
© 2017 Copyright - Haijai.com
หยินหยาง สร้างสมดุลชีวิตด้วยศาสตร์แพทย์แผนจีน
หลายท่านคงทราบกันดีว่า สมดุลชีวิต ก็คือสุขภาพร่างกายแข็งแรงนั่นเอง อวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือที่ทางศาสตร์แพทย์แผนจีนเรียกกันว่า “หยินหยางสมดุล"
หยิน |
หยาง |
ความเย็น |
ความร้อน |
กลางคืน |
กลางวัน |
ด้านใน |
ด้านนอก |
ด้านล่าง |
ด้านบน |
ผู้หญิง |
ผู้ชาย |
หลับ |
ตื่น |
จิต |
กาย |
พลังชีวิต (ลมปราณ) |
เลือด |
สมดุลหยินหยาง สมดุลชีวิต
หยินหยางเป็นการสรุปของทุกปรากฏการณ์และสรรพสิ่งในธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์ตรงข้ามต่อกัน และเนื่องจากมนุษย์กำเนิดมาจากธรรมชาติ ร่างกายของมนุษย์เราจึงมีความเป็นหยินหยางเช่นกัน
หยินและหยางแม้จะมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามต่อกัน แต่ขาดกันไม่ได้ ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนขัดกันนี้ ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติขึ้น เช่น อากาศไม่ร้อนหรือเย็นเกินไปอุณหภูมิในร่างกายอยู่ที่ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น การดำรงอยู่ของหยินหยางจึงมีความสำคัญยิ่ง หากหยินหยางจากกันนั่นหมายถึงชีวิตดับสิ้น
แล้วจะทำอย่างไรให้หยินหยางสมดุลอวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำงานประสานกันได้ดี ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจคำว่าความเป็นองค์รวมของศาสตร์การแพทย์แผนจีนกันก่อน ซึ่งประกอบด้วย ความเป็นองค์รวมของร่างกาย ความเป็นเอกภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสังคม
ความเป็นองค์รวมของร่างกาย
การแพทย์แผนจีนมองว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกัน อวัยวะต่างๆ มีการทำงานที่เชื่อมสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยอาศัยเส้นลมปราณเป็นตัวเชื่อม เช่น ตามีเส้นลมปราณย่อยของตับเชื่อมต่อ การมองเห็นจำเป็นต้องพึ่งพาเลือดที่ตับมาหล่อเลี้ยง ตับจะทำงานได้ปกติต้องอาศัยการหายใจขึ้นลงเป็นจังหวะของปอด สารจำเป็นในไตจะแปรเปลี่ยนเป็นเลือดที่ตับ
ดังนั้นหากการทำงานของส่วนใดในร่างกายบกพร่อง ย่อมกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น หากสารจำเป็นในไตเหลือน้อย จะทำให้เลือดที่ตับน้อยลง และไปหล่อเลี้ยงที่ตาได้ไม่เพียงพอ ทำให้ตาพร่าตามัว จากตัวอย่างความสัมพันธ์นี้ การแพทย์แผนจีนได้แบ่งระบบการทำงานตามทฤษฎีอวัยวะภายในกับตัวอย่างการเชื่อมโยงภายในอวัยวะเป็น 5 ระบบหลัก ดังนี้
ระบบการทำงาน |
อวัยวะภายใน |
เนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ |
อารมณ์ |
รสชาติ |
สี |
ฤดูกาล |
ระบบหัวใจ |
หัวใจ ลำไส้เล็ก |
หลอดเลือด ลิ้น |
ดีใจ |
ขม |
แดง |
ฤดูร้อน |
ระบบตับ |
ตับ ถุงน้ำดี |
เส้นเอ็น เล็บ ตา |
โกรธ |
เปรี้ยว |
เขียว |
ใบไม้ผลิ |
ระบบม้าม |
ม้าม กระเพาะอาหาร |
กล้ามเนื้อ ปาก |
ครุ่นคิด |
หวาน |
เหลือง |
ปลายร้อนต้นฝน |
ระบบปอด |
ปอด ลำไส้ใหญ่ |
ผิวหนัง จมูก |
เศร้าใจ |
เผ็ด |
ขาว |
ใบไม้ร่วง |
ระบบไต |
ไต กระเพาะปัสสาวะ |
หู กระดูก ทวารหนัก |
ความกลัว |
เค็ม |
ดำ |
ฤดูหนาว |
จากตารางข้างต้น จะเห็นได้ว่า ความผิดปกติจากภายในสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากภายนอก เช่น หูอื้อ หูหนวกในผู้สูงอายุ มักบอกถึงการทำงานของไตอ่อนแอ ทางแพทย์จีนเรียกว่า ไตพร่อง ผู้ป่วยอาจมีปัสสาวะบ่อยขึ้น ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง ปวดเอว ปวดเข่า ซึ่งอาหารที่ช่วยบำรุงไตให้แข็งแรงจะเป็นอาหารประเภทสีดำ เช่น งาดำ ถั่วดำ ลูกหม่อน ข้าวหอมนิล เป็นต้น
