Haijai.com


ล้มแล้วลุกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับเด็ก


 
เปิดอ่าน 2538

ตุ๊กตาล้มลุก

 

 

สมัยเป็นเด็ก เด็กๆ ชอบที่จะเห็นตุ๊กตาล้มลุก แม้แต่ตัวเขาเองที่อาจจะกลายเป็นตัวตุ๊กตาที่เล่นกันในครอบครัว เด็กๆ หัวเราะอย่างสนุกสนานที่เห็นตัวตุ๊กตาเอียงไปมาเหมือนล้มลงกับพื้น แล้วสามารถกลับมายืนตั้งตรงได้อีก โดนผลักล้มไปกี่ครั้งก็ยืนกลับมาได้ ในชีวิตจริงก็ต้องล้มกันหลายครั้งกว่าจะเดินหรือถีบจักรยานได้ด้วยตัวเอง แต่ตอนที่เดินล้มไม่มีใครหัวเราะได้ เพราะรู้สึกเจ็บ ความยากที่จะกลับมายืนได้อย่างตุ๊กตาล้มลุกทุกครั้งที่ล้ม จึงต้องการพลังใจที่จะผ่านความเจ็บปวดที่ได้รับจากการล้มแต่ละครั้ง

 

 

“อ้อม เด็กสาวอายุสิบหก อยู่กับลุงและป้าที่รับเลี้ยงอ้อมตั้งแต่หกเจ็ดขวบ เพราะพ่อกับแม่แยกทางกัน พ่อไปมีครอบครัวใหม่ แม่ไปทำงานต่างประเทศหาเงินเลี้ยงตัวเอง ส่งกลับมาให้ตายาย และส่งมาให้ลุงป้าที่ช่วยเลี้ยงดูอ้อม อ้อมโตมากับลูกของป้าอีกสองคนที่วัยไล่เลี่ยกัน มีบ้านอยู่ มีข้าวกิน ได้ไปโรงเรียน มีของใช้ส่วนตัวเท่าที่จะพอมีได้ตามฐานะที่ไม่ถึงกับยากจน แต่ไม่ได้มีเงินเหลือใช้

 

 

เมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่น พี่ชายลูกของป้าก็เริ่มไม่ค่อยไปโรงเรียน ลุงกับป้าทะเลาะกับพี่ชายเกือบทุกวัน ไม่นาน อ้อมก็ไม่ค่อยได้เจอพี่ เพราะย้ายออกไปอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่ในตัวจังหวัด ส่วนอ้อมกับลูกสาวป้าที่อายุเท่ากันเริ่มมีเรื่องน่าสนใจนอกชั้นเรียนและนอกโรงเรียน อ้อมคิดว่าเราคงได้พันธุกรรมเดียวกันมา คือไม่ฉลาด เรียนหนังสือไม่เก่ง การเรียนมัธยม เวลาอยู่ในห้องเรียนเหมือนอยู่ในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ มองไม่เห็นว่าจะไปขึ้นฝั่งตรงไหน สองคนเริ่มแอบหนีโรงเรียน บางครั้งแอบออกจากโรงเรียนไปด้วยกันบางครั้งต่างคนต่างมีกลุ่มเพื่อน ไปมั่วสุมอย่างที่ผู้ใหญ่เขาว่ากัน เวลาครูรายงานผู้ปกครอง ลุงป้าเรียกมาดุ ตัดเงิน แต่อ้อมกับลูกสาวป้าก็ยังสามารถออกไปหาเพื่อนได้ สำหรับเพื่อนการไม่มีเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่การได้แอบหนีมานั่งคุยกัน เล่นกัน รวมทั้งแบ่งบุหรี่ให้กันสูบ เป็นความรักที่ได้จากเพื่อนเสมอ”

 

 

เส้นทางเดินของอ้อมเพิ่งเริ่มต้น เด็กวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อตนเอง ที่พบได้บ่อยจะเป็นเรื่องบุหรี่ เหล้า หรือยาเสพติด รวมทั้งเรื่องเพศและบ่อยครั้งพฤติกรรมเสี่ยงมาพร้อมกันหลายพฤติกรรม การจัดการแบบมองทีละพฤติกรรมอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างความพยายามจัดการเรื่องหนีโรงเรียน โดยมิได้มองหาความเสี่ยงอื่นในตัวเด็ก ไม่สามารถกลับไปแก้ปัญหาที่สาเหตุได้

 

 

สำหรับครอบครัวการเติบโตของเด็กเป็นไปตามช่วงวัย การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น มาจากการดูแลตั้งแต่ช่วง 10-14 ปี ตั้งแต่ก่อนวัยรุ่นและเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยตอนต้น ช่วงเวลาสี่ปีนี้เป็นเวลาที่จะสามารถป้องกันปัญหาที่จะตามมาได้ง่าย กว่าการปล่อยให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงแล้วตามแก้ทีละปัญหา

 

 

จากงานศึกษาพบว่าครอบครัวที่สามารถป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงได้ ต้องสามารถทำความชัดเจนใน 4 เรื่องต่อไปนี้ได้

