
© 2017 Copyright - Haijai.com
Fear in children ความกลัวในวัยเด็ก
เด็กกับความกลัวเป็นเรื่องที่คู่กัน เด็กจะกลัวในเรื่องที่จำฝังใจ เช่น กลัวความมืด กลัวแมลงสาบ กลัวไก่จิก กลัวผี กลัวคุณพ่อคุณแม่ไม่รัก กลัวไม่ได้ไปเที่ยวนอกบ้าน ฯลฯ ซึ่งความกลัวจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เพราะพอเด็กโตขึ้นและได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขากลัวนั้น เขาสามารถที่จะรับมือกับสิ่งที่กลัวได้อย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เด็กใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้ากลัวผี ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะรู้ว่าผีไม่มีอยู่จริง กลัวความมืด ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ถ้าไฟในบ้านเกิดดับขึ้นมา เป็นต้น ในขณะเดียวกันความกลัวที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะทำหน้าที่ปกป้องให้เด็กระมัดระวังเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่จะปลอดภัย และเป็นอันตรายกับตัวเขาได้บ้าง
เวลาที่มีสิ่งที่ทำให้กลัวอยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะเป็น ด้วยความรู้สึก หรือกำลังจะถูกกระทำ ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยการทำงานของระบบประสาท ที่เป็นระบบของเนื้อเยื่อพิเศษที่เกิดจากเซลล์ประสาท ทำให้ข้อความผ่านกระบวนการไปมาจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย และจะมีการหลั่งสารอะดรีนาลิน ที่เป็นฮอร์โมนสารเคมีที่มีผลกระทบต่อการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลิตโดยต่อมหมวกไตที่อยู่ด้านบนสุดของไต (เป็นสารเคมีของความเครียด ซึ่งเราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ)
ความกลัวในวัยเด็กที่พบมากที่สุด
• สัตว์ประหลาด
• ความมืด
• กลัวความสูง
• พายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง
• แมลง งู สุนัข
• การหลงทาง
• การสอบตกซ้ำชั้น
• กลัวหมอ กลัวเข็มฉีดยา
• กลัวว่าจะเสียพ่อแม่ไป
การช่วยเหลือเด็กให้เอาชนะความกลัว
• สอนวิธีเผชิญหน้ากับความกังวลใจ พ่อแม่สามารถสอนลูกถึงวิธีโต้ตอบเมื่อเขากังวลใจ เช่น ให้ลูกฟังเพลงเมื่อรู้สึกกลัว เพราะเสียงเพลงมีแนวโน้มทำให้เด็กสงบลง พ่อแม่อาจแสดงให้ลูกรู้จักวิธีดึงตนเองออกจากความกลัว สิ่งนี้เกี่ยวพันถึงกิจกรรมที่ใช้สมาธิ เช่น การนับเหรียญ การบอกชื่อเพื่อนๆ ในชั้นเรียน การระบุอาหารที่โปรดปราน เป็นต้น
• ค่อยๆ ขจัดปฏิกิริยาโต้ตอบ วิธีส่งเสริมลูกให้เผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ การค่อยๆ เปิดรับ ปล่อยให้ลูกกำหนดระยะ และไม่บังคับให้เขาทำสิ่งใดๆ โดยไม่สะดวกใจ เช่น เด็กที่กลัวสุนัขอาจเริ่มต้นโดยการอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนัข เมื่อเขารู้สึกสบายใจลองขั้นตอนต่อไปโดยดูหนังเกี่ยวกับสุนัข ขั้นต่อไปอาจมองสุนัขเพื่อนบ้านที่อยู่ในรั้ว จากนั้นมองพ่อแม่เล่นกับลูกสุนัข ขั้นตอนสุดท้ายคือ การสัมผัสหรือจับลูกสุนัขด้วยตนเองโดยมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ เมื่อเด็กรู้สึกอุ่นใจกับลูกสุนัข เขาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวใหญ่ขึ้นได้ไม่ยาก
• สอนให้ผ่อนคลาย การผ่อนคลายช่วยให้เด็กปลดปล่อยอารมณ์ที่เกิดจากความกังวลใจ มีเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวพันถึงการให้เด็กจินตนาการ หรือพัฒนาด้วยมโนภาพที่ผ่อยคลาย เช่น การเล่นนอกบ้าน การไปทะเล การไปเที่ยวสวนสนุก เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้จะดึงเด็กออกจากความรู้สึกกลัวได้เป็นอย่างดี สุดท้ายเขาก็จะลืมที่ที่กำลังกลัวอยู่
ความกลัวไม่ใช่เรื่องน่าอาย และไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เราในฐานะพ่อแม่ก็เคยผ่านเรื่องที่ทำให้กลัวจนสุดชีวิตมาแล้ว จนทำให้รู้วิธีที่จะรับมือกับความกลัวและสามารถจัดการกับความกลัวให้ออกไปจากใจ เด็กๆ ก็เหมือนกันเขาก็ต้องการวิธีที่จะจัดการกับความกลัว ฉะนั้นพ่อแม่จึงเป็นตัวช่วยที่ดีและสำคัญสำหรับลูก ที่จะสอนให้ลูกค่อยๆ ขจัดความกลัวออกไปให้ได้ ในเด็กบางคนอาจมีเรื่องฝังใจกับความกลัวที่ไม่อาจบอกใครได้ แต่คุณในฐานะพ่อแม่จะต้องรู้ให้ได้ว่าลูกกำลังกลัวอะไรอยู่ และช่วยดึงลูกออกมาจากความกลัวนั้นมาให้ได้ เพื่อที่ลูกจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเหมือนกับคนอื่นๆ การจัดการกับความกลัวในเด็กเล็ก พ่อแม่ต้องมีความอดทน ใจเย็น ที่จะช่วยลูกในการรับมือกับความกลัวอย่างมีสตินะคะ
แหล่งที่มา ต้นแบบเด็กดี เด็กเก่ง พ่อแม่สร้างได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)