
© 2017 Copyright - Haijai.com
เรียนรู้และเข้าใจเด็กสมาธิสั้น ตอนที่ 2
เด็กสมาธิสั้น หากคุณพ่อคุณแม่จะมองให้เป็นปัญหาใหญ่ก็เป็นได้ ในทางกลับกันหากจะมองว่าเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ หรือไม่เป็นปัญหาเลยก็ทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของแต่ละบุคคล แต่อย่าลืมนะคะว่า ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ดังนั้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นเด็กสมาธิสั้น ควรทำความเข้าใจกับอาการสมาธิสั้นเพื่อทราบถึงที่มาที่ไป และวิธีรับมือกับอาการสมาธิสั้นที่ถูกวิธี ทั้งปรับวิธีการดูแล และเพิ่มการฝึกฝนลูกให้มีสมาธิดีขึ้น สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น เรามาดูวิธีเลือกโรงเรียน และคำแนะนำจากนายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สำหรับคุณครูในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นกันค่ะ
การมองหาโรงเรียนให้ลูกสมาธิสั้น
เด็กสมาธิสั้นสามารถเรียนในโรงเรียนปกติทั่วไปได้ ไม่จำเป็นต้องแยกไปเข้าโรงเรียนพิเศษโดยเฉพาะ หรือไม่จำเป็นต้องแยกห้องพิเศษโดยเฉพาะ นอกจากจะมีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ออทิสติก หรือปัญหาความบกพร่องด้านสติปัญญา ในที่นี้จะพูดถึงในแง่มุมที่ว่า โรงเรียนที่เหมาะสมควรมีลักษณะเป็นอย่างไร หลักสำคัญในการมองหาโรงเรียนให้ลูก
• ควรเป็นโรงเรียนที่คุณครูมีความรู้ ความเข้าใจในโรคสมาธิสั้นดี
• ให้ความร่วมมือในแนวทางช่วยเหลือต่างๆ อย่างเต็มที่
• ไม่ปฏิเสธการดูแลรักษาในแนวทางที่ยอมรับในปัจจุบัน เคยพบว่าบางแห่งถึงกับบอกพ่อแม่ว่า ถ้าให้เด็กกินยาเพิ่มสมาธิก็ให้ย้ายไปเรียนที่อื่น
• สัดส่วนจำนวนเด็กต่อห้องเรียน มีความสำคัญมากเช่นกัน ห้องเรียนที่มีเด็กมากเกินไป ก็จะมีสิ่งเร้า สิ่งกระตุ้นตัวเด็กให้วอกแวกง่ายขึ้น ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนน้อยลง คุณครูก็จะไม่สามารถช่วยเหลือได้เต็มที่ เนื่องจากมีจำนวนเด็กที่ต้องดูแลมากเกินไป
• โรงเรียนที่มีพื้นที่สนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬาที่กว้างพอก็สามารถช่วยให้เด็กมีโอกาสเล่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬาได้เต็มที่ เลือกทำกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ช่วยลดการรบกวนเด็กคนอื่น หรือก่อความวุ่นวาย
บทบาทของครูกับการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น
เด็กสมาธิสั้นมักไม่ประสบผลสำเร็จเท่าความสามารถที่แท้จริงของเด็กในด้านการเรียน และมักมีผลกระทบทางจิตใจตามมา คือมองตนเองเป็นคนไม่ดี ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่มีความมั่นใจตนเอง รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ และอาจจะกลายเป็นเด็กเกเร ก้าวร้าวในที่สุด ถ้าไม่ได้รับการรักษาดูแล ช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ดังนั้นคุณครูถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก เพราะเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน และเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้สมาธิเต็มที่ด้วย สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กขณะอยู่ในห้องเรียน มีดังนี้
1.ตำแหน่งโต๊ะเรียนไม่ควรให้เด็กนั่งติดหน้าต่างหรือประตู เพราะเด็กจะวอกแวก เสียสมาธิง่าย ควรให้เด็กนั่งแถวหน้าสุดใกล้โต๊ะครู เพื่อคุณครูจะได้สามารถเตือน เรียกสมาธิเด็กได้ และควรจัดให้เด็กนั่งติดกับนักเรียนที่ไม่ค่อยเล่น ไม่ค่อยคุยในระหว่างเรียน
2.เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิจริงๆ ควรให้เด็กมีกิจกรรม เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เช่น ช่วงครึ่งหลังของคาบเรียน ควรอนุญาตให้เด็กลุกจากที่ได้บ้าง แต่ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ เช่น ให้ไปล้างหน้า มาช่วยคุณครูลบกระดาน หรือแจกสมุด เป็นต้น จะช่วยลดความเบื่อของเด็กลง และมีสมาธิเรียนได้นานขึ้น
3.ในกรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก สามารถใช้วิธีลดระยะการทำงานให้สั้นลง แต่ทำบ่อยกว่าคนอื่น โดยเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ และความสามารถในการทำงานให้สำเร็จ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาหลายครั้งและนานกว่า
