Haijai.com


ผู้หญิงมีกลิ่นเต่า กลิ่นตัวแรง ต่อมกลิ่น ต่อมเหงื่อ


 
เปิดอ่าน 36100

เลิกกลุ่มซะที ผู้หญิงมีกลิ่นเต่า

 

 

เคยรู้สึกไหมว่าเวลาที่คุณอยู่ใกล้ชิดกับใครบางคนแล้วได้กลิ่นตุๆ คล้ายๆ กับว่าเต่ากำลังบินออกมาเป็นฝูง ทำให้คุณรีบกลั้นหายใจแทบไม่ทัน หรือบางคนก็สูดเอากลิ่นเต่าเข้าไปเต็มปอดจนแทบสำลัก แต่ที่ทรมานมากกว่านั้น ก็คือ ด้วยความมีมารยาทคุณจะต้องสะกดกลั้นอาการเหล่านั้นเอาไว้ ไม่แสดงออกไปให้เขารู้ว่าคุณกำลัง “เหม็นกลิ่นเต่า” แทบขาดใจ ในขณะที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องอะไรเลย และต่อให้คุณหวังดีอยากจะบอกกับเค้าแค่ไหนว่า “เธอๆ เธอมีกลิ่นตัวแรงมากนะ เราว่าไปหาหมอ ให้หมอเขาช่วยรักษาเถอะ” คุณจะกล้าบอกไหม ?

 

 

กลิ่นตัว เป็นลักษณะทางเพศแบบหนึ่ง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบุคคลนั้นๆ หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “จำกลิ่นกันได้” นั่น หมายถึง นอกจากรูปร่างหน้าตาท่าทางและน้ำเสียงแล้ว มนุษย์ยังใช้กลิ่นในการจดจำ ซึ่งกันและกันอีกด้วย และเป็นประโยชน์ในด้านการระบุตัวบุคคล คนที่ไม่มีกลิ่นตัวหรือมีกลิ่นหอมผู้คนก็อยากชิดใกล้ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีคนรังเกียจ แต่ถ้าใครที่มีปัญหากลิ่นเต่าจากใต้วงแขน หรือมีกลิ่นตัวแรงแบบลมปะทะหน้าทีเดียวก็ทำเอาฉุนกึ๊ก อันนี้คงไม่ไหว ผู้คนต่างก็จะพากันเซย์กู๊ดบายไม่อยากเข้าใกล้กันเป็นแถว คนที่มีกลิ่นเต่าหรือกลิ่นตัวแรงมักทำให้มีปัญหาในการเข้าสังคมพบปะผู้คน ทำให้เป็นคนขาดความมั่นใจ และมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง โดยเฉพาะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน  ยิ่งอากาศขมุกขมัวแบบฝนจะตกอย่างฤดูนี้ ยิ่งมีปัจจัยกระตุ้นทำให้เหงื่อและกลิ่นหลั่งออกมามากกว่าปกติ จึงต้องคอยดูแลรักษาสุขอนามัยของตัวเองเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องของกลิ่นเต่า กลิ่นตัว เหงื่อไคล คราบแบคทีเรียใต้วงแขน เดือดร้อนไปถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่เพราะมีคราบขาวคราบเหลืองติดแน่นซักไม่ออก บางคนแพ้โรลออนและสารส้มทำให้มีรอยดำใต้วงแขนเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งปัญหา เรียกได้ว่าครบทุกปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่น แล้วกลิ่นเต่าเจ้ากรรมมาจากไหน?

 

 

กลิ่นตัว คืออะไร? สาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว?

 

กลิ่นตัว (Body Odor : BO, Bromhidrosis Osmidrosis, Ozochrotia) เป็นกลิ่นอันไม่น่าพิสมัยของร่างกายเรา โดยปกติแล้วเหงื่อไม่มีกลิ่น แต่สามารถเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวทำปฏิกิริยากับเหงื่ออย่างรวดเร็ว แล้วกลายเป็นกรดจนทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ขึ้นมา บ้างบอกว่ามันเป็นกลิ่นของแบคทีเรียที่เจริญเติบโตอยู่บนร่างกายของเรา แต่จริงๆ แล้วมันเป็นผลของแบคทีเรียที่เปลี่ยนสภาพจากโปรตีนกลายเป็นกรดบางชนิด กลิ่นตัวสามารถเกิดขึ้นได้หลายแห่งบนร่างกายของเรา ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดบริเวณเท้า ขาหนีบ รักแร้ อวัยวะเพศ ขนในที่ลับ หรือขนบริเวณอื่นๆ บนร่างกาย สะดือ ทวารหนัก หลังใบหู และส่วนน้อยที่พบในบริเวณอื่นๆ ปกติแล้วกลิ่นตัวจะเริ่มปรากฏได้ชัด เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงอายุระหว่าง 14-16 ปี ส่วนผู้ชายพบในช่วงอายุระหว่าง 15-17 ปี

 

 

นอกจากนั้นคนที่เป็นโรคอ้วน คนที่กินอาหารรสเผ็ดเป็นประจำ คนที่มีโรคประจำตัวหรือมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะร่างกายที่อ่อนแอ และต้องรักษาโดยการให้ยา ก็จะทำให้มีกลิ่นตัวมากขึ้น รวมถึงคนที่มีเหงื่อออกมากเกินไป ก็เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้มีกลิ่นตัวได้ แต่อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่ระดับความเข้มข้นของเกลือในเหงื่อสูงเกินกว่าที่แบคทีเรียจะสามารถทำลายลงได้ จึงทำให้ไม่มีกลิ่นตัว ดังนั้น การเกิดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า จึงขึ้นอยู่กับปริมาณเหงื่อ ชนิดของต่อมเหงื่อ และการได้รับอิทธิพลจากอาหาร เพศ สุขภาพ และยาด้วย สาเหตุของกลิ่นเต่า กลิ่นตัว มาจากต่อมเหงื่อและต่อมกลิ่นที่ทำงานมากผิดปกติ ต่อมเหงื่อ (Sweat gland) เป็นต่อมมีท่อที่พบกระจายอยู่ทั่วไปในร่างกาย อยู่ติดกับท่อขับถ่ายซึ่งเปิดออกที่ผิวหนังชั้นนอกสุดในร่างกายของเรา จะมีต่อมเหงื่ออยู่ประมาณ 2-4 ล้านต่อม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

 

 

1.ต่อมเหงื่อขนาดเล็ก (Eccrine Sweat gland) สามารถพบได้ทั่วทุกบริเวณของร่างกาย ยกเว้นบริเวณริมฝีปากและอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วน ต่อมเหงื่อขนาดเล็กจะมีการหลั่งเหงื่อออกมาตลอดเวลา และมีการระเหยออกไปตลอดเวลาเช่นกัน ดังนั้น เราจึงมักจะไม่ค่อยสังเกตเห็น แต่เมื่อถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ความร้อน การออกกำลังกาย อาการตื่นเต้น ตกใจ หวาดกลัว เหงื่อก็จะหลั่งออกมาในปริมาณมากจนสังเกตเห็นได้

 

 

2.ต่อมเหงื่อขนาดใหญ่ (Apocrine Swat gland) ต่อมเหงื่อชนิดนี้ไม่ได้มีอยู่ทั่วไปในร่างกาย พบได้เฉพาะบริเวณรักแร้ รอบหัวนม รอบสะดือ ช่องหูส่วนนอก จมูกส่วนนอก อวัยวะสืบพันธุ์บางส่วน ต่อมชนิดนี้มีท่อขับถ่ายที่ใหญ่กว่าชนิดแรก มีรูเปิดที่ขนใต้ผิวหนัง ทำงานตอบสนองต่อภาวะของจิตใจ ดังนั้น เวลาที่เราตื่นเต้น ตกใจ หวาดกลัว ทำให้มีเหงื่อออกมามากในบริเวณดังกล่าว ต่อมเหงื่อขนาดใหญ่จะหลั่งสารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหลวข้น ไม่มีกลิ่น และประกอบไปด้วยกรดไขมันหลายชนิด แต่เมื่อเชื้อแบคทีเรียเปลี่ยนสภาพให้เป็นกรดบางชนิดก็จะทำให้เกิดเป็นกลิ่นตัว จึงเรียกต่อมชนิดนี้ว่า ต่อมกลิ่น นั่นเอง

 

 

ต่อมเหงื่อทำหน้าที่หลั่งเหงื่อ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย เป็นการตอบสนองของร่างกายเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทั้งอาจจะเป็นจากการได้รับความร้อนหรือการออกกำลังกาย หรือเกิดจากความตกใจ ความกลัว ความตื่นเต้น ที่ส่งผลทำให้เกิดการหลั่งเหงื่อมากขึ้น การหลั่งเหงื่อเป็นการปรับสมดุลร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ ถ้าร่างกายไม่มีเหงื่อออกมาเลย ก็จะทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย แต่กลับกันถ้ามีเหงื่อมากไป ก็จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกาย และในบางคนมีความผิดปกติในการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อถูกขับออกมามากเกินไป ซึ่งปกติแล้วเหงื่อที่หลั่งออกมาจากต่อมเหงื่อจะไม่มีกลิ่นอย่างที่เราได้พูดถึงไปแล้วในตอนต้นของบทความ แต่เมื่อเหงื่อผสมกับแบคทีเรียที่อยู่ตามเส้นขนบริเวณรักแร้ และร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การรักประทานอาหารโดยเฉพาะเครื่องเทศ หรือยาบางชนิด จึงทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้

 

 

แนวทางการรักษากลิ่นตัว กลิ่นเต่า

 

เรื่องกลิ่นเต่ากลิ่นตัวสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน ในอดีตจะใช้วิธีการฉีดสารโบทูลินั่ม ท็อกซิน หรือโบท็อกซ์ เพื่อลดเหงื่อ ซึ่งจะช่วยลดการสร้างสารที่ทำให้เกิดกลิ่น จึงทำให้กลิ่นลดลงด้วย ข้อดี คือ ไม่ต้องผ่าตัดจึงไม่เจ็บตัวมากนัก แต่การฉีดโบท็อกซ์ต้องกลับมาฉีดซ้ำ เนื่องจากผลการรักษาหลังการฉีดจะอยู่ที่ 6-12 เดือน หลังจากนั้นกลิ่นจึงสามารถกลับมาได้อีก และมักจะรักษาร่วมกับการยิงเลเซอร์กำจัดขนด้วยเพื่อลดปัจจัยการเกิดกลิ่น อีกวิธีหนึ่งคือการผ่าตัดเอาต่อมเหงื่อและต่อมกลิ่นออก โดยแพทย์จะทำการเปิดแผลผ่าตัดใต้รักแร้ แล้วปลิ้นเนื้อเยื่อด้านในของรักแร้ ซึ่งประกอบไปด้วยต่อมเหงื่อและต่อมกลิ่นออกมา จากนั้นใช้เครื่องมือแพทย์ทำการเลาะต่อมเหงื่อและต่อมกลิ่นออก เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี แต่ข้อเสียคือมีรอยแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ บวม แดง เจ็บ เลือดออก แผลเป็น เป็นต้น จึงทำให้มีการพัฒนามาสู่วิธีการรักษาโดยการดูดไขมันด้วยคลื่นความถี่วิทยุร่วมกับการผ่าตัดแผลเล็ก เป็นแผลที่เกิดจากการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 3-4 เซนติเมตร แล้วสอดท่อเข้าไปใต้ผิวหนัง จากนั้นใช้ความร้อนของคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปทำลายต่อมเหงื่อ ต่อมกลิ่น พังผืดและเนื้อเยื่อต่างๆ แทนการใช้เครื่องมือแพทย์เข้าไปเลาะโดยตรง จึงทำให้แผลคนไข้มีขนาดเล็กลง เจ็บตัวน้อย และฟื้นตัวได้เร็วกว่า

 

 

ล่าสุดกับวิธีการรักษาที่ได้รับการพัฒนาไปอีกขั้น คือ การใช้คลื่นความถี่วิทยุทำลายต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ หรือเรียกว่า Radio-Frequency Assisted Liposuction (RFAL) หรือเรียกว่า “Total Axilla Technique” เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ช่วยในการกำจัดต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อ สาเหตุของการเกิดกลิ่นตัวแรงและการเกิดเหงื่อ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency : RF) เข้าไปทำลายต่อมกลิ่นและต่อมเหงื่อที่อยู่ใต้ผิวหนัง ให้ยหยุดการทำงานอย่างถาวร จึงเป็นการช่วยลดการเกิดเหงื่อและลดการเกิดกลิ่น ในขณะเดียวกันก็ยับยั้งการทำงานของรากขน ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดกลิ่นอับขึ้น และคลื่นความถี่วิทยุยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง ผลที่ได้คือผิวหนังใต้รักแร้เรียบเนียนขึ้น ตึงกระชับมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาผิวยับย่นเป็นหนังไก่ได้ และเป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด คนไข้จึงไม่ต้องเจ็บตัวและเป็นวิธีที่สามารถกำจัดปัญหาใต้วงแขนที่ได้ผลดี ทั้งเรื่องของกลิ่น เหงื่อ รอยดำ และขน หลังทำการรักษาคนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

 

 

ขั้นตอนการรักษาด้วยเทคโนโลยี RFAL

 

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการสอบถาม พูดคุย ซักประวัติ เจาะเลือดเพื่อดูเรื่องโรคติดเชื้อ โรคเลือด การรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุนี้ มีข้อห้ามสำหรับกลุ่มคนที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ จากนั้นในวันนัดหมายให้งดการทาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่น เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินระดับความรุนแรงของกลิ่นได้ เริ่มต้นการรักษาของผิวใต้รักแร้ที่เหงื่ออกมาก จากนั้นจึงทำการวัดขนาดของพื้นที่แล้ววาดรูปเพื่อกำหนดขอบเขตในการรักษา เสร็จแล้วจึงฉีดยาชาและรอยาชาออกฤทธิ์ แล้วทำการรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RF) เมื่อทำการรักษาเสร็จแล้วจึงเย็บปิดแผล ใช้เวลาในการรักษารักแร้ทั้งสองข้างประมาณ 50 นาที ผลลัพธ์หลังการรักษาค่อนข้างดีถึงดีมาก สำหรับการกำจัดขนให้ผลการรักษามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หากมีขนกลับมาอีกก็จะเป็นเพียงเส้นบางๆ เป็นขนอ่อนๆ เท่านั้น เหงื่ออาจมีกลับมาบ้างเล็กน้อยและผิวหนังเรียบเนียนมากขึ้น สำหรับกลิ่นอาจจะมีโอกาสกลับมามากกว่าการกำจัดขนและเหงื่อ เนื่องจากขึ้นอยู่กับเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังด้วย ซึ่งคนไข้สามารถกลับมาทำซ้ำได้ แต่โดยส่วนใหญ่มักพึงพอใจกับผลการรักษาในครั้งแรก และเรียกได้ว่าเป็นวิธีรักษาที่ให้ผลถาวร สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยเทคโนโลยี RFAL โดยประมาณอยู่ที่ 60,000 บาท

 

 

รักษาและป้องกันกลิ่นเต่าด้วยตัวคุณเอง

 

ก่อนที่จะพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีแนวทางการรักษาและป้องกันการเกิดกลิ่นที่คนไข้สามารถทำได้ด้วยตนเองง่ายๆ ก็คือการรักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ล้างทำความสะอาดบริเวณรักแร้บ่อยๆ ด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารที่ก่อให้เกิดกลิ่น หรือการล้างด้วยสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียลงได้ แต่ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะคนที่ผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงภาวะร้อน อับชื้น การใช้ยาระงับเหงื่อ โดยทั่วไปจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคอลไรด์ (Aluminium Chloride) ซึ่งจะทำงานโดยไปอุดต่อมท่อเหงื่อ ลดการหลั่งเหงื่อ ทำให้ผิวบริเวณใต้รักแร้แห้ง ลดสภาพแวดล้อม ที่ทำให้แบคทีเรียก่อกลิ่นตัวลง จึงช่วยลดกลิ่นตัวได้ หรือใช้ยาระงับกลิ่นกายที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดเหงื่อลดกลิ่น ให้ลั่งน้อยลงได้ หรืออาจใช้น้ำหอมช่วยลดกลิ่นตัว แต่ไม่ควรใช้น้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน เพราะอาจทำให้กลิ่นตัวยิ่งทวีความแรงมากขึ้นไปอีก และต้องระวังผื่นแพ้ที่เกิดจากน้ำหอมในกรณีที่คนไข้เป็นโรคภูมิแพ้หรือผิวแพ้ง่าย การโกนขนรักแร้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถป้องกันแบคทีเรียและการสะสมของสารก่อกลิ่นได้

 

 

เรื่องของกลิ่นเต่า กลิ่นตัวแรง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่แพ้เรื่องของความสวยความงามในด้านอื่นๆ เลย โดยเฉพาะกับผู้หญิงด้วยแล้ว ให้มีหน้าตาสะสวยรูปร่างสัดส่วนแค่ไหน แต่ใต้วงแขนมีกลิ่นแถมรอยดำและผิวยับย่น ก็ทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปได้มาก และยังส่งผลให้เป็นที่รักเกียจของคนรอบข้างได้เช่นกัน สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นหากต้องการรักษาแนะนำว่า ควรปรึกษาแพทย์ที่สามารถรักษาปัญหาใต้วงแขนได้อย่างครอบคลุม เพราะคนที่มีกลิ่นเต่า มักจะมีปัญหาเรื่องเหงื่อ รอยดำ ขนรักแร้ และผิวเป็นหนังไก่ ร่วมด้วย ซึ่งคุณอาจจะลองสอบถามถึงคนไข้ที่เคยมารับการรักษากับแพทย์ท่านนั้นว่า ผลการรักษาเป็นอย่างไร พึงพอใจมากน้อยแค่ไหน เพราะในเมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์ สามารถช่วยรักษาได้ ก็อย่าปล่อยให้เรื่องที่สามารถจัดการได้ มารบกวนคุณภาพชีวิตของคุณอีกต่อไปเลย

 

 

“ปัจจุบันมีคนไข้ที่มารับการรักษาเรื่องกลิ่นเต่า กลิ่นตัวแรงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือ RFAL มีเพิ่มขึ้น แต่คนไข้กลุ่มที่มารักษาเรื่องกลิ่นยังนับว่าเป็นกลุ่มน้อย เมื่อเทียบกับคนไข้ที่มาลดเหงื่อหรือกำจัดขน เพราะเป็นปัญหาใต้วงแขนที่พบได้มากกว่า สำหรับการรักษาด้วยเทคโนโลยี RFAL เหมาะสำหรับคนที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ มาเยอะแล้ว คนที่ใช้โรลออนไม่ได้ พอใช้แล้วมีอาการแพ้ทำให้เกิดรอยดำ และต้องการวิธีที่ให้ผลการรักษาในระยะยาว ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้นับว่าเป็นทางเลือกที่ได้ผลดีและปลอดภัย สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นตัวและเหงื่อลงได้ แต่แพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องมี Surgical Skill คือ มีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ และต้องรู้หลักการทำ รู้ว่าเวลาดูดจะต้องลงไปชั้นไหน ลึกไปก็ไม่ใช่ ตื้นไปก็เกิดปัญหาทำให้มีผลข้างเคียงตามมา ดังนั้น ก่อนทำให้พิจารณาทั้งเรื่องของความน่าเชื่อถือและความชำนาญของแพทย์ผู้ให้กากรักษา ผลงานของแพทย์ สถานพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาร่วมด้วย”

 

 

แพทย์หญิงอัจจิมา สุวรรณจินดา

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผ่าตัดผิวหนัง มะเร็งผิวหนังและเลเซอร์ผิวหนัง

อาจารย์พิเศษโรงพยาบาลรามาธิบดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)