
© 2017 Copyright - Haijai.com
ไส้เลื่อนขาหนีบ
ไส้เลื่อน (Hernia อ่านว่า “เฮอ-เนีย หรือ ที่ภาษาอังกฤษทั่วไปเรียกว่า rupture) เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ชาย ไส้เลื่อนมักจะเป็นกันที่ขาหนีบ (บริเวณอื่นก็มี) เพื่อให้ชัดเจนวงการแพทย์ไทย จึงเรียกกันว่า “ไส้เลื่อนขาหนีบ” อการมักจะเริ่มด้วยเป็นก้อนเล็กๆ ที่ขาหนีบ อาจเป็นมาตั้งแต่เด็กหรือเป็นตอนอายุมากก็ได้แล้ว แต่สาเหตุจากนั้นก้อนจะค่อยๆ โตขึ้น อาจไม่มีอาการเจ็บปวดในเวลาต่อมา ก้อนนี้อาจจะเล็กลงหรือหายไปเมื่อคนไข้นอนลง แต่มักจะโป่งพองขึ้นเวลายืน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ไส้เลื่อนขาหนีบมักจะเกิดจากล้ามเนื้อ บริเวณขาหนีบอ่อนแอ จุดอ่อนแอนี้อาจจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิดเนื่องจากรูที่เกิดขึ้นจากถุงของเยื่อบุช่องท้องไม่ปิดตามธรรมชาติตามเวลาที่ควร หรือเมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบลีบลงทำให้เกิดเป็นช่องอ่อนแอ จนอวัยวะภายในช่องท้อง ซึ่งส่วนมากจะเป็นลำไส้เลื่อนลงมาทำให้มันโป่งออก สิ่งสำคัญของโรคไส้เลื่อนคือ บางกรณีลำไส้ขาดเลือดทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง อาจถึงแก่ชีวิตถ้าช่วยไม่ทัน ดังนั้นหากสงสัยว่าเป็นไส้เลื่อน จึงควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีอาการเกิดขึ้น (อาการปวดหรือก้อนที่ขาหนีบอาจเกิดได้ จากหลายสาเหตุ กล่าวคือนอกจากไส้เลื่อนแล้ว ยังมีโรคของอัณฑะ เช่น อัณฑะไม่ลงถุง อัณฑะอักเสบ หลอดเลือดอัณฑะขอด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ฯลฯ จึงควรให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ตรวจวินิจฉัยโรค
ปัจจัยที่ทำให้ไส้เลื่อนโป่งพองขึ้น ได้แก่
• มีสถานการณ์ที่ทำให้มีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น การตั้งครรภ์ ท้องมาน (หรือมีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องท้อง เช่น ในกรณีโรคตับแข็ง)
• การออกแรงเบ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะมาก
• การไอเรื้อรังหรือการจาม
• การยกของหนัก
ลักษณะอาการ
ไส้เลื่อนขาหนีบบางกรณีไม่มีอาการ คนไข้ที่ไม่รู้ก็นึกว่าเป็นอวัยวะปกติที่โกว่าชายคนอื่น เด็กๆ อาจจะอวดโชว์กันด้วยคามภูมิใจ หรือแพทย์อาจจะตรวจโรคอื่นแล้วพบโดยบังเอิญ เวลาคนยืนขึ้นหรือเวลาไอ หรือเบ่งท้อง ก้อนนี้จะโป่งขึ้น ในกรณีที่ไม่มีอาการ ก้อนโป่งนี้จะเห็นคลำได้บริเวณข้างๆ หัวหน่าว ภายในก้อนไส้เลื่อนอาจจะมีลำไส้หรือก้อนเนื้ออ่อนลงมาอยู่ และอาจมีอาการหรืออาการแสดงดังนี้
• ปวดแสบร้อน รู้สึกโครกคราก (จากลำไส้บีบตัว) หรือปวดตื้อๆ ที่ขาหนีบ
• ปวดแปล๊บหรือรู้สึกอึดอัดที่ขาหนีบเวลาก้ม ไอ จาม หรือยกของหนัก
• บางรายมีอาการอ่อนแรงหรือรู้สึกถูกกดที่ขาหนีบ
ในบางกรณีหากสิ่งที่อยู่ภายในก้อนไส้เลื่อนสามารถเลื่อนขึ้นลงได้ เมื่อเกิดอาการ เช่น ปวดท้อง แพทย์อาจให้คนไข้นอนลงแล้วใช้มือค่อยๆ ดันให้ส่วนที่ไหลมาอยู่ในก้อนกลับเข้าไปในช่องท้อง ทำให้หายจากอาการปวดท้องเป็นการรักษาเพื่อผ่อนคลายอาการเบื้องต้น
ในกรณีที่ไม่สามรถดันส่วนที่อยู่ในก้อนให้เลื่อนกลับเข้าช่องท้องได้ เป็นไส้เลื่อนแบบติดค้าง กรณีเช่นนี้ อาจเกิดอันตรายขึ้นได้เนื่องจากสิ่งที่อยู่ภายในก้อนไส้เลือ่น โดยเฉพาะลำไส้อาจถูกบีบรัดจนขาดเลือด ทำให้ลำไส้ตายในที่สุด การขาดเลือดมักมีอาการปวดท้องมากเฉียบพลันและค่อยๆ ปวดมากขึ้นๆ มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ต่อมาจะมีอาการไข้ ชีพจรเต้นเร็ว ก้อนไส้เลื่อนจะกดเจ็บ บางคนที่ผิวบางอาจมีการอักเสบแดงหรือม่วง ถ้ามีอาการอย่างนี้หรือคล้ายคลึงอย่างนี้ควรไปให้แพทย์ตรวจโดยด่วน สถาณการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรีบด่วน โดยการผ่าตัดรักษาเพื่อให้เลือดกลับมาเลี้ยงลำไส้ได้ทัน ถ้าผ่าตัดช้าไปลำไส้ตาย ต้องตัดลำไส้ที่ตายออก การตัดลำไส้ออกทำให้การผ่าตัดยุ่งยากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลติดเชื้อได้มากขึ้น
การรักษา
การรักษาไส้เลื่อนโดยทั่วไปคือ การผ่าตัดรักษา การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนเป็นการผ่าตัดที่ทำกันบ่อย คำถามที่พบบ่อยคือ กรณีที่ไส้เลื่อนที่เป็นไม่มีอาการ ควรผ่าตัดหรือไม่ และควรผ่าตัดเมื่อไหร่ คำตอบจากศัลยแพทย์แบ่งเป็นกลุ่ม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่งว่าถ้าไม่มีอาการก็ไม่ต้องผ่าตัด ในขณะที่อีกกลุ่มตอบว่าให้ผ่าตัดก่อนเกิดอาการ ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนทั้ง 2 แบบ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดอาการ แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ควรจะผ่าตัดรักษาก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้การผ่าตัดแบบนัดยอ่มดีกว่า ผ่าตัดฉุกเฉินแน่นอน
การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนขาหนีบในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ
• การผ่าตัดแบบธรรมดา เป็นวิธีการรักษาที่ทำกันมานานเป็น 100 ปี แล้ว เป็นการผ่าตัดวิธีเปิด คือ การลงมีดเป็นแผลยาวประมาณ 4-5 เซนติเตร ตรงบริเวณไส้เลื่อน (หลังจากดมยาหรือให้ยาชาโดยการแทงหลัง หรือฉีดยาชาเฉพาะที่) ผ่าลงไปแล้วดันถุงไส้เลื่อนกลับเข้าไปในท้อง จากนั้นจึงทำการซ่อมผนังหน้าท้องที่อ่อนแอ โดยการเอาแผ่นมุ้งสารสังเคราะห์ (mesh) วางปูเย็บเสริมเพิ่มความแข็งแรงของผนัง หรือถ้าไม่ใช้ mesh ก็ใช้วิธีเก่าคือเย็บรวบเนื้อเยื่อที่อ่อนแอเข้าหากันเพื่อให้แน่นหนาขึ้น
• การผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้อง เป็นวิธีใหม่ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสำหรับทุกคน เป็นการผ่าตัดที่ทำกันในศูนย์ผ่าตัดที่ทำบ่อยๆ ไม่เหมาะสำหรับการผ่าตัดไส้เลื่อนขนาดใหญ่ ในกรณีที่มีลำไส้ลงมาติดอยู่ในถุงไส้เลื่อนก็ไม่เหมาะ คนไข้ที่เคยผ่าตัดช่องเชิงกราน เช่น ต่อมลูกหมากก็ไม่เหมาะเพราะทำยาก
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อน
• ปวดแผลหรือปวดบริเวณผ่าตัด แต่จะเกิดน้อยเมื่อผ่าแบบใช้ mesh
• เกิดอาการบวมบริเวณผ่าตัดเพราะตกเลือด
• แผลติดเชื้อ แต่พบได้น้อยเพราะสามารถป้องกันได้โดยการให้ยาปฏิชีวนะ
การผ่าตัดไส้เลื่อนมักไม่ต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลนาน บางแห่งไม่ต้องพักค้างคืน บางแห่งให้นอนค้าง 1 คืน หลังการผ่าตัดวิธีเปิดส่วนมากคนไข้ต้อพักฟื้นประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก่อนจะกลับไปทำงานตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ไม่หนักก็สามารถทำได้ใน 2 สัปดาห์ การผ่าตัดแบบส่องกล้องใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า เหมาะสำหรับบางคน เช่น นักกีฬาอาชีพที่มีค่าจ้างเป็นแสนปอนด์ต่อสัปดาห์
มีคำถามบ่อยๆ ว่าหลังผ่าตัดแล้วยกของหนักได้ไหม คนไข้กลัวว่าเวลาเบ่งท้องยกของหนักแล้วจะปวดแผล หรือไม่ไส้เลือ่นก็จะกลับมาเป็นอีก เคยมีการทดลองเรื่องนี้แล้วพบว่า เวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ ความดันภายในช่องท้องจะเพิ่มขึ้นเท่ากับเวลาที่เรายกของหนัก 100 ปอนด์ หรือ ประมาณ 40 กิโลกรัม เราไม่สามารถห้ามการเบ่งถ่ายอุจจาระได้ และไม่เคยมีรายงานว่าการเบ่งถ่ายอุจจาระทำให้ไส้เลื่อนกลับเป็นขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการยกของหนักพอประมาณ ไม่เกิน 40 กิโลกรัม จึงไม่เป็นไร แต่การยกของหนักแบบนักกีฬายกน้ำหนักโอลิมปิกนั้นไม่ควรทำ
เมื่อผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้ว คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น เคยเล่นเทนนิส เล่นแบต หรือบาสเกตบอล ฯลฯ ก็สมารถกลับมาเล่นได้เหมือนเดิมท่านที่เป็นไส้เลื่อนจึงควรรู้ไว้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)