Haijai.com


PHOBIA ฉันกลัวตุ๊กตา


 
เปิดอ่าน 2752

PHOBIA ฉันกลัวตุ๊กตา

 

 

ผมได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรในรายการสัมภาษณ์สดทางทีวีช่องหนึ่ง เพื่อพูดคุยถึงเรื่องความกลัวแบบรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผล ที่เรียกกันว่า โฟเบีย (Phobia)

 

 

มีผู้ชมโทรศัพท์เข้ามาในรายการเล่าว่า เธอแต่งงานแล้ว แต่มีความกลัวตุ๊กตารุนแรงมาก (กลัวตุ๊กตานะครับ...ไม่ใช่ตุ๊กแก) ทุกครั้งที่เห็นตุ๊กตาจะรู้สึกกลัวจนทนไม่ได้แทบจะเป็นลม ต้องหาทางหนี เธอเคยถูกเพื่อนเอาตุ๊กตามาหลอกตอนเด็กๆ พร้อมทำเสียงดังๆ น่ากลัว หลายๆ ครั้ง เธอเลยกลัวมากตั้งแต่นั้นมา ฟังดูแล้วเธอน่าจะมีความกลัวเข้าข่าย Phobia ชนิดหนึ่ง มารู้จักโรค Phobia กันสักนิดนะครับ

 

 

Phobia เป็นอาการผิดปกติทางจิตที่มีความกลัวที่รุนแรง กลัวในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เกิดซ้ำๆ ไม่สามารถระงับความกลัวได้ ผู้ป่วยพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัวจนทำให้เกิดผลเสียในการดำเนินชีวิตประจำวัน บางคนหันไปใช้เหล้าหรือยาเพื่อให้ใจสบายขึ้น จนติดเหล้าติดยาก็มี สิ่งที่กลัวนั้นอาจะเป็นวัตถุ กิจกรรม หรือสัญลักษณ์บางอย่างก็ได้ เช่น ศาลพระภูมิ พระ การกินข้าวต่อหน้าคนอื่น หรือกลัวที่กว้างๆ ฯลฯ ความกลัวชนิดนี้ผู้ป่วยมักมีความวิตกกังวลมาก บางครั้งเข้าข่าย panic คล้ายจะเป็นลม ใกล้ตาย หรือใกล้บ้า และมีความทุกข์มาก ชนิดของ Phobia ที่พบบ่อยๆ มี 4 อย่างคือ

 

 

1.กลัวที่โล่งแจ้งสาธารณะ (Agoraphobia) เป็นความกลัวที่กลางแจ้งสาธารณะ ทำให้ไม่กล้าออกไปนอกบ้าน ไม่สามารถไปขึ้นรถเมล์ ไม่กล้าเดินทาง เพรากลัวจะเกิดอันตราย ส่วนมากจะเก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่ออกไปไหน เวลานอนก็ไม่กล้านอนคนเดียว ต้องมีคนอยู่เป็นเพื่อน แรกๆ ก็มีคนเห็นใจ ต่อมาญาติมักไม่ชอบเพราะรำคาญผู้ป่วย

 

 

2.กลัวความเจ็บป่วย (Illness Phobia) เป็นความกลัวการเป็นโรคต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็น เช่น กลัวว่าตนจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเอดส์ ฯลฯ และต้องไปหาหมอตรวจอยู่เป็นประจำ แม้แพทย์จะบอกว่าไม่เป็นอะไรก็ไม่เชื่อ มีความกังวลมาก บางครั้งรู้สึกว่าใกล้ตาย กลัวการนอนหลับแล้วตายไปเลย ไม่กล้าอยู่คนเดียวและไม่กล้านอนหลับก็มี

 

 

