© 2017 Copyright - Haijai.com
ฝังเข็ม รักษาฝ้า
ฝ้าที่ไม่ได้อยู่บนเพดาน แต่อยู่บนใบหน้า ย่อมเป็นที่กวนใจของสุภาพสตรีผู้รักษาความสวยงาม วิทยาศาสตร์การแพทย์จึงต้องคิดหากลยุทธ์มาจัดการกับฝ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา วิตามิน หรือเลเซอร์ เพื่อจัดการกับเม็ดสีที่มากผิดปกติจนเป็นปื้นสีเข้มไม่น่าดู ส่วนการแพทย์แผนจีนมองว่าฝ้าคือการแสดงออกถึงการทำงานของอวัยวะภายในที่ผิดปกติ ได้แก่ การที่ลมปราณในตับ (ซึ่งตามทัศนะการแพทย์แผนจีน ตับมีหน้าที่เก็บเลือดและทำให้การเคลื่อนที่ของเลือดและลมปราณเป็นปกติ) ขาดการเคลื่อนไหว จนทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี และการที่ม้าม (ซึ่งตามทัศนะการแพทย์แผนจีน ม้ามมีหน้าที่ในการนำส่งสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และควบคุมการไหลเวียนของเลือด) มีกทำงานที่บกพร่อง การฝังเข็มจึงนับเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาฝ้า เพราะไปช่วยแก้ไขการไหลเวียนของลมปราณในเส้นลมปราณให้เป็นปกติ ตลอดจนไปปรับการทำงานของอวัยวะที่จุดฝังเข็มนั้นๆ เกี่ยวข้องให้เป็นปกติ
คณะแพทย์แผนจึนที่โรงพยาบาลในเมืองหางโจว นำโดย นายแพทย์ซื่อหงเฟย ได้ทดลองเปรียบเทียบผลของการฝังเข็มรักษาฝ้าเปรียบเทียบกับการรักษาแผนปัจจุบัน คณะแพทย์ได้แบ่งผู้ป่วยหญิงออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยการฝังเข็มที่จุดรอบฝ้า และจุดบนเส้นลมปราณตับ ม้าม และกระเพาะอาหาร ตลอดจนจุดอื่นๆ ตามอาการของผู้ป่วย กลุ่มควบคุม ซึ่งรับประทานวิตามินซีครั้งละ 0.3 กรัม และวิตามินอีครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง และทาครีมแก้ฝ้าก่อนนอน และกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาอะไรเลย การรักษาดำเนินไปเป็นเวลาสามเดือน ผู้วิจัยเปรียบเทียบพื้นที่และสีของฝ้า อาการอื่นๆ ได้แก่ ประจำเดือนผิดปกติ ปวดประจำเดือน นอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ใจสั่น ท้องผูก ตลอดจนระดับฮอร์โมนเพศหญิง สารต้นอนุมูลอิสระ และฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเม็ดสีที่ตอนเข้าร่วมและสิ้นสุดการศึกษา
ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเข็ม และผู้ป่วยกลุ่มควบคุม มีอาการของฝ้าดีขึ้นจากตอนเข้าร่วมการศึกษา ในขณะที่ผู้ป่วยในกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาใดๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของฝ้า ระดับฮอร์โมนเพศหญิงในผู้ป่วยทุกลุ่มคงที่ ในขณะที่ระดับสารต้านอนุมูลอิสระของผู้ป่วยที่ได้รับการฝังเข็มและกลุ่มควบคุมดีขึ้น ระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเม็ดสีของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มลดลงจากตอนเข้าร่วมการศึกษา ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษาไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสารต้านอนุมูลอิสระ และฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ผิวหนังสร้างเม็ดสี อย่างไรก็ตามในงานวิจัยนี้ การฝังเข็มมีผลดีเหนือกว่าการรักษาฝ้าโดยการรับประทานวิตามินและทาครีม ตรงที่สามารถลดอาการต่างๆ ได้แก่ ประจำเดือนผิดปกติ ปวดประจำเดือน ใจสั่น นอนไม่หลับ แน่นอก และท้องผูก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)