สภาพจิตใจก็สัมพันธ์กับร่างกายด้วยเช่นกัน อารมณ์ที่มีมากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ความโกรธทำให้ตาแดง ดีใจมากจนหัวใจวาย ครุ่นคิดมากจนรับประทานอาหารไม่ลง ดังนั้น อารมณ์สามารถกระทบต่อการทำงานของระบบทั้งห้า สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ เราจึงควรควบคุมอารมณ์ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
ความเป็นเอกภาพระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสังคม
สภาพอากาศ ที่อยู่อาศัย ล้วนแล้วสัมพันธ์กับการทำงานของร่างกาย เช่น ร่างกายจะปรับตัวกับสภาพอากาศ อากาศร้อนเหงื่อออก อากาศหนาวต้องใส่เสื้อหนาขึ้น การเปลี่ยนแปลงของกลางวันกลางคืน ทำให้พลังหยางในร่างกายปรับเพิ่มและลดลง ส่งผลต่ออาการเจ็บ กลางวันพลังหยางเพิ่มขึ้น อาการป่วยทุเลา กลางคืนพลังหยางลดน้อยลง อาการป่วยกำเริบ สภาพแวดล้อมของที่พักอาศัยก็ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคได้ เช่น ภาคใต้อากาศร้อนและฝนตกชุก ง่ายต่อการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารและปวดเมื่อย
ความเป็นเอกภาพระหว่างมนุษย์กับสภาพสังคมที่เป็นอยู่ เช่น วัฒนธรรม สถานะทางสังคม สถานะการเงิน ศาสนา มนุษย์สัมพันธ์ ล้วนแล้วมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการทำงานของร่างกาย รวมถึงความเสี่ยงของโรค เช่น ผู้ที่มีสถานะทางสังคมหรือการเงินที่ค่อนข้างดี มักต้องใช้ความคิดมากกว่าใช้แรงงาน อาจรับประทานอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่มากเกินไป ขาดการออกกำลังกายที่พอเหมาะ ทำให้กล้ามเนื้อไม่กระชับ อวัยวะภายในอ่อนแอ เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
กลยุทธ์สร้างสมดุลชีวิต
การปรับสมดุลร่างกายให้อวัยวะต่างๆ ทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องรู้เขา รู้เรา กล่าวคือ รู้จักฟ้าดิน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ รู้จักเรื่องของมนุษย์ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และรู้จักตัวเองเพื่อทันต่อการป้องกันและรักษา จึงจะสามารถสยบโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามารังควานเราได้
การสร้างสมดุลชีวิตหรือการสร้างสมดุลหยินหยาง จึงจำเป็นที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายและสภาพจิตใจต้องแข็งแรง ซึ่งความแข็งแรงในที่นี้ แต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน ไม่มีการวัดค่าเชิงปริมาณ แต่สามารถตรวจจากการแสดงออกของสีหน้า ผิวกาย อารมณ์ การขับถ่าย การนอนหลับ ลักษณะลิ้น การเต้นของชีพจร อาการเจ็บป่วย ฯลฯ เช่น ผู้ที่ร่างกายหยินหยางสมดุล จะมีสภาพจิตดี สดชื่น สีหน้าอมชมพู แววตาสดใสมีประกาย ผิวกายชุ่มชื้นไม่แห้ง อารมณ์ดี ขับถ่ายทุกวัน นอนหลับสนิท สีลิ้นชมพู ฝ้าลิ้นบางขาว ชีพจรเต้นอย่างนุ่มนวล มีจังหวะสม่ำเสมอ ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของร่างกายทำให้เราเจ็บป่วย ได้แก่
• การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มากเกินไปหรือเฉียบพลัน เช่น อากาศหนาวมากทำให้ป่วยเป็นไข้หวัด หรือลมแรง ฝนตก ทำให้ผิวหนังขึ้นผื่นเป็นลมพิษ
• การแพร่ระบาดของโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่
• มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งที่มากเกินหรือน้อยเกิน เช่น โกรธง่าย ทำให้ตับทำงานผิดปกติ
• การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย ปริมาณอาหารมากหรือน้อยเกินไป ทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ หรือเลือกรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ชอบอาหารรสหวาน ทำให้ปวดกระดูกและผมร่วงง่าย เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน
• การทำงานตรากตรำ การใช้แรงงานมากเกินทำให้พังชีวิต (ลมปราณ) น้อยลง อวัยวะภายในอ่อนแอ การใช้ความคิดมากเกินไป ทำให้เลือดน้อยและไปเลี้ยงหัวใจได้น้อย ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ และยังทำให้ม้ามอ่อนแอ ท้องอืดง่าย เบื่ออาหาร
• การพักผ่อนมากเกินไป การใช้ความคิดและแรงกายน้อยเกิน ทำให้เลือดลมติดขัด อวัยวะภายในอ่อนแอเกิดอาการแน่นหน้าอก อาหารไม่ย่อย หลงลืมง่าย ฯลฯ
• การมีเพศสัมพันธ์มากเกินไปในบุรุษ หรือสตรีมีบุตรแต่วัยเยาว์ มีบุตรหลานคน ร่างกายสูญเสียพลังชีวิตมากเกิน ทำให้ไตอ่อนแอ มักปวดเมื่อยเอว ปวด เข่า เวียนศีรษะ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ฯลฯ
• อื่นๆ เช่น อุบัติเหตุ หนอนพยาธิ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา พันธุกรรม ฯลฯ
การแพทย์แผนจีนมองว่า การจะเกิดโรคได้ มี 2 สาเหตุหลัก คือ ภูมิต้านทานต่ำ กับ ปัจจัยการเกิดโรคมีมากเกิน ทั้ง 2 สาเหตุนี้ทำให้ร่างกายเสียสมดุลและเกิดการเจ็บป่วยขึ้น ดังนั้นการรักษาจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ร่างกายกลับมาสมดุล ซึ่งก็คือการเพิ่มภูมิต้านทานกับการขจัดปัจจัยที่เกิดโรคออกไป จึงทำให้การแพทย์แผนจีนจำเป็นต้องค้นหาต้นเหตุให้ได้ว่า ปัจจัยใดที่ทำให้เกิดโรค โดยต้องทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยตามหลักการแพทย์แผนจีน เช่น อาการป่วย สีหน้า เสียงพูด การดูลิ้น การจับชีพจร แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุที่ป่วย ตำแหน่งที่ป่วย หยินป่วย หรือหยางป่วย แล้วจึงใช้วิธีรักษาที่สอดคล้อง เช่น อาการท้องเสีย อาจเกิดจากอาหารที่รับประทาน หรือความเย็น ความร้อน ความชื้นที่มากเกินไป หรือม้าม ตับ ไต ทำงานผิดปกติ จะเห็นได้ว่าเมื่อมีสาเหตุการเกิดโรคที่ต่างกัน แม้จะเป็นโรคเดียวกัน การรักษาและการดูแลสุขภาพย่อมต้องมีความแตกต่างไปตามสาเหตุของโรค หากความเย็นมีมาก ก็ต้องขจัดความเย็นออก หากตับทำงานผิดปกติก็ต้องปรับการทำงานของตับ
สำหรับหลักการรักษาของแพทย์แผนจีน จะให้ความสำคัญกับการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ด้วยการเสริมภูมิต้านทานและปกป้องไม่ให้ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคเข้ามารบกวนรักษาความสมดุลของร่างกาย การป้องกันโรคจึงเป็นแนวทางดำเนินชีวิตสู่ความสมดุล มีวิธีปฏิบัติดังนี้
1.ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น การรับประทานอาหารที่เป็นธรรมชาติ พักผ่อนเป็นเวลา แต่งกายให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ
2.ดูแลสภาพจิต ทำจิตให้สงบ นั่งสมาธิ หรือฝึกชี่กง
3.ดูแลไตด้วยอาหาร สมุนไพร นวด หรือฝังเข็ม และไม่ควรมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป เพื่อชะลอการสูญเสียสารจำเป็นในการดำรงชีวิตของร่างกาย
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5.การใช้สมุนไพรป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้นๆ
6.สำหรับผู้ที่ป่วยแล้ว ควรรับการรักษาแต่เนิ่นๆ และควรป้องกัน ควบคุมไม่ให้โรคกระจายสู่ตำแหน่งอื่น
การสร้างสมดุลชีวิต วิธีการดูแลสุภาพให้แข็งแรงและยืนยาว สำหรับศาสตร์การแพทย์แผนจีน ได้ถูกค้นพบและมีการบันทึกศาสตร์ความรู้นี้มานานกว่าสองพันปี ปัจจุบันการแพทย์แผนจีนได้รับการยอมรับในหลายๆ ประเทศ เป็นหนึ่งการแพทย์หลักของประเทศจีน และเป็นอีกหนึ่งสาขาการแพทย์ทางเลือกในประเทศไทย
อาจารย์โสรัจ นิโรธสมาบัติ
แพทย์แผนจีน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)