ทั้งข้อ 1 และ 2 นี้เป็นพวกที่อาการหนัก ผู้ป่วยมีความทุกข์มาก ญาติพี่น้องเห็นใจแต่รำคาญ ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมตามปกติของชีวิตได้ พบได้ทุกสถานภาพทั้งจนและรวย มักมีประวัติคนในครอบครัวมีความเจ็บป่วยทางจิตร่วมด้วย ตอนเป็นเด็กๆ ผู้ป่วยอาจจะมีความวิตกกังวลมาก เคยปัสสาวะรดที่นอนหรือนอนละเมอน่ากลัว ฝันร้ายร่วมด้วย

 

 

บางครั้งผู้ป่วยมีอาการ panic รู้สึกเหมือนคนใกล้จะตายหรือใกล้เป็นบ้า จู่ๆ ก็มีอาการหายใจไม่ออก จุกคอหอย หัวใจเต้นเร็วและแรง กังวลมาก เมื่อไปพบแพทย์ตรวจร่างกายแล้วมักเป็นปกติดี ผู้ป่วยหลายคนหันไปพึ่งแอลกอฮอล์หรือใช้ยากล่อมประสาท เพราะเบื่อหน่ายชีวิตหรือซึมเศร้า

 

 

3.กลัวกิจกรรมสังคม (Social Phobia) เช่น การพูด กิน เขียนต่อหน้าคนอื่น บางคนเซ็นชื่อต่อหน้าคนอื่นไม่ได้ ประชุมร่วมกับคนอื่นไม่ได้ มักมีความรู้สึกเขินอาย กลัวเกินปกติธรรมดา มีความกังวลมาก แต่น้อยกว่า 2 ข้อแรก จากประวัติมักมีครอบครัวแตกแยกหรือพ่อแม่เข้มงวดมาก

 

 

4.กลัวเฉพาะบางสิ่งบางอย่าง (Specific Phobia) เช่น กลัวสัตว์ สิ่งของ เหตการณ์บางอย่างมากๆ เช่น กิ้งกือ แมลงสาบ เข็ม (กลัวความเจ็บปวด) ความสูง ที่แคบ กลัวการขึ้นลิฟต์ กลัวคนแปลกหน้า ฯลฯ พวกนี้มักมีความกังวลน้อยกว่า 3 ข้อแรก หลายๆ รายมาหาจิตแพทย์เพราะมีความทุกข์ แต่ส่วนมากมักจะหลีกเลี่ยง เพราะอายหรือไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคทางจิตหรือเปล่า

 

 

น่าเห็นใจผู้ป่วยที่ทุกข์มาก แม้ญาติพี่น้องจะเห็นใจแต่ก็รำคาญ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีความคิดซ้ำๆ ย้ำคิด ระมัดระวัง รอบคอบมาก มักเป็นคนใฝ่หาความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) ขาดความมั่นใจ ชอบระแวงสงสัย มองหาข้อขาดตกบกพร่องของตัวเองได้เก่ง เกรงกลัวต่อบาป

 

 

ส่วนสาเหตุมีทั้งจากทางด้านจิตวิทยาในระดับจิตใต้สำนึก หรือสาเหตุทางพฤติกรรมการปรับตัวเพื่อการเรียนรู้ไม่เหมาะสม ในกรณีนี้สามารถรักษาได้ทั้งโดยการทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น

 

 

 

คนเรามีความกลัว (Fear) กันทั้งนั้น คือกลัวในสิ่งที่ควรกลัว เช่น เสือ โจร การทำร้าย ฯลฯ ถือเป็นความปกติทางจิต แต่การกลัวแบบ Phobia นี้เป็นความผิดปกติทางจิต เข้าข่ายโรคประสาท ควรจะรักษาเสีย ถ้าปล่อยไว้อาจแยกตัว แยกความคิด แยกสังคมมากขึ้น กลายเป็นโรคจิตหรือโรคซึมเศร้า ติดยาติดเหล้าหนักขึ้นไปอีก อย่ากลัวตัวเองและกลัวการรักษาโรคเลย เพราะนั่นเป็นความกลัวที่น่ากลัวมากกว่า

 

 

ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)