม่มีพิษ ช่วงเวลาที่มักจะพบพิษจากการกินไข่แมงดาทะเล ได้แก่ เดือนธันวาคม มกราคม กุมภมพันธ์ มีนาคม และเมษายน

 

 

การที่พิษจากไข่แมงดาทะเลยังคงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องบางประการ เช่น บางคนเชื่อว่ามีวิธีทดสอบไข่แมงดาทะเลว่ามีพิษหรือไม่ โดยการนำไข่เทลงไปบนกระทะร้อนๆ ถ้าไข่แตกแสดงว่าไม่มีพิษ บางคนเชื่อว่าสามารถบอกได้ว่าแมงดาถ้วยตัวไหนมีพิษ โดยวิธีดูจากลักษณะภายนอก บางคนเชื่อว่าความร้อนสามารถทำลายพิษจากไข่แมงดาถ้วย เป็นต้น ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น

 

 

อาการเมื่อได้รับพิษ

 

อาการของผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการกินไข่แมงดาทะเล แบ่งออกเป็น 4 ขั้น ดังนี้

 

 

ขั้นที่ 1 มีอาการชารอบปาก ชาริมฝีปาก ชาลิ้น มักจะเป็นอาการแรกที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยได้รับพิษจากไข่แมงดาทะเลแล้ว ต่อมามีอาการชาปลายมือปลายเท้า อาการอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ

 

 

ขั้นที่ 2 อาการชามากขึ้น มีอาการแขนขาอ่อนแรง จนยืนหรือเดินไม่ได้

 

 

ขั้นที่ 3 มีอาการอ่อนแรงมากขึ้น ไม่สามารถเคลื่อนไหวแขนขาได้ตามต้องการ กล้ามเนื้อเกี่ยวกับการพูดและการกลืนอ่อนแรง ทำให้พูดลำบากจนถึงพูดไม่ได้ กลืนลำบาก ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

 

 

ขั้นที่ 4 กล้ามเนื้ออ่อนแรงมากทั่วทั้งตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ทำให้หายใจลำบากจนถึงกับหมดสติได้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก จะตรวจพบว่ารูม่านตาขยายโตเต็มที่ และไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีความดันเลือดต่ำมาก และเสียชีวิตจากภาวะหัวใจและการไหลเวียนเลือดล้มเหลว

 

 

ผู้ที่ได้รับพิษจากแมงดาทะเลเกือบทุกรายมีอาการชารอบปาก ชาลิ้น และชาตามปลายมือปลายเท้า บางคนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ถ้ามีอาการแบบนี้หลังจากกินไข่แมงดาทะเล แสดงว่าได้รับสารพิษเข้าไปแล้ว และต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หากรีรออาการอาจทรุดลงเร็วจนไม่ทันการณ์ ดังเช่น สถิติจากโรงพยาบาลชลบุรี ระหว่างปี พ.ศ.2537-2557 ที่มีผู้ได้รับพิษจากการกินไข่แมงดาทะเลจนต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยอายุรกรรมถึง 300 คน บางรายมีอาการไม่มาก เพราะได้รับพิษเพียงเล็กน้อย ส่วนบางรายได้รับพิษมาก ก็จะมีอาการหนักมากจนถึงขั้นต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับพิษจากไข่แมงดาถ้วยถึงห้าคนส่วนอีกสองคนสมองพิการจากภาวะสมองขาดออกซิเจน

 

 

อาการเป็นพิษนี้อาจจะเกิดขึ้นเร็วภายใน 30 นาที บางครั้งเกิดภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้รับพิษเข้าไปมากน้อยเพียงใด ถ้าได้รับพิษน้อยจะมีอาการไม่มาก ถ้าได้รับพิษมากอาการจะเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงจนทำให้ผู้ได้รับพิษถึงแก่ชีวิตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่กี่นาทีหรือชั่วโมง จึงปรากฏว่ามีผู้ได้รับพิษบางรายเสียชีวิตที่บ้านหรือระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

 

การดูแลรักษา

 

ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการว่าได้รับพิษ ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะอาการอาจรุนแรงมากขึ้นจากขั้นแรกถึงขั้นที่ 4 ในเวลาอันรวดเร็ว (ภายใน 30 นาที) แพทย์จะเตรียมเครื่องมือช่วยหายใจให้พร้อม และให้สารน้ำกับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ พร้อมกันนี้จะมีการล้างกระเพาะอาหารและติดตามความดันเลือดของผู้ป่วย ในกรณีที่ความดันเลือดตกลงมาก แพทย์จะให้ยาเพิ่มความดันเลือด การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคอง จนกว่าพิษจะสลายไปหมด

 

 

ผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนถึงขั้นที่ 4 คือ หายใจลำบาก หมดสติ และรูม่านตาขยายโต ไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ อาการดังกล่าวนี้อาจทำให้แพทย์คิดว่าผู้ป่วยมีพยาธิสภาพในสมอง จนเกิดภาวะสมองตายหรือสมองขาดออกซิเจน และหยุดให้การช่วยเหลือ อาการเหล่านี้เกิดจากพิษโดยตรง พิษนี้ทำให้รูม่านตาขยายโต และไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง การที่ผู้ป่วยหายใจไม่ได้ และไม่สามารถตอบสนองต่อความเจ็บปวด ก็เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นอัมพาตทั้งตัวรวมทั้งกล้ามเนื้อหายใจ ถ้าผู้ป่วยได้รับการช่วยหายใจทันเวลาก่อนที่สมองจะขาดออกซิเจน จะกลับรู้สึกตัวดีอีกครั้งจนกระทั่งฟื้นเป็นปกติในเวลาต่อมา เมื่อพิษสลายตัวไป

 

 

นพ.จีรศักดิ์ กาญจนาพงศ์กุล

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา

(Some images used under license from Shutterstock.com.)