© 2017 Copyright - Haijai.com
ดูแลผิวลูกน้อยช่วงปิดเทอม
บ้านเราอากาศร้อนปีละ 12 เดือน อุณหภูมิเฉลี่ย 28-32 องศา ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าร้อน เบบี๋ก็รู้สึกร้อนเช่นกันค่ะ บริเวณหน้าผาก คอ รักแร้ หลัง และข้อพับแขนขาของทารกนั้น ต่อมเหงื่อยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้มีเคราตินไปอุดตันที่ต่อมเหงื่อและเกิดผดร้อนตามมา วิธีป้องกันทำได้ไม่ยากค่ะ คือให้ลูกสวมเสื้อผ้าสีอ่อนที่โปร่งสบาย เลือกเนื้อผ้าที่ไม่ทอแน่นจนเกินไป เพื่อช่วยให้ระบายอากาศได้มากขึ้น อยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเทได้ดี เมื่อผิวลูกได้หายใจ ก็จะช่วยให้ผื่นหายไปได้นะคะ แต่ถ้าบริเวณไหนที่ร้อนมากๆ ลูกอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ให้คุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวให้ หรืออาบน้ำก็จะช่วยระบายความร้อนได้ค่ะ
ความร้อนและแสงแดด
แสงอาทิตย์มีรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตซึ่งจะช่วยสังเคราะห์วิตามินดี ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและกระดูก แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากไปก็จะเป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา ช่วงเช้าเป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะพาลูกรักไปเดินเล่น เนื่องจากแดดยังไม่จ้าจนเกินไป อย่าลืมเตรียมหมวกให้ลูกน้อย และครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป เลือกใช้ครีมกันแดดที่ SPF สูงๆ เนื่องจากเด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทา คุณแม่จึงอาจจะทาครีมได้ไม่ทั่วหรือไม่หนาพอ ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง และก่อนลงสระว่ายน้ำ ถ้ามีกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ ร่างกายจะสูญเสียความร้อนได้ง่าย ควรให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอด้วยนะคะ หลังจากเข้ามาจากกลางแจ้งไม่ควรให้ลูกอยู่ในห้องที่แอร์เย็นเกินไปเพราะร่างกายเด็กเล็กๆ ยังปรับตัวได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ลูกน้อยของเราอาจจะงอแง และไม่สบายได้ค่ะ
เชื้อโรคในสระว่ายน้ำ
เดี๋ยวนี้เบบี๋ก็ไปว่ายน้ำกันแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่า ไปว่ายน้ำแล้วจะปลอดภัยไหม ในสระว่ายน้ำมีคลอรีนที่ใส่ในน้ำช่วยฆ่าเชื้อโรค โดยคลอรีนจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่เมื่อมีปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสม ก่อนลงสระจึงควรล้างตัว ทำความสะอาดร่างกายก่อน ปัจจุบันมีเชื้อโรคบางอย่างที่แพร่กระจายได้ในสระว่ายน้ำ อย่างเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล (E.coli) หรือชิเกลล่า (Shigella) ซึ่งพบได้ในอุจจาระ คราบอุจจาระเพียงนิดเดียวเมื่อนำมาส่องกล้องจุลทรรศน์จะพบมีเชื้อโรคอยู่นับล้านตัว เมื่อเด็กๆ เล็กๆ ไปว่ายน้ำอาจจะสำลักน้ำ และกลืนน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไปหากมีเด็กท้องเสียและมีคราบอุจจาระติดอยู่ที่ก้น ซึ่งทำให้ไม่สบายตามมาได้ค่ะ
การติดเชื้อจากสระว่ายน้ำ ยังทำให้เกิดการติดเชื้อทางผิวหนังได้ด้วยนะคะ โดยผื่นจากสระว่ายน้ำพบได้ 2 กลุ่มคือ จากการติดเชื้อทางผิวหนังและการแพ้สัมผัส การติดเชื้อทางผิวหนังที่พบบ่อย เช่น เริม โดยจะมีผื่นเป็นตุ่มน้ำ ซึ่งจะแตก และมีอาการแสบตามมา ส่วนหูดข้าวสุกก็พบได้บ่อยเช่นกัน มีลักษณะผื่นเป็นตุ่มสีน้ำตาล เวลาเกาอาจมีเม็ดสีขาวคล้ายข้าวสุกหลุดตามมา เริ่มต้นผื่นจะเป็นเฉพาะที่แล้วจึงค่อยๆ กระจายไปทั่วตัว ผื่นนี้แพร่กระจายได้โดยการสัมผัส เด็กๆ ที่เป็นหูดข้าวสุกอาจนำไปติดพี่น้องที่บ้านได้ด้วย ส่วนผื่นแพ้สัมผัสเกิดจากการว่ายน้ำในสระน้ำที่มีปริมาณของคลอรีนมากเกินไป หรือจากการแพ้อุปกรณ์ที่ใช้ในการว่ายน้ำ เช่น แพ้ยางจากแว่นตาว่ายน้ำ ยางยืดบริเวณเอวชุดว่ายน้ำ แพ้นิเกิลบนเครื่องประดับบนชุดว่ายน้ำ แพ้สารเคมีที่ผสมในสารที่ย้อมสีชุดว่ายน้ำ การแพ้ครีมที่ใช้ทากันแดดก็พบได้บ่อยในเด็กเช่นกัน ซึ่งอาการแพ้จากการสัมผัสเหล่านี้ จะทำให้เกิดผื่นแดงและคันบริเวณที่สัมผัสกับสารนั้นๆ ถ้าลูกมีผื่นหลังลงสระว่ายน้ำ และไม่แน่ใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แนะนำให้พาไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาลนะคะ
แพทย์หญิงฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)