
© 2017 Copyright - Haijai.com
Q : พ่อแม่สามารถจะฝึกความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูกได้อย่างไรบ้าง
A : ก่อนจะกล่าวถึงวิธีฝึกความคิดสร้างสรรค์คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาดูว่าความหมายของความคิดสร้างสรรค์มีลักษณะอย่างไรบ้าง โดยภาพรวมความคิดสร้างสรรค์ ในด้านปัญญาหมายถึง ความคิดที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร ความคิดหลากหลายรวดเร็ว มีความยืดหยุ่นกว้างขวาง และมีควาคิดละเอียดละอ่อน ส่วนด้านความรู้สึกนั้น ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ จะมีความอยากรู้อยากเห็น ใคร่รู้คำตอบทุกสิ่งที่สงสัยทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ นอกจากนี้มีความสามารถพิเศษการแยกแยะความจริงกับความฝัน เป็นผู้มีจินตนาการคือมีความสามารถในการสร้างภาพพจน์ และสานต่อความคิดให้สมบูรณ์ได้ มีความกล้าหาญที่จะเดา เต็มใจที่จะเสี่ยงโดยไม่กลัวความผิดพลาด ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากพฤติกรรมของเด็กที่ยึดมั่นอยู่กับความคิดของตน โดยไม่คำนึงว่าใครจะคิดว่ากระไร เด็กที่วางเป้าหมายไว้สูง และมีความปรารถนาอย่างรุนแรงและเต็มใจทดลองสิ่งต่างๆซึ่งยากเย็น แปลกใหม่ แม้จะมีคนไม่เห็นด้วย แต่ก็มีความพึงพอใจที่จะทำสิงที่ยุ่งยากซับซ้อนเหล่านั้น เด็กจะมีความสามารถในการตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ถึงสิ่งที่เขาสงสัย
ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจึงควรเป็นไปเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมที่เป็นข้อสังเกตที่ได้จากการสรุปงานวิจัยข้างต้น โดยทำกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
• ใช้ภาษาที่น่าฟัง กระตุ้นความคิด เมื่อพูดคุยกับเด็กเพื่อให้เด็กได้พัฒนาภาษา
• อ่านนิทานหรือเล่านิทาน เรื่องราว ให้เด็กฟัง เมื่อเด็กโตถึงขั้นจะอ่านเองก็ควรสนับสนุน ร่วมกับเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัย และความสนใจของเด็กชี้แนะให้สังเกตการใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆ
• เปิดโอกาสให้เด็กเล่าประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เพื่อให้เด็กได้รู้จักเรียบเรียงเรื่องราว และฝึกทักษะในการสื่อสารใหผู้อื่นเข้าใจ ทั้งนี้พ่อแม่ควรแสดงความสนใจในเรื่องที่เด็กพูดอย่างจริงใจ
• การดูโทรทัศน์ควรเลือกรายการและเวลาที่เหมาะสมไม่ควรปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์นานเกินไป
• เปิดโอกาสให้เด็กพบปะกับคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เด็กสนใจใฝ่รู้เป็นพิเศษ
• สนับสนุนการเข้าชมหรือร่วมงานแสดงด้านดนตรี ศิลปะ กีฬา และการไปทัศนศึกษา ทั้งแห่งธรรมชาติและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
• เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นเกมการศึกษา หรือการละเล่นตามประเพณีวัฒนธรรม ทั้งที่เด็กได้เรียนรู้จากในโรงเรียนและในสังคม
• ให้โอกาสเด็กได้มีเวลาอยู่ตามลำพังบ้าง และให้มีสถานที่ที่เด็กได้มีโอกาสพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือทำกิจกรรมที่เขาสนใจ้ป็นส่วนตัว
พ่อแม่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก เป็นผู้สร้างความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเขาเอง ทั้งเป็นผู้ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ การมีวินัย และการควบคุมตนเองตามกติกาของสังคมอย่างเหมาะสม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)