4.เด็กมักควบคุมตัวเองได้ไม่ดี แม้ว่าจะพยายามแล้วก็ตาม เช่น ซุ่มซ่าม ทำของเสียหาย หุนหันพลันแล่น ไม่ควรลงโทษรุนแรง แต่ควรจะปราม เตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น เก็บของเข้าที่ใหม่ ชดใช้ของที่เสียหาย หรือลงโทษเมื่อทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
5.บรรยากาศที่เข้าใจ และเป็นกำลังใจจะช่วยให้เด็กพยายามปรับปรุงตัวเองมากขึ้น ควรให้ความสนใจ และชื่นชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี เช่น สนใจเรียนได้นาน ไม่รบกวนเพื่อน ช่วยงานครู พยายามทำงาน และเมื่อเด็กทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ควรใช้คำพูดปลอบใจ ท่าทีเห็นใจ แนะนำวิธีแก้ไข
6.ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเรียน ใช้คำอธิบายง่ายๆ สั้นๆ พอที่เด็กจะเข้าใจ และให้ความสนใจฟังได้เต็มที่ ซึ่งหากมีการสาธิตตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายกว่าคำพูดอธิบายอย่างเดียว
7.การสื่อสารกับเด็ก ควรสังเกตว่าเด็กอยู่ในภาวะที่พร้อม หรือมีสมาธิที่จะให้ความสนใจสิ่งที่คุณครูกำลังจะพูดอยู่หรือไม่ หากสนใจอยู่ก็สามารถพูดกับเด็กโดยใช้คำพูดที่กระชับ ได้ใจความชัดเจนได้ทันที หากเด็กกำลังอยู่ในช่วงเหม่อ วอกแวก หรือไม่ได้สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจเสียก่อนจึงสื่อกับเด็ก
ในบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียว เด็กอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม คุณครูควรเข้าไปหาเด็ก และใช้การกระทำร่วมด้วย เพื่อให้เด็กมีพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น เมื่อต้องการให้เด็กเข้ามาในห้องเรียน หากใช้วิธีเรียกประกอบการโอบ หรือจูงตัวเด็กให้เข้าห้องด้วย จะได้ผลดีกว่าเรียกเด็กอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการฝึกให้เด็กรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา
เทคนิคการสื่อสารกับลูกสมาธิสั้น
ลูกที่เป็นสมาธิสั้นมักจะไม่ค่อยสนใจฟังว่าจะให้ทำอะไรบ้าง จนไม่สามารถทำได้เสร็จหรือครบตามที่บอก และถูกลงโทษในที่สุด ปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กสมาธิสั้น ดังนั้นหลักในการพูดคุยสื่อสารกับลูกที่เป็นสมาธิสั้น ควรสังเกตว่าลูกอยู่ในภาวะที่พร้อม หรือมีสมาธิที่จะให้ความสนใจสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังจะพูดอยู่หรือไม่ ควรมีภาษาท่าทาง และการสัมผัสร่วมไปด้วยกับการพูดคุย เช่น การแตะไหล่ สัมผัสมือ เพื่อให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่เรากำลังพูดมากขึ้น แทนการบอกปากเปล่าอย่างเดียว ซึ่งลูกอาจตอบว่าครับ แต่ไม่รู้ว่าให้ทำอะไร เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง ถ้าไม่แน่ใจว่าลูกฟังสิ่งที่เราบอกหรือไม่ ให้เขาลองทบทวนให้ฟังอีกครั้งว่าเราบอกอะไร
• ควรพูดกับลูกโดยใช้คำพูดที่กระชับ ได้ใจความชัดเจน หากลูกกำลังเหม่อ วอกแวก หรือไม่สนใจ ควรเรียกหรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัว และหันมาสนใจเสียก่อน จึงค่อยพูดคุยกับเด็ก
• ในบางครั้งเพียงใช้การบอก เรียก หรืออธิบายอย่างเดียว ลูกอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม ควรเข้าไปหาลูกและใช้การกระทำร่วมด้วย เช่น จูงลูกให้ไปทำการบ้าน จะได้ผลดีกว่าเรียกอย่างเดียว ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการฝึกให้ลูกรับฟังและปฏิบัติตามผู้ใหญ่ได้ดีขึ้นในเวลาต่อมา
• ในกรณีที่มีหลายอย่างให้ลูกทำ ควรบอกทีละอย่าง ให้เสร็จทีละอย่าง แล้วค่อยบอกสิ่งที่จะให้ทำต่อไป อย่าบอกทีเดียวหลายๆ อย่าง เพราะลูกอาจฟังได้ไม่ครบและไม่ได้ทำในที่สุด ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ควรมีการเข้าไปติดตาม คอยแนะนำและให้กำลังใจเป็นระยะ แต่ไม่ใช่เข้าไปจับผิด
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อสารกับลูกที่เป็นสมาธิสั้นได้ถูกวิธี ลูกก็จะสามารถทำตามสิ่งที่บอกได้มากขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งลงได้มาก ไม่ทำให้หงุดหงิด รำคาญใจ สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อยากให้คุณพ่อคุณแม่คิดไว้ก่อนเสมอว่า การที่ลูกไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราบอก อาจเป็นเพราะเขาไม่มีสมาธิฟังสิ่งที่เราบอก จึงไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ดังนั้นควรมาปรับเปลี่ยนที่วิธีการสื่อสารกับลูกก่อน ก่อนที่จะไปตำหนิเขานะครับ
นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)