Haijai.com


มะเร็งตับ 1 ไวรัสลง ตับ


 
เปิดอ่าน 2442

มะเร็งตับ 1 ไวรัสลง ตับ

 

 

มะเร็งตับนับเป็นภัยร้ายคุกคามสุขภาพที่ทุกคนต้องระวัง ข้อมูลทางสถิติในประเทศไทยพบว่าโรคเกี่ยวกับตับและตับอ่อน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทย โดยในปี พ.ศ.2550 มีผู้เสียชีวิตจากเนื้องอกร้ายที่ตับและท่อน้ำดีในตับ 13,419 คน และในปี พ.ศ.2555 จำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 14,469 คน การตระหนักรู้ถึงความร้ายแรงของปัญหา สาเหตุ และแนวทางป้องกันจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติได้

 

 

หน้าที่และความสำคัญของตับ

 

ตับเป็นอวัยวะที่มีน้ำหนักมากที่สุดของร่างกาย (ประมาณ 1.2 กิโลกรัม) ตั้งอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้อง นับเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต ถ้าเราเอาตับออกจากร่างกาย จะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 1-2 วันเท่านั้น หน้าที่ของตับมีดังนี้

 

 

 สร้างและปรับเปลี่ยนสารอาหารเพื่อทำงานที่เป็นปกติของร่างกาย โดยอาหารที่ถูกย่อยจากลำไส้เล็กจะถูกดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดดำ แล้วไหลเข้าไปในตับ ซึ่งจะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนสารอาหารให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่ในร่างกาย เช่น โปรตีนอัลบูมิน (โปรตีนไข่ขาว) โปรตีนที่ช่วยการแข็งตัวของเลือด ไขมันในเลือดชนิดต่างๆ เป็นต้น

 

 

 ขจัดของเสียสารพิษและสารอื่นๆ ในร่างกาย เมื่อร่างกายใช้สารอาหารต่างๆ เสร็จก็จะได้ของเสีย ซึ่งส่วนหนึ่งจะกลับมาที่ตับแล้วขับออกมาพร้อมกับน้ำดีที่ตับสร้างขึ้น น้ำดีนอกจากจะมีหน้าที่พาของเสียออกจากตับ ยังมีบทบาทสำคัญในการย่อยอาหารประเภทไขมัน และช่วยดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ซึ่งได้แก่วิตามินเอ ดี อี และเค

 

 

 สะสมสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น สะสมคาร์โบไฮเดรตในรูปของไกลโคเจน เมื่อร่างกายมีความจำเป็นต้องใช้คาร์โบไฮเดรต ตับจะเปลี่ยนไกลโคเจนเป็นน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของคาร์โบไฮเดรตแล้วส่งไปหล่อเลี้ยงร่างกาย

 

 

ตับอักเสบ ต้นทางมะเร็งตับ

 

ตับอักเสบเป็นต้นทางของมะเร็งตับ เพราะว่าการอักเสบทำให้ตับมีการซ่อมแซมตัวเอง โดยการงอกของเซลล์ตับและสร้างพังผืด การอักเสบที่เป็นเรื้อรังจนมีการงอกซ่อมแซมเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีการเกิดพังผืดแทรกตัว โดยทั่วไปจนเกิด ภาวะตับแข็ง นอกจากนี้เซลล์ตับจำนวนหนึ่งจะมีความผิดปกติ กล่าวคือ จะแบ่งตัวเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้นจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีอาการตับอักเสบหรือตับแข็งแล้วจะต้องเป็นมะเร็งตับ เราสามารถจำแนกตับอักเสบออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งพอสาเหตุของการอักเสบและการอักเสบหายไป ตับก็กลับมาเป็นปกติ และตับอักเสบเรื้อรัง คือการที่ตับอักเสบ 6 เดือน ขึ้นไปแล้วยังไม่หาย

 

 

อาการของโรคตับดูได้ค่อนข้างยาก หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอักเสบเรื้อรังอยู่ เพราะมักจะไม่มีอาการปล่อยให้เป็นไปนานๆ ประมาณ 20 ปี หรือเร็วกว่านี้ จนในที่สุดเกิดแผลเป็นที่ตับ มีการสร้างพังผืดจนเกิดสภาพที่เรียกว่า ตับแข็งระยะต้น ซึ่งก็ยังไม่มีอาการอะไรแสดงให้เห็นอีก พอผ่านจากจุดนี้ไปอีก 8-10 ปี ก็จะเข้าสู่ ตับแข็งระยะท้าย ซึ่งมีอาการผิดปกติ ได้แก่ เท้าบวม ขาบวม ท้องมาน อาเจียน เป็นเลือด อารมณ์ผิดปกติ สับสน หมดสติ อย่างไรก็ตามเราสามารถตรวจสอบความผิดปกติของตับก่อนที่จะมีอาการได้ โดยการเจาะเลือดเพื่อดูค่า SGOT (AST) และ SGPT (ALT) ซึ่งทั้งสองตัวนี้เป็นเอนไซม์ที่อยู่ในเซลล์ตับ ถ้ามีการอักเสบเซลล์ตับจะถูกทำลาย ทำให้ระดับของเอนไซม์ทั้งสองสูงขึ้น โดยถ้าทั้งสองค่านี้เกิน 40 ยูนิต/ลิตร จะถือว่ามีตับอักเสบ แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุต่อไป

 

 

สาเหตุของตับอักเสบเรื้อรังมีดังต่อไปนี้

 

 ไวรัสตับอักเสบ

 

 

 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 

 ภูมิต้านทานตัวเองทำลายตับ

 

 

 ความผิดปกตของพันธุกรรม เช่น มีการสะสมของเหล็กหรือทองแดงในตับ

 

 

 ไขมันแทรกตับ

 

 

 ท่อเส้นเลือดออกจากตับอุดตัน

 

 

 ยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด ยากดภูมิคุ้มกัน

 

 

 ท่อน้ำดีอุดตัน

 

 

 โรคหัวใจวายเรื้อรัง

 

 

 ไม่ทราบสาเหตุ

 

 

ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส

 

ไวรัสตับอักเสบนับเป็นปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของโลก ประมาณว่าทุกๆ 12 คนจะมีคน 1 คนทีมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีซ่อนอยู่จริงๆ ไวรัสตับอักเสบมีหลายชนิด ได้แก่

 

 

 ไวรัสตับอักเสบเอและอี ทำให้ตับอักเสบเฉียบพลัน แต่สำหรับไวรัสตับอักเสบอีอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังได้ ถ้าผู้ที่รับเชื้อมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น อาหารที่มีอุจจาระผู้ป่วยปนเปื้อน หรือเนื้อสัตว์ป่าดิบ โดยเฉพาะเนื้อหมู หมูป่า กวางป่า ที่ไม่สุก

 

 

 ไวรัสตับอักเสบบีและซี ติดต่อทางเลือดและเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไวรัสตับอักเสบบีพบมากในประเทศไทย เนื่องจากมีการติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยลูกสัมผัสเลือดของแม่ในขณะที่คลอดออกมา ไวรัสทั้งสองชนิดทำให้เกิดตับอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีมักจะไม่ค่อยมีอาการ ผู้ใหญ่ทุกคนจึงควรตรวจร่างกายดูว่ามีโรคตับแฝงอยู่หรือไม่

 

 

 ไวรัสตับอักเสบดี ไม่ค่อยพบในประเทศไทย

 

 

การรักษาไวรัสตับอักเสบบีและซี

 

แม้ว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะเป็นเชื้อที่รู้จักกันมาร่วม 50 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีวีการรักษาที่ขจัดเชื้อให้หมดไปจากร่างกาย โดยสิ้นเชิง มีแต่การรักษาจนไม่สามารถตรวจพบเชื้อหรือร่องรอยของเชื้อในกระแสเลือด กล่าวคือ เป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการ (inactive carrier) ซึ่งมีจำนวนเชื้อในกระแสเลือดน้อยกว่า 10,000 ตัวต่อเลือดหนึ่งซีซี แต่ถึงกระนั้นเชื้อไวรัสก็ยังซ่อนอยู่ในตับ ถึงกระนั้นก็ตามเป็นการลดโอกาสการก้าวไปของโรคเข้าสู่ระยะตับแข็งหรือแม้แต่ตับแข็งระยะที่เป็นมากแล้ว ก็จะทำให้ตับกลับมาทำงานเป็นปกติบางครั้งทำให้พังผืดในตับหายไปได้ และมีหลักฐานในบางการศึกษาว่าสามารถลดโอกาสการเกิดมะเร็งตับ มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาส่วนหนึ่งแม้ไม่มากก็ตาม จะเข้าสู่ระยะหายโดยตรวจไม่พบผิวไวรัสในเลือดคือ HBsAg เป็นลบ และบางคนยังมีโอกาสเกิดภูมิต้านทานต่อไวรัส (AntiHBs) เกิดขึ้นได้ ยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีประกอบด้วย

 

 

 ยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน คือ เพ็คกีเลเต็ตอินเตอร์เฟียรอน (pegylated interderon)  ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายให้ไปทำลายไวรัส โดยการฉีดยาเข้าใต้ผิวนหนังอาทิตย์ละครั้ง ผู้ป่วยประมาณหนึ่งในสามจะตอบสนองต่อยานี้ อาการข้างเคียงจากยาฉีดอินเตอร์เฟียรอน ได้แก่ อ่อนเพลีย เป็นไข้ ยาไปกดไขกระดูกทำให้เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวต่ำ

 

 

 ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส แต่ไม่ได้ทำลายไวรัส ข้อดีของยากลุ่มนี้คือมีอาการข้างเคียงน้อย ข้อเสียคือเมื่อใช้ไปนานๆ เชื้อจะดื้อยาได้

 

 

ส่วนเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ โอกาสที่ผู้ป่วยไวรัสชนิดนี้ในเอเชียจะหายขาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-90 ยาที่ใช้รักษา ได้แก่ ยาฉีดเพ็กอินเตอร์เฟียรอน ร่วมกับยารับประทานที่ชื่อว่าไรบาวิริน ใช้ระยะเวลารักษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี การรักษาในระยะหนึ่งถึงสองปี ข้างหน้าจะเปลี่ยนไป เป็นกลุ่มยาที่ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสในเซลล์ตับด้วยวิธีการต่างๆ โดยรับประทานยากลุ่มใหม่ 2-3  ชนิดร่วมกัน หรือสองชนิดอยู่ในเม็ดเดียวกันรับประทานต่อเนื่องกัน 3-6 เดือน ขึ้นกับชนิดของไวรัสและระยะของโรคตับ ทำให้โรคหายขาดได้ 90-100% แต่ปัจจุบันยาที่เริ่มออกมาขายในประเทศแถบยุโรปและอเมริกามีราคาสูงมาก (หลายล้านบาทต่อการคอร์สการรักษา)

 

 

ป้องกันตับอักเสบเรื้อรัง ตัดไฟแต่ตันลม

 

การป้องกันตับอักเสบเรื้อรังที่ดีที่สุด คือ การตรวจร่างกายว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีหรือไม่ ถ้าตรวจพบเชื้อ จะได้รับการรักษาจากแพทย์ได้อย่าทันท่วงที นอกจากนี้ก็มีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ในกรณีที่คู่นอนเป็น ให้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย และให้คู่นอนรับการรักษาจากแพทย์ นอกจากนี้ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะทำลายตับ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 14 ยูนิตต่อสัปดาห์ (คิดเป็นวิสกี้ 40% ปริมาณ 1 ใน 3 ของขวด 1000 ซีซี, เบียร์ 7 กระป๋อง) ส่วนผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 21 ยูนินิตต่อสัปดาห์ (คิดเป็นวิสกี้ 40% ครึ่งขวด 1000 ซีซี, เบียร์ 10 กระป๋อง) เพราะแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้ไขมันแทรกในตับ ทำให้ตับอักเสบ ตับแข็ง และตามมาด้วยมะเร็งตับในที่สุด

 

 

นพ.ดร.ปิยะวัฒน์ โกมลมิศร์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)