 

 การสื่อสารเรื่องความคาดหวังที่ชัดเจน เด็กทุกคนต้องการความรู้สึกว่าเขามีความสามารถและมีหนทางที่เขาจะพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ ถ้าคิดว่าบอกให้เด็กเรียนๆ ไปแล้วจะประสบความสำเร็จ เด็กอย่างอ้อมแทบมองไม่เห็นฝั่งความสำเร็จของตัวเอง แทนที่จะว่ายน้ำเข้าฝั่ง เด็กแบบนี้เลือกลอยคอไปเรื่อย เจออะไรผ่านเข้ามาก็คว้าเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า บุหรี่ หรือ เซ็กส์ ตอนนี้ต้องกลับมาดูกันใหม่ว่าพอจะกลับเข้าระบบการเรียนรู้ อะไรที่จะไปได้กับความสามารถที่มี และกังวลใจที่อยากจะเป็นอะไรในวันข้างหน้า

 

 

 การดูแลวินัยและความรับผิดชอบในตนเอง จะต้องฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเด็กด้วยบรรยากาศครอบครัวที่เด็กรับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่ง มีครอบครัว มีพ่อแม่ที่ยังใส่ใจ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน การฝึกวินัยด้วยฐานความรัก ทำให้เด็กมั่นคงว่าเขามีตัวตน อดทนต่อสิ่งที่ยั่วยวนใจ พยายามจะไปให้ถึงความหวังที่ตั้งใจไว้ บางครั้งอาจตามกลุ่ม เพื่อไปบ้าง แต่ถ้าถูกฝึกด้วยความมั่นคง มักจะหยุดตัวเองก่อนที่จะเกิดปัญหารุนแรง

 

 

 การใส่ใจอารมณ์ความรู้สึก ตลอดเส้นทางกว่าจะฝึกตัวเองให้รับผิดชอบ มีวินัยไปสู่เป้าหมาย เด็กจะผ่านเวลาล้มลุกคลุกคลาน ซึ่งมีคนที่สนใจความรู้สึกของเขารู้ว่าเขาเหงา ที่แม่ทิ้งเขาไว้กับลุงป้า รู้ว่าเขาพยายามแล้วเรื่องการเรียน แต่ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับเด็กแบบอ้อม

 

 

 การพูดคุย เด็กเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ต้องการการคุยกัน การอธิบาย การบอกเล่า การพูดจูงใจ การปลอบประโลมให้เห็นโอกาสและความภูมิใจในตนเอง ถ้าทำผิดพลาดก็ต้องการการชี้แนะ ช่วยให้ทางเลือกใหม่ๆ ที่จะกลับมาตั้งเป้าหมาย ลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อ

 

 

อีกแรงสำคัญที่ช่วยประคองเด็กแบบอ้อมให้ลุกลับมาเดินต่อได้ มาจากระบบของโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะผู้เรียนที่นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ ารให้ทักษะชีวิตกับเด็กตามช่วงวัยยังคงเป็นโปรแกรมที่มีงานศึกษายืนยันว่า ช่วยป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงในเด็กวัยรุ่นได้ดี และจะดียิ่งขึ้นถ้าโปรแกรมทักษะชีวิต มีการออกแบบให้เหมาะกับลักษณะของเด็กเป็นรายบุคคลด้วย การออกแบบหลักสูตรทักษะชีวิตในโรงเรียนมักไม่ได้รับความสนใจ มาจากข้อจำกัดเรื่องการเรียนการสอนที่อัดแน่น กลายเป็นว่าเด็กที่มีต้นทุนดี มาจากบ้านก็สามารถไปต่อได้ ส่วนเด็กที่มีความไม่พร้อมก็ถูกผลักให้เป็นเด็กที่มีปัญหาในระบบโรงเรียน และในที่สุดก็ออกไปจากระบบของโรงเรียน ไปเผชิญความเสี่ยงนอกรั้วบ้านรั้วโรงเรียนที่มีมากมาย ในวัยที่มีทักษะไม่พอที่จะคิดตัดสินใจได้

 

 

ล้มแล้วลุกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับเด็ก  เด็กที่ล้มก็เพราะต้นทุนในชีวิตไม่พอที่จะช่วยให้ยืนได้อยู่แล้ว โอกาสที่จะลุกก็ยากมากขึ้น ถ้ามีแต่เด็กที่ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น คาดการณ์ได้เลยว่าในสังคมจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย สังคมต้องช่วยทั้งครอบครัว และโรงเรียนที่ขาดความสามารถจะช่วยให้เด็กลุกขึ้น ให้สามารถเป็นตัวรับเด็กก่อนจะตกถึงพื้น และช่วยผลักกลับขึ้นมาให้เขายืนได้ ต่อไปถ้าเขาล้มอีก ประสบการณ์ที่เขาได้จากความสามารถด้านจิตใจที่เคยล้มแล้วลุก จะทำให้เขาล้มยากขึ้น หรือถึงล้มก็ลุกขึ้นได้โดยเร็ว

 

 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

(Some images used under license from Shutterstock.com.)