
© 2017 Copyright - Haijai.com
ยาที่ใช้กับเด็กที่เป็นโรคหอบหืด
โรคหอบหืดในเด็ก เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้มากในปัจจุบัน มีการประมาณการณ์ว่า มีเด็กไทยไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านคนที่เป็นโรคหอบหืด เด็กจะมีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก และหายใจลำบาก เนื่องจากเกิดการอักเสบของทางเดินหายใจ ทำให้หลอดลมตีบแคบ บวม และมีเสมหะเหนียว ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยการใช้ยา
รู้หรือไม่
• อาการของโรคเกิดขึ้นได้เมื่อหลอดลมถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ มลภาวะ ควันบุหรี่ หรือแม้แต่การออกกำลังกาย
• ร้อยละ 80• 90% ของผู้ป่วยโรคหอบหืด จะเกิดอาการขึ้นเป็นครั้งแรกภายในอายุ 5 ขวบปีแรก
• เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ เยื่อจมูกอักเสบ ผื่นแพ้ผิวหนัง หรือแพ้อาหารและคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหอบหืด หรือภูมิแพ้ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด
• อาการของโรคหอบหืดพบได้ทั้งในทารก เด็กเล็ก และเด็กโต โดยเด็กที่เป็นโรคหอบหืดจะมีอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในแต่ละวัน และอายุของเด็ก ซึ่งอาการเหล่านั้นอาจจะลดลง หรือหายจากโรคได้เมื่อเด็กโตขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีอาการหอบหืด
โรคหอบหืดในเด็กมีอาการที่แตกต่างกันในแต่ละวัน บางวันเด็กอาจมีอาการที่รุนเเรง ในขณะที่บางวันเด็กอาจจะไม่มีอาการเลย หรือมีแต่น้อยมาก อาการของโรคหอบหืด มักมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นภายในบ้าน ตัวไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนสัตว์ และควันบุหรี่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้
• ไอมากตอนกลางคืน และเช้ามืด
• ไอนานหายยากกว่าปกติ และมักมีอาการแย่ลงเมื่อเป็นหวัด หลังจากวิ่งเล่น หรือออกกำลังกาย
• หายใจมีเสียงวี๊ด หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจแรง
หากพบความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษา เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของปอดได้
ยารักษาโรคหอบหืดประกอบด้วยยาอะไรบ้าง ?
1.ยาบรรเทาอาการ (Quick-acting relievers)
ยากลุ่มนี้เป็นยาขยายหลอดลมชนิดหนึ่งที่ระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้น แต่รวดเร็ว กลไกคือช่วยคลายกล้ามเนื้อรอบๆหลอดลมที่ตีบแคบ ทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น ตัวอย่างเช่น ซัลบูทามอล (salbutamol) เทอร์บูทาลีน (terbutaline) เป็นต้น เด็กที่เป็นโรคหอบหืดจะมีใช้เพื่อบรรเทาอาการจับหืดเท่านั้น เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวเป็นประจำต่อเนื่อง(ใช้โดยที่ไม่มีอาการจับหืด) ไม่ได้ให้ประโยชน์ในการควบคุมอาการของโรค อีกทั้งยังอาจเกิดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาได้
ส่วนกรณีที่เกิดอาการจับหืดบ่อยๆ จนทำให้ต้องใช้ยาพ่นขยายหลอดลมบ่อยๆหลายครั้ง ไม่ได้ทำให้เกิดการดื้อยาในภายหลัง ยาพ่นยังคงใช้ได้ผลเมื่อมีอาการ แต่ผู้ปกครองควรตรวจสอบวิธีการพ่นยาของเด็กว่าถูกต้องหรือไม่ หรือหากวิธีการพ่นถูกต้อง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการว่ามีความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อควบคุมอาการให้ดีขึ้น
อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้ นอกจากมีฤทธิ์ขยายหลอดลมที่ปอดแล้ว ยังมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรงขึ้น อาจทำให้เด็กบางคนที่ไวต่อยาชนิดนี้ มีอาการใจสั่น กระวนกระวายงอแงได้
2.ยาควบคุมอาการ (Long-term controllers)
ยากลุ่มนี้มีความสำคัญมาก เด็กที่มีอาการจับหืดทุกสัปดาห์ หรือในเวลากลางคืนมีการจับหืดตั้งแต่ 2 ครั้ง/เดือนเป็นต้นไป ซึ่งในทางการแพทย์จัดเป็นผู้ป่วยโรคหอบหืดชนิดเรื้อรัง มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการ ไม่ว่าจะมีอาการจับหืดหรือไม่ก็ตาม เพราะการอักเสบเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะที่ไม่มีอาการจับหืดให้เห็นเด่นชัด
ยาในกลุ่มนี้มีทั้งในรูปแบบยาพ่น ยาเม็ด และยาน้ำ โดยขนาดยาและชนิดของยาที่แพทย์สั่งใช้ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืด จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลำดับขั้นของการควบคุมอาการ
2.1.Inhaled glucocorticoids
การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ จะช่วยลดอาการอักเสบบวม และความไวของหลอดลมลง เป็นผลให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นเกิดขึ้นลดลง เป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคหอบหืดชนิดเรื้อรัง เนื่องจากพบว่าการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องมีผลลดความถี่ในการเกิดการจับหืด(ความจำเป็นในการใช้ยาขยายหลอดลมจึงลดลง) ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเกิดการจับหืดที่รุนแรงได้
อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นยาสูดพ่น ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้น้อยมากเมื่อเทียบกับยารับประทาน จึงเกิดผลข้างเคียงไม่มากนัก ที่พบได้บ่อยคือ เชื้อราในช่องปาก (thrush) เสียงแหบ เจ็บคอ กรณีใช้ยาขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจมีผลทำให้เด็กเจริญเติบโตช้าลงได้ แต่ร่างกายจะปรับอัตราการเจริญเติบโตเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในปีแรกของการใช้ยา
2.2.Leukotriene modifiers
ยาต้านตัวรับลิวโคไทรอีน เป็นยาที่ต้านการออกฤทธิ์ Leukotriene ซี่เป็นสารที่เม็ดเลือดขาวหลั่งออกมาในการเกิดภูมิแพ้อีกตัวหนึ่งนอกจาก histamine ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ montelukast (Singulair®) มีทั้งรูปแบบเม็ดเคี้ยว เม็ดกลืน และแกรนูล ซึ่งสามารถละลายน้ำทาน หรือจะผสมกับอาหารบางประเภทก็ได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง อาจใช้เป็นตัวเลือกกับยาพ่นสเตียรอยด์ในขนาดต่ำ ในเด็กที่เป็นโรคหอบหืดเรื้อรังชนิดไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม Leukotriene modifiers ไม่ได้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับยาพ่นสเตียรอยด์ จึงไม่นิยมใช้ยานี้เพียงอย่างเดียวในการควบคุมอาการ และมักให้เสริมร่วมกับยาพ่นสเตียรอยด์ ในเด็กที่มีอาการรุนแรงและ/หรือเด็กที่ควบคุมอาการได้ยาก นอกจากนี้ Leukotriene modifiers ยังสามารถนำมาใช้ป้องกันการจับหืดก่อนที่จะสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น ทานยาก่อนการออกกำลังกาย เป็นต้น
อาการข้างเคียงของยากลุ่มนี้ เนื่องจากพบว่าการใช้ยา montelukast อาจมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หากพบความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมหรืออารมณ์หลังเริ่มใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์
2.3.Long-acting bronchodilators (LABA)
ยากลุ่มนี้เป็นยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นาน(อย่างน้อย 12 ชม.) ได้แก่ ซัลเมเทอรอล (salmeterol) และ ฟอร์โมเทอรอล (formoterol) มักใช้ในเด็กที่มีอาการรุนแรงและ/ หรือเด็กที่ควบคุมอาการได้ยาก โดยการใช้ LABA จะเป็นรูปแบบผสมร่วมกับยาพ่นสเตียรอยด์เสมอ เนื่องจากพบว่าการใช้ LABA ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการจับหืดที่รุนแรงได้
รูปแบบยาพ่นที่ใช้
สำหรับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการนำส่งยามีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย
1.เครื่องพ่นยาแบบละออง (Nebulizer) ช่วยทำให้ตัวยากลายเป็นละอองฝอย ทำให้เด็กสูดละอองยาผ่านหน้ากากเข้าไปในปอดได้ แต่มีข้อควรระวังเรื่องหน้ากากที่ใช้จะต้องสวมพอดีกับใบหน้า เนื่องจากการเคลื่อนของหน้ากากเพียงแค่ 1 ซม.อาจทำให้ขนาดยาที่ได้ลดลงถึง 50% มักใช้ในเด็กเล็ก หรือเด็กที่ไม่สามารถใช้ยาพ่นแบบถือในมือเองได้
2.ยาสูดพ่นแบบพกพา การใช้ยารูปแบบดังกล่าว วิธีการพ่นยาที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจะช่วยทำให้ยาไปถึงปอดได้อย่างมีประสิทธิภาพการพิจารณาเลือกใช้ยาพ่นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการหายใจเพื่อสูดยาอย่างถูกวิธี และความร่วมมือที่ดีของผู้ป่วย สำหรับยาพ่นแบบพกพาของยากลุ่มนี้ มี 2 ชนิด
Metered-dose inhaler (MDI) กระบอกยาจะมีสเปรย์กระป๋องเล็กๆซึ่งตัวยาถูกบรรจุอยู่ภายใน ดังนั้น ก่อนพ่นยาจึงต้องเขย่าก่อนใช้เสมอ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ควรใช้ MDI ร่วมกับ spacer (กระบอกกักยา) เพื่อให้มั่นใจว่าตัวยาที่ออกมาถูกสูดเข้าปอด
Dry powder inhaler (DPI) ภายในกระบอกยาจะบรรจุตัวยาในรูปผงแห้ง จึงไม่จำเป็นต้องเขย่าก่อนใช้ยา เพียงแต่ต้องระวังเรื่องความชื้น และห้ามหายใจออกขณะที่กระบอกยาอยู่ในปาก ควรใช้ในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป
การรักษาโรคหอบหืด
การให้การรักษาขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง รวมทั้งอายุ ความรุนแรง และความถี่ในการจับหืด เด็กส่วนมากเมื่อได้รับการรักษาแล้วจะควบคุมอาการของโรคได้ ทำให้เด็กสามารถเล่นกีฬาและทำกิจกรรมอื่นๆได้อย่างเต็มที่
องค์ประกอบที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการรักษาโรค
1.ควบคุมและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อาการของโรคแย่ลง เช่น สารก่อภูมิแพ้ การติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ควันบุหรี่ เป็นต้น
2.ติดตามอาการของโรคและการทำงานของปอดอยู่เสมอ เช่น การทำบันทึกความถี่และความรุนแรงของอาการทุกครั้ง เมื่อเกิดอาการกำเริบ พบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ เป็นต้น
3.มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง
ทีมเภสัชกรโรงพยาบาล BNH
(Some images used under license from Shutterstock